ผักตบชวา กับประเทศไทย 4.0

ผักตบชวา กับประเทศไทย 4.0

หากจะหาตัวอย่างคลาสสิก ที่สะท้อนถึงปัญหาของบ้านเมืองเราที่ยังติด “กับดัก” กับระบบการทำงานราชการ

อันเป็นอุปสรรคของการสร้างชาติบ้านเมือง ไปสู่ความเจริญก้าวหน้าที่แท้จริงได้คงจะเป็นกรณี “ผักตบชวา”

ข่าวหนังสือพิมพ์ในไทยโพสต์วันก่อน อ้างคำพูดของคุณพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีมีการแชร์ภาพผู้ขับขี่เรือสปีดโบทไปติดผักตบชวาที่เต็มแม่น้ำท่าจีนว่า

 เรื่องผักตบชวากลายเป็นปัญหาเรื้อรังเพราะมีหลายหน่วยงานเกินไปที่รับผิดชอบ สตง. ได้มีข้อสังเกตไปแล้วให้หน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งการไป ให้ระดับรองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ที่กำกับดูแล

กรมเจ้าท่า

กรมชลประทาน

กรมโยธาธิการ และผังเมือง

กรมทรัพยากรน้ำ

กรุงเทพมหานคร

ไปแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนทุกลำน้ำโดยที่ สตง. ได้เสนอนายกฯว่าเห็นควรตั้งงบหน่วยงานเดียว อย่าตั้งเป็นเบี้ยหัวแตก รับเงินกันทุกหน่วยงาน แต่เวลาทำเต็มที่หรือไม่ไม่มีใครรู้ และเวลามีผักตบชวา ก็ปัดให้หน่วยงานอื่นทั้ง ๆ ที่ก็จ่ายเงินให้ทุกหน่วยงาน

ผู้ว่าฯ สตง. บอกว่างบประมาณสำหรับกำจัดผักตบชวาต่อปีตกประมาณ 500 ล้านบาท หากมี “เจ้าภาพ” ชัดเจน หน่วยงานที่ตรวจติดตามการใช้จ่ายเงินก็จะทำได้ง่ายขึ้น โดยกระทรวงใดต้องการร่วมกำจัดผักตบชวาก็เอาผลงานมาเสนอแล้วจึงเบิกงบได้

เราได้เสนอไปว่าตั้งงบหน่วยเดียว ใครช่วยทำมาเบิกเอาผลงานแลกเงินจะได้ไม่โทษกันไปมา ใช้เป็นช่องทางปัดความรับผิดชอบ” ผู้ว่า สตง. กล่าว

ความเห็นของผู้ว่าฯ สตง. ไปถึงไหนหรือไม่อย่างไรไม่ทราบ แต่ที่ค่อนข้างแน่นอนคือกรณี “ผักตบชวา” เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในระบบราชการของไทยที่ทำให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของการปฏิบัติหน้าที่

มือซ้ายไม่รู้ว่ามือขวาทำอะไรอยู่

ปัญหาที่เห็นต่อหน้าต่อตาคือผักตบชวา คำถามแรกคือปัญหาคืออะไร? คำถามที่สองคือใครรับผิดชอบ?

ความรู้สึกแรกของหน่วยราชการคือ “ไม่ใช่หน้าที่ฉัน เป็นความรับผิดชอบของอีกหน่วยงานหนึ่งแน่นอน”

ชาวบ้านที่เผชิญกับปัญหาผักตบชวาจะไปถามใคร? ก็ต้องถามหน่วยราชการใกล้ตัวที่สุด ซึ่งก็ต้องเดาเอาเองว่าหน่วยงานไหนน่าจะมีคำตอบ เมื่อผักตบชวาเกิดในแม่น้ำ ก็ต้องถามหน่วยงานที่เกี่ยวกับน้ำเช่นกรมชลฯ หรือกรมเจ้าท่าหรือกรมทรัพยากรน้ำ

แต่เมื่อชาวบ้านไม่สามารถจะเข้าถึงหน่วยงานเหล่านี้ได้ ก็อาจจะถามไปที่เขตใกล้บ้าน หรือ อบต. หรืออาจจะถ่ายรูปและเขียนข้อความขึ้น social media เพื่อถามหาผู้ที่ควรจะแก้ไขปัญหา

เมื่อไม่มี “เจ้าภาพ” แน่นอน และเมื่อนายกฯได้รับคำร้องเรียน ก็สั่งไปถึงรองนายกฯและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ไปดูแลปัญหานี้

พอมีคำสั่งจากผู้ใหญ่ หน่วยงานต่าง ๆ ก็เสนอของบประมาณ “กำจัดผักตบชวา” กันเป็นการใหญ่ แต่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าใครทำอะไรไปถึงไหน ไม่มีการประเมินว่าผลจากการใช้งบประมาณนั้นวัดความสำเร็จกันอย่างไร

เผลอ ๆ หากดันผักตบชวาออกจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้ หน่วยงานหนึ่งก็อาจจะประกาศความสำเร็จ แต่กลายเป็นปัญหาของอีกจุดหนึ่งและอีกหน่วยงานไปได้หน้าตาเฉย

ลงท้ายก็ใช้เงินภาษีประชาชนประมาณปีละ 500 ล้านบาท แต่ผักตบชวาก็ยังอยู่เต็มลำน้ำอยู่อย่างนั้น

เพราะไม่มีใครประเมินผลงานของใคร

ตรงกับคำเปรียบเปรยที่ว่า “เมื่อเรื่องนี้เป็นของทุกคนก็กลายเป็นไม่ใช่เรื่องของใครเลย”

อย่าบอกว่าต้องใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาผักตบชวานะครับ

และ “ผักตบชวา” จะเป็นส่วนไหนของแผนให้เราบรรลุเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ครับ?