ตลาดยุโรป.. Fool me again?

ตลาดยุโรป.. Fool me again?

ณ นาทีนี้ กูรูแทบทุกสำนักต่างลงมติ เป็นเสียงเกือบจะเดียวกันว่า ตลาดหุ้นที่น่าสนใจ ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ได้แก่ ตลาดหุ้นยุโรป

 ก่อนอื่นขอแอบบอกว่าผมเองน่าจะถือเป็นคนแรกๆในช่วงไตรมาส 2 ที่มองว่าตลาดยุโรปนั้นน่าสนใจ คำถามคือตลาดหุ้นยุโรปถือเป็นตลาดที่ทำให้นักวิเคราะห์ ต้องเสียฟอร์มอยู่หลายครั้งหลายคราที่ออกมาฟันธงว่ามาแน่ ทว่าเอาเข้าจริง ก็มาแบบไม่เต็มเสียที แล้วมาถึงงวดนี้ จะมาจริงๆหรือไม่นั้น ผมขอประเมินว่าน่าจะไม่ทำให้ผิดหวังด้วยเหตุผล ดังนี้

หนึ่ง หากจะถามว่า ในขณะนี้ ธนาคารกลางใดในประเทศหลักๆ ที่มีอิสระมากที่สุดในการเลือกว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อ หรือเลือกจะหยุดผ่อนคลาย แม้แต่จะเริ่มเปลี่ยนโหมดมาทำให้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นก็ตาม คำตอบต้องเป็นธนาคารกลางยุโรปแบบไม่ต้องสงสัย เนื่องจากนายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป เปิดออปชั่นไว้ทั้งสามแบบทุกครั้งที่แสดงท่าทีต่อตลาดและสาธารณชน จึงทำให้ในแง่ของสภาพแวดล้อมทางนโยบายการเงินของยุโรปในปี 2017 ได้เปรียบกว่าภูมิภาคอื่นเป็นอย่างมาก ซึ่งตรงนี้ ถือเป็นการขีดdownside risk ของยุโรป จากเหตุการณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นการที่ทรัมป์ดำเนินนโยบายผิดพลาดหรือธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยเร็วหรือช้าเกินไป ให้มีขนาดที่น้อยกว่าภูมิภาคอื่นอยู่เยอะ เนื่องจากตัวช่วยของธนาคารกลางยุโรปดังกล่าวคอยเติมช่วยตลอด

สอง ระดับของดัชนีตลาดหุ้นยุโรปถือว่าน่าสนใจ โดยหากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างดัชนี S&P500 กับ ดัชนี MSCI EAFE ซึ่งประกอบด้วยหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วนอกอเมริกาและแคนาดา จำนวน 21 ประเทศ ซึ่งยุโรปมีสัดส่วนน้ำหนักในดัชนีดังกล่าวราว 70% ปรากฏว่าในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ดัชนี S&P500 มีผลตอบแทนรวมอยู่ที่ 215% และอยู่ในระดับที่สูงกว่าในช่วงปี 2007 ประมาณ 50% นั้น ดัชนี MSCI EAFE ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา มีผลตอบแทน 97% อีกทั้งดัชนียังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในช่วงปี 2007 อยู่ 20% นอกจากนี้ ระดับของ P/E ของตลาดหุ้นยุโรปยังต่ำกว่าของตลาดสหรัฐ โดยอยู่ที่ราว 15 เท่านิดๆ ในขณะที่ของตลาดสหรัฐอยู่ที่ 18 เท่า ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมา P/E ของตลาดสหรัฐจะสูงกว่าของตลาดยุโรปโดยเฉลี่ยประมาณ 1.5 เท่า

ทั้งนี้ ที่หลายฝ่ายมองว่าตลาดยุโรป ณ นาทีนี้ น่าจะถึงเวลาที่จะรุ่งเสียที หลังจากรับบทพระรองจากตลาดสหรัฐอยู่นานเกือบ 10 ปี เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรก ปี 2017 ผลตอบแทนของดัชนี MSCI EAFE อยู่ที่ 7.4% ในขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี S&P500 อยู่ที่ 6% นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีที่ผลตอบแทนของดัชนีหุ้นสหรัฐเป็นรอง ความจริงแล้วก่อนเกิดวิกฤตซับไพร์ม ดัชนีหุ้นยุโรปก็เคยให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นสหรัฐ โดยระหว่างปี 2002-2007 ผลตอบแทนของดัชนี MSCI EAFE สูงกว่าดัชนี S&P500 กว่า 80% เพิ่งมาช่วงหลังๆ ที่ตลาดหุ้นสหรัฐพลิกกลับมามีผลตอบแทนนำหน้าตลาดยุโรป นอกจากนี้ ในปีนี้ กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของตลาดยุโรปยังมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐ โดยอัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทในดัชนี MSCI EAFE อยู่ราว 18-19% สูงกว่าอัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทในดัชนี S&P500 ที่ 10%

นอกจากนี้ ดัชนีหุ้นยุโรปยังไม่พึ่งพาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมากเหมือนตลาดหุ้นสหรัฐ ทว่าตลาดยุโรปเน้นพึ่งพาหุ้นกลุ่มธนาคารกว่า 20% ซึ่งการที่รัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ผ่อนคลายกฎหมาย Dodd Frank Bill ทำให้หุ้นแบงก์ในตลาดหุ้นยุโรปยิ่งดูชัวร์กว่าหุ้นแบงก์ในตลาดสหรัฐ หากมองไปในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า

สาม ความเสี่ยงทางการเมืองของยุโรปถือว่าเลยจุดสูงสุดไปแล้วสำหรับในช่วง 1-2 ปีนี้ แม้จะมีการเลือกตั้งของผู้นำอังกฤษในเดือนหน้ารออยู่ก็ตาม โดยฝรั่งเศสที่ถือว่าเป็นสมรภูมิสำคัญที่สุดของกระแสประชานิยม โดยเมื่อนางแมรีน เลอ เปง ไม่มา ความเสี่ยงทางการเมืองฝั่งยุโรปก็ถือว่าผ่านจุดที่เป็นความเลวร้ายที่สุดไปเรียบร้อยเช่นกัน

ผมคิดว่า ในปี 2017 ตลาดยุโรปน่าจะไม่ทำให้พวกเราผิดหวัง เหมือนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยต่างๆที่เข้าทางภูมิภาคนี้ดังที่กล่าวไว้