ธุรกิจอสังหาฯ รุกหา'น่านน้ำใหม่'

ธุรกิจอสังหาฯ  รุกหา'น่านน้ำใหม่'

ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้จะเป็นอย่างไร

 ล่าสุดศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สรุปภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในช่วง “ไตรมาสแรก” ของปีนี้ พบว่า จำนวนโครงการเปิดใหม่อยู่ที่ 85 โครงการ 24,103 หน่วย ลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวนโครงการเปิดขายใหม่ถึง 113 โครงการ 24,839 หน่วย

สะท้อนภาวะตลาดอสังหาฯในไตรมาสแรกที่ยังคง “ชะลอตัว” ต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ที่ผู้ประกอบการอสังหาฯไม่ผลีผลามเปิดตัวโครงการ ยกเว้นบางโครงการที่มั่นใจในศักยภาพของทำเล เป็นไปเพื่อสร้าง “ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น" และ "สร้างความเคลื่อนไหวราคาหุ้น" โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทส่วนใหญ่ที่เปิดตัวโครงการในไตรมาสแรก (สัดส่วน 77.8%) จำนวน 50 โครงการ 18,854 หน่วย เพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 

สวนทางกับบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ รายกลาง-รายเล็ก ที่ชะลอเปิดตัวโครงการในรายที่สายป่านไม่ยาวพอ ยังประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จากการที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อทั้งกับผู้ประกอบการและผู้กู้ซื้อบ้าน ทำให้บ้านขายได้แต่โอนไม่ได้ โดยเฉพาะบ้านในระดับราคา 2-5 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกสถาบันการเงินปฏิเสธให้สินเชื่อสูงสุด จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในสัดส่วนสูง เหล่านี้ล้วนบ่งบอกถึง “กำลังซื้อ” ของคนส่วนใหญ่ในสังคม ที่ยังไม่กลับมา ตามภาวะเศรษฐกิจที่คนทั่วไปยังแทบ“ไม่รู้สึก”ว่าดีขึ้น

ทางแก้ของเหล่านักพัฒนาอสังหาฯ คือการเฮโลหนีการทำตลาดกลางล่างไปสู่น่านน้ำที่ยังพอมีปลาให้จับ ด้วยการปรับพอร์ตการลงทุนสู่ “ตลาดพรีเมี่ยม” ที่ยังมีกำลังซื้อ แต่อาจอยู่ในภาวะชะงักงันจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งนักพัฒนาอสังหาฯมีหน้าที่สร้างแรงจูงใจ อาทิ อัดโปรโมชั่นแรง เพื่อเร่งการตัดสินใจซื้อ พร้อมไปกับการบริหารความเสี่ยงด้วยจับ “ทุกตลาด” แทนการเน้นตลาดใดตลาดหนึ่ง รวมถึงการรุกสู่อสังหาฯประเภทผสมผสาน (Mix-used) นอกจากนี้ยัง “ฉีกแนว” ไปสร้างรายได้จากธุรกิจอสังหาฯที่ทำรายได้ประจำ หรือ Recurring Income เพื่อลดความแปรปรวนจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ขึ้นลงเร็ว ยากจะคาดการณ์ 

ที่น่าจับตาคือการรุกธุรกิจ“บริการสุขภาพ” (Wellness) และ “ธุรกิจโรงพยาบาล” ธุรกิจมาแรงรับประเทศไทย เดินสู่ “สังคมสูงวัย” (Aging Society) ธุรกิจดังกล่าว ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่เมื่อป่วยก็ต้องได้รับการรักษา และการดูแลตัวเอง ป้องกันก่อนเกิดโรค ไทยยังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางธุรกิจนี้ในอาเซียน จากค่าบริการที่จูงใจเมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์ และมาเลเซีย 

ขณะที่รายได้จากธุรกิจนี้โตต่อเนื่อง ตามการมาถึงของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงเห็นการขยับตัวของกลุ่มทุนใหญ่ทั้งในธุรกิจอสังหาฯ ที่หันมารุกธุรกิจโรงพยาบาล ร่วมถึงทุนใหญ่ในธุรกิจโรงพยาบาลเองที่ขยายธุรกิจสู่ศูนย์บริการสุขภาพหลายราย เช่นเดียวกับอภิมหาเศรษฐกิจไทย ที่มีไม่กี่ตระกูล ที่แสดงความสนใจที่จะโดดสู่ธุรกิจนี้ ซึ่งจากนี้จะเห็นผู้เล่นหน้าใหม่-ทุนหนา ทยอยแสดงตัว ชิงเค้กก้อนใหญ่ มูลค่ากว่าแสนล้านบาท อีกจุดเปลี่ยนธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจผันผวน