พุทธศาสนากับการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0

พุทธศาสนากับการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0

ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 นับเป็นกระแสที่ได้รับการกล่าวถึง และวิเคราะห์ในแง่มุมต่าง ๆ

 อย่างมากมาย ทั้งนี้คงเนื่องมาจากเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาล ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

เมื่อมองถึงพัฒนาการของสังคมไทย ผ่านความเป็นประเทศไทย 1.0 2.0 และ 3.0 ซึ่งถูกกำหนดแนวทางการพัฒนาด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2504 จะพบว่า แม้ว่าในบางช่วงของแผนจะประสบความสำเร็จในการพัฒนา เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในแผนฉบับแรก ๆ และการสร้างความเจริญเติบโต และรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพในแผนฉบับที่ 6-7

แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการพัฒนาสังคมไทย ก็คือ การพัฒนาคนให้มีศักยภาพในการที่จะพัฒนาประเทศ จะเห็นได้ว่า ในแผนฉบับที่ 8 เป็นต้นมา จะเน้นการพัฒนาที่มุ่งให้ คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” และใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาคนให้มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งการพัฒนาที่บูรณาการแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เมื่อพิจารณาในแง่มุมของพระพุทธศาสนาในฐานะสถาบันหลักหนึ่งในสังคมไทย ที่ได้เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาสังคมไทย ก็จะพบว่า ในอดีตพระพุทธศาสนาประสบความสำเร็จในการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับสังคมไทย จนคนไทยมีลักษณะนิสัยที่เด่นชัด คือ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบสนุกและชอบทำบุญ ซึ่งนับเป็นความวิเศษอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ที่สามารถบูรณาการความสนุกกับแนวคิดทางพระพุทธศาสนาในเรื่องบุญเข้าด้วยกัน ดังปรากฏในประเพณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบวชนาค งานแต่งงาน งานวันสงกรานต์ เป็นต้น

ต่อมา เมื่อสังคมไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งการพัฒนาที่เน้นวัตถุตามแบบอย่างตะวันตก พระพุทธศาสนาก็เริ่มสูญเสียบทบาทที่มีต่อการพัฒนาประเทศอย่างที่เคยเป็นมา เนื่องจากสังคมไทยไปต้อนรับวัฒนธรรมตะวันตก สังคมไทยเริ่มมีปัญหามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการรับเอาความเจริญก้าวหน้าแบบตะวันตกเข้ามา ทั้งนี้เพราะสังคมไทยไม่ได้มีภูมิหลังและรากฐานความเจริญทางสังคมอุตสาหกรรม และไม่มีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมแบบตะวันตก ทำให้สังคมไทยมีสภาพที่นักวิชาการเรียกว่า ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา-modernization without development" คือการที่ประเทศไทยมีความทันสมัยจริงแต่ภายนอก แต่ในเนื้อหาแล้วไม่ได้พัฒนาให้เกิดขึ้นในสังคมของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา การเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน ได้วิเคราะห์ไว้ว่า การที่สังคมไทยได้รับเอาความเจริญแบบตะวันตกเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ระบบอุตสาหกรรม ทำให้สังคมไทยรับเอาความเจริญตามแบบอย่างตะวันตกอย่างเต็มที่ แต่การรับเอาวัฒนธรรมดังกล่าวนั้น ไม่สอดคล้องกับภูมิหลังของสังคมไทย เพราะคนไทยมักจะรับในเข้ามาในแง่ของการเสพบริโภค หรือรับเอาแต่สิ่งที่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกสบาย ทำให้คนไทยที่แต่เดิมมีวัฒนธรรมแบบเกษตรกรรม และมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายอยู่แล้ว กลับเสพติดความสบายจากวัฒนธรรมตะวันตกมากยิ่งขึ้นและกลายเป็นคนมักง่ายมากยิ่งขึ้น โดยขาดพื้นฐานของวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่เป็นวัฒนธรรมแห่งการใฝ่รู้และสู้สิ่งยาก

นอกจากนี้แล้ว ลักษณะเดิมของสังคมไทยที่มีวัตถุพรั่งพร้อม (ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว) ไม่มีความบีบรัดทางเศรษฐกิจ มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย เพราะมีวัตถุเสพบริโภคที่พรั่งพร้อมที่จะบำรุงบำเรอร่างกาย ลักษณะเช่นนี้ไปกันได้ด้วยดีกับการรับเอาเทคโนโลยีจากต่างชาติ ที่เข้ามาพร้อมกับกระแสบริโภคนิยม และสอดคล้องกับกระแสความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ในสังคมไทยที่มีมาแต่เดิม เกิดเป็นวัฒนธรรมเทคโนโลยีผสานไสยศาสตร์ คือ การพึ่งพาสิ่งภายนอก โดยที่ไม่ต้องลงมือทำการ สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่รอผลดลบันดาล พึ่งพาอำนาจภายนอกต่าง ๆ สังคมไทยจึงตกอยู่ในสภาพความอ่อนแอ ขาดความเข้มแข็งที่จะไปพัฒนาประเทศ

กระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศภายใต้ “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์รัฐบาลนั้น สาระสำคัญที่สุด ย่อมอยู่ที่การพัฒนาคนให้มีศักยภาพหรือคุณภาพในการที่จะไปพัฒนาในภาคส่วนต่าง ๆ ให้เป็นไปตามนโยบายที่วางไว้นั่นเอง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ในฐานะนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ได้นำเสนอไว้ว่า ถ้ามองจากปัญหาสังคมไทย ที่ขาดวัฒนธรรมอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ตามแบบอย่างตะวันตก สิ่งที่ต้องดำเนินการด่วน ก็คือ จะต้องสร้างคนไทยให้มีวัฒนธรรมของความใฝ่รู้ สู้สิ่งยากขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป โดยการสร้างจิตใจของนักผลิตและนักสร้างสรรค์ขึ้นมา

นั่นก็คือการสร้างคนไทยให้มีจิตใจวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ อันเป็นลักษณะของความใฝ่รู้ รักความจริง ชอบเหตุผลนิยมปัญญา ชอบค้นคว้า แสวงหาสืบสาว ตรวจสอบ และการทดลองจนค้นพบความจริง และจิตใจของนักเทคโนโลยีที่ใฝ่สร้างสรรค์ และจิตใจแห่งนักอุตสาหกรรมที่เพียรบากบั่นสู้สิ่งยาก

นอกจากจะต้องหันมาสร้างวัฒนธรรมแห่งความใฝ่รู้สู้สิ่งยากแล้ว ท่านยังเห็นว่า คนไทยยังจะต้องมีวัฒนธรรมแห่งการมองกว้าง คิดไกล และใฝ่รู้ อีกด้วย นั่นก็คือ คนไทยจะต้องไม่มองเห็นเฉพาะประโยชน์ของตัวเอง ของพวกพ้อง หรือมองเห็นเฉพาะประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น แต่จะต้องมองให้กว้างออกไปในสังคม โลก และธรรมชาติ ซึ่งมิได้จำกัดขอบเขตอยู่กับเพียงสังคมใดสังคมหนึ่ง และจะต้องมองในลักษณะของการสร้างสรรค์วัฒนธรรมอีกด้วย นั่นคือ การที่จะสร้างสรรค์ได้จะต้องมีความใฝ่รู้ในสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ

สิ่งที่สังคมไทยจะต้องดำเนินการอีกประการหนึ่งก็คือ การรักษาวัฒนธรรมแห่งเมตตาให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ได้แก่ การรักษาความมีน้ำใจ ความรัก ความปรารถนาดี การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันต่างๆ ตลอดจนการนับถือกันเป็นพี่น้อง เป็นต้น อันเป็นพื้นเพภูมิหลังของสังคมไทยมาแต่เดิม

ในขณะเดียวกัน สังคมไทยก็จะต้องพัฒนาวัฒนธรรมในการแสวงปัญญา คือ ความใฝ่รู้ เข้าถึงความจริง และการคิดหาทางแก้ไขปัญหาในสิ่งต่างๆ เพื่อที่จะสามารถดำรงสังคมอยู่ได้ในโลกแห่งการแข่งขันในปัจจุบัน

การที่คนไทยจะก้าวไปสู่ทิศทางที่กำหนดไว้ได้นั้น ท่านเห็นว่า “คนไทยจะต้องมีปัญญาที่เข้มแข็ง จะมองเรื่องอะไรต้องมองให้ชัด จะศึกษาอะไรต้องให้รู้เข้าใจชัด โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนของเรา จะต้องให้เขาพัฒนาตัวขึ้นมาชนิดที่ได้ปัญญาที่แท้ ไม่ใช่อยู่แค่สักแต่ว่าความโก้ แต่จะต้องกระจ่าง แจ่มแจ้ง เรียนรู้อะไรต้องชัดเจน ให้เกิดปัญญาที่แท้จริง แล้วเราก็จะมาช่วยแก้ปัญหาสร้างสรรค์สังคมได้จริง สังคมก็จะเดินหน้าไปได้”

การพัฒนาสังคมไทยที่จะก้าวไปสู่การเป็น ประเทศไทย 4.0 “ เพื่อพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพเพื่อก้าวไปสู่การแข่งขันกับนานาชาติ หรือการที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในเวทีโลก จึงจำเป็นที่จะต้องนำเอาหลักธรรมและแนวคิดทางพระพุทธศาสนามาปรับใช้ อย่างน้อยก็จะต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ โดยหันมาเน้นในการสร้างวัฒนธรรมแห่งความใฝ่รู้และสู้สิ่งที่ยาก ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ด้วยการศึกษาหรือพัฒนาคนให้มีคุณภาพและศักยภาพนั่นเอง

.................................................

ผศ.ธนภณ สมหวัง

สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม