เสี่ยงไหมกับตลาดทุน ในช่วงเกาหลีเหนือร้อนระอุ

เสี่ยงไหมกับตลาดทุน ในช่วงเกาหลีเหนือร้อนระอุ

เสี่ยงไหมกับตลาดทุน ในช่วงเกาหลีเหนือร้อนระอุ

ความเสี่ยงแรงๆ ในตลาดเงินเอเชียช่วงนี้มีคงไม่มีอะไรเกินปัญหาระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐที่ยังมีความร้อนแรง ทุกฝ่ายต้องลุ้นตาไม่กะพริบว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ

ช่วงนี้การทดลองนิวเคลียร์และการยั่วยุทางการทหารของคิม จองอึนน่ากลัวกว่าปกติ “Tail Risk” (เหตุการณ์ที่โอกาสเกิดต่ำ แต่ผลกระทบรุนแรง) อย่างการ “เกิดสงคราม” มีโอกาสเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตลาดไม่มีความเข้าใจว่าปัจจัยใดที่ส่งผลให้เกาหลีเหนือตัดสินใจยั่วยุประเทศอื่น หรือแหย่แค่ไหนสหรัฐถึงจะเปิดฉากบุก แถมด้วยพฤติกรรมผู้นำของทั้งคิม จองอึนและโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เข้าขั้นคาดเดาไม่ได้ ยิ่งทำให้ทุกอย่างน่ากลัวไม่ต่างกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงเป็นแบบ “unknown unknowns” หรือไม่รู้ว่าไม่รู้อะไรบ้างกันเลยทีเดียว

แม้ตลาดทุนไทยจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงแต่เชื่อว่าทุกคนคงรู้สึกได้ถึง “แรงกดดัน” ที่แผ่มาทั่วเอเชียยากที่จะไม่ให้ความสนใจกับความเสี่ยงนี้ ขณะเดียวกันจะให้ขายหนีความเสี่ยงทั้งหมดทั้งที่โอกาสการเกิดสงครามมีเพียงเล็กน้อย ก็อาจไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุดเช่นกัน

ประเด็นสำคัญอยู่ที่เราควรทำความเข้าใจกับการตอบสนองของตลาดต่อและเตรียมรับมือ มากกว่าแค่ลุ้นว่าสงครามจะเกิดหรือไม่ครับ

ย้อนอดีตกลับไปกับปัญหาคาบสมุทรเกาหลีในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โสมแดงมีการทดลองนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2006 ถึงล่าสุดในปี 2016 และการแสดงแสนยานุภาพทางการทหารในเชิงยั่วยุทุกปี ผมเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปัญหาที่เกาะยองพยองปี 2002 โดยเทียบราคาของสินทรัพย์ทางการเงินไทยช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ ถ้าความเสี่ยงจากเกาหลีส่งผ่านมาถึงไทย เราก็ควรพบการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์เสี่ยงในไทยที่มีแนวโน้มปิดรับความเสี่ยงด้วย (Risk-off)

โดยสรุปพบว่าตลาดมองเกาหลีเหนือเป็นความเสี่ยง ราคาทองมักปรับตัวสูงขึ้นราว 1% ภายในช่วง 10 วันหลังมีปัญหา ขณะที่ตลาดเงินหุ้นและบอนด์ตอบสนองความเสี่ยงนี้แบบ “Short Life Event” ปรับตัวลงก่อนและฟื้นกลับมาได้ภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งเดือน

และถ้าเราแบ่งเหตุการณ์ทดลองนิวเคลียร์กับการแสดงความก้าวร้าวออกจากกันผลก็น่าสนใจครับ

การทดลองนิวเคลียร์แม้จะดูมีความเสี่ยงสูงกว่าแต่หุ้นไทยกลับเป็นสินทรัพย์ที่ฟื้นตัวเร็วที่สุด แม้จะตกทันที 3-4%ในการทดลอง 2 ครั้งล่าสุด ที่เกาหลีเหนือพัฒนานิวเคลียร์จนมีพลังการทำลายล้างระดับ 15-20 กิโลตันและสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์กับขีปนาวุธข้ามทวีปได้ แต่โดยเฉลี่ยตลาดจะกลับมายืนเท่ากับระดับเดิมได้ในช่วงหนึ่งเดือนหลังเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้และเงินบาทที่ปรับตัวลงตามความเสี่ยงประเทศแถบเอเชียที่สูงขึ้นไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วในกรณีนี้

ในส่วนของการยั่วยุอื่นๆ แม้จะดูมีความเสี่ยงบ้างแต่โดยรวมตลาดไทยมักไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบครับ ทั้งเงินบาท หุ้น และบอนด์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ มีเพียงทองคำเท่านั้นที่ปรับตัวขึ้นได้โดยเฉลี่ยถึง 1.2% เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการยั่วยุทางการทหาร

รู้อย่างนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนน่าจะเริ่มเบาใจ เข้าใจตลาด และสามารถรับมือกับความเสี่ยงเกาหลีเหนือได้ดีขึ้นนะครับ

ต่อจากนี้ที่ต้องระวังคือหลัง 9 พ.ค.ที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เพราะเกาหลีเหนือมักยั่วยุเพื่อประเมินปฏิกิริยาตอบโต้ของประเทศเพื่อนบ้านเสมอ ยิ่งในครั้งนี้ประธานาธิบดีคนใหม่ต้องตัดสินใจหลายอย่างไม่ใช่แค่นโยบายการต่างประเทศกับเพื่อนโสมแดง แต่ต้องตัดสินใจด้วยว่าจะยอมให้สหรัฐเข้ามาติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธที่สร้างความไม่พอใจให้ทั้งคนในประเทศและจีนด้วยหรือไม่

และแม้ต่อจากนี้ไปจะมีการแซงชันเกาหลีเหนือต่อ ด้วยเศรษฐกิจที่ไม่อิงการค้าระหว่างประเทศโสมแดงจะทนต่อได้ นั่นก็หมายความว่าความเสี่ยงในคาบสมุทรเกาหลีจะยังคงอยู่จนกว่าการพัฒนานิวเคลียร์จะหยุดลงไม่ว่าจะด้วยตัวเองหรือจากน้ำมือของต่างชาติ

ในยุคของคิม จองอึนกับโดนัลด์ ทรัมป์ ชาวเอเชียต้องหาที่หลบภัยให้ดีนะครับ