ขงเบ้งกับเล่าปี่ ในประเทศไทย 4.0

ขงเบ้งกับเล่าปี่ ในประเทศไทย 4.0

ผมเจอใครทุกวันนี้จะชวนคุยเรื่อง “คำถามของอนาคต” สำหรับคนไทยเพื่อร่วมกันถกแถลงหาทางออก

ให้กับคนรุ่นต่อไป ต้องการเห็นประเทศไทยสร้างศักยภาพให้แข่งขันกับโลกให้ได้ในเร็ววัน

พอได้คุยกับคุณเฉลิมพล ปุณโณทกที่สร้าง หุ่นยนต์ดินสอ พันธุ์ไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นและสวีเดนวันก่อนผ่าน Suthichai Live ผมก็เห็นภาพจากคนไทยที่อยู่ในภาคสนามของการต่อสู้ทางด้านนวัตกรรมในเวทีโลก

ผมถามว่าเขามอง Thailand 4.0 กับก้าวย่างของประเทศชาติจากนี้ไปอย่างไร

“พอเราประกาศ Thailand 4.0 ก็เหมือนเราไปทำสงครามนวัตกรรมระดับโลกครับ เราต้องทำในนวัตกรรมที่เราต้องเลือก ในการทำสงครามนั้นแม่ทัพต้องบอกว่าจะไปสนามรบไหนบ้าง ตอนนี้แม่ทัพบอกให้ไปตั้ง 10 สนามรบ...และไม่ได้บอกว่าจะใช้อาวุธอะไร อาวุธพอไหมและจะไปใช้กับตรงไหนก่อน”

บางครั้งกระทรวงหนึ่งก็ตีความเป้าหมายไปทางหนึ่ง อีกกระทรวงหนึ่งก็ตีความเรื่องเดียวกันไปอีกทางหนึ่ง

“สิ่งที่เอกชนจะต้องทำก็คือเราต้องเรียงร้อยให้ภาครัฐ เช่นบอกให้บีโอไอมาช่วยเอกชนด้านไหน สวทช. ซึ่งมีนักวิจัยเยอะแยะจะมาช่วยทางด้านไหน กรมส่งเสริมการส่งออกจะมาสนับสนุนทางด้านไหน...”

คุณเฉลิมพลบอกว่า การจะบรรลุเป้าหมายต้องไม่ทำแบบ ลูบหน้าปะจมูก ต้องเหมือนเกาหลีมีซัมซุง อเมริกามีแอ๊ปเปิ้ล เยอรมนีมีเมอร์เซเดส เบนซ์ จีนมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดมาเป็นดอกเห็ดเช่นเสี่ยวมี่ มีอาลีบาบาเป็นต้น

“เราจึงต้องเอานวัตกรรมมาสร้างแบรนด์ของเราที่ขายให้ชาวโลกได้... ถ้าเราจะบรรลุเป้าหมายอย่างนั้นก็ต้องมีกรอบความคิดใหม่ ต้องกล้าคิด ต้องเป็นผู้นำ ในเรื่องที่เราเลือกว่าจะเป็นเลิศ อย่างผมเลือกจะเป็นผู้นำทางด้านหุ่นยนต์ผู้สูงอายุ ผมก็ดูทั้งโลกเลยว่าจะมีโอกาสไปเจาะตลาดอย่างไร...”

เจ้าของหุ่นยนต์พันธุ์ไทยบอกว่า เราต้องคิดนอกกรอบเดิม ที่จะคิดแค่เป็นผู้ซื้อมาใช้ หรือแค่เป็นผู้แทนจำหน่ายไม่พอแล้ว เราต้องสร้างสิ่งใหม่เอง...”

คนไทยวันนี้พร้อมแค่ไหน?

“สิ่งที่เราไม่พร้อมมีอยู่สองข้อ หนึ่งคือหน่วยงานทัพหลวงที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไปลุยยังไม่พอ ส่วนเรื่องเอกชนของคนที่ไปลุย เรายังขาดเล่าปี่ ผมหมายถึงคนที่สามารถประกอบคนเก่งทั้งหลายมารวมตัวกัน นั่นก็คือต้องระดมบรรดาขงเบ้งหลายๆ คนมารวมตัวกันให้เกิดพลัง...ในบริษัทผมมีดอกเตอร์ประมาณ 30 คน ล้วนแล้วแต่เป็นขงเบ้งทั้งนั้น...”

สิ่งที่ไทยแลนด์ 4.0 ขาดคือ “เล่าปี่” หรือคนที่จะเป็นผู้ระดมสร้าง SMEs ที่จะสามารถแข่งขันในอนาคตขึ้นมา

ณ วันนี้เอกชนเป็นผู้รุกไปข้างนอกบ้าน จึงต้องเป็นผู้นำแนวคิดใหม่ๆ ระดับโลกมาบอกกล่าวกับเจ้าหน้าที่รัฐให้เข้าใจว่าทิศทางควรจะไปทางไหน

อีกทั้งระบบการศึกษาของไทยก็ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้นคนที่สถาบันการศึกษาผลิตออกมาแต่ละปีก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมไทยและของโลกอีกต่อไป

ผมบอกคุณเฉลิมพลว่าแนวโน้มของโลกคือเอกชนและนักคิดนักประดิษฐ์เป็นทัพหน้าของการสร้างประเทศแล้ว ไม่ใช่รัฐบาลหรือนักการเมืองอีกต่อไป

ยุคสมัยที่รัฐมนตรีเรียกเอกชนไปพบเพื่อ “รับนโยบาย” เรื่องนั้นเรื่องนี้น่าจะล้าสมัยมากแล้ว

“ใช่ครับ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เอกชนควรจะรวมตัวกันเพื่อนำเสนอให้พรรคการเมืองทั้งหลาย ได้รับรู้ว่านโยบายของท่านควรจะไปทางไหน...”

นี่คือสัจธรรมของสังคมยุคพยายามจะไปถึง 4.0 จริงๆ