ความสะเทือนใจกับชาวบ้านแพะใต้ (1)

ความสะเทือนใจกับชาวบ้านแพะใต้ (1)

ผมได้ไปร่วมงาน “ฮ้องขวัญ” ลุงสุแก้ว ฟุงฟู (​อายุ 57 ปี ) ลุงพิภพ หารุคำจา (​อายุ 60 ปี ) ป้าคำ ซางเลง (​อายุ 56 ปี ) หน้าคุกจังหวัดลำพูน

 ทั้งสามท่านต้องโทษในคดีบุกรุกที่ดินบ้านแพะใต้ ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ที่ดินที่ถูกกล่าวหาว่า “บุกรุก” นั้นเดิมเป็นที่ดินสาธารณะ แต่ถูกกลุ่มทุนใช้จังหวะของโครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2533 โดยเข้าครอบครองและสามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ แต่ก็ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ชาวบ้านจึงเห็นว่าควรจะยึดคืนมาเป็นสมบัติของชุมชนเพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่กลุ่มนายทุนก็สามารถใช้ช่องโหว่ของระบอบทรัพย์สินในประเทศไทยฟ้องร้องเอาผิดชาวบ้าน

ต่อมาตรวจสอบพบว่าที่ดินส่วนใหญได้มาอย่างไม่ถูกต้อง รัฐบาลหลายรัฐบาลจึงได้พยายามแก้ไขปัญหา ด้วยการจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เพื่อเข้ามาจัดการปัญหานี้ ซึ่งต่อก็สามารถแก้ไขคดีหลังๆได้หมด ยกเว้นคดีแรกของลุงสุแก้วและพวกอีกสิบคน ซึ่งเป็นช่วงแรกๆของการดำเนินการไกล่เกลี่ย ระหว่างสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) กับเจ้าของที่ดิน

ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินเป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่ตระหนักกันดีอยู่แล้ว แต่ไม่เคยมีใครต่อสู้อย่างจริงจังในเรื่องนี้ การปลอมเอกสารสิทธิ์ที่เรียกกันว่า “สค.บิน” ( เอกสารออกในอีกทีหนึ่งแค่มาใช้อ้างในอีกทีหนึ่ง​) “สค.บวม” ( เอกสารมีจำนวนที่ดินไม่มาก แต่มาขยายตัวออกอย่างกว้างขวาง ) เป็นเรื่องที่ชาวบ้านแพะใต้รับรู้และเจ็บปวดจนต้องลุกขึ้นมาแสดงสิทธิชุมชนเพื่อความยุติธรรม

ผมและเพื่อนรู้สึกเสทือนใจอย่างมากในการเข้าเยี่ยมก่อนหน้านี้ และยิ่งรู้สึกมากขึ้นอีกในวัน “ ฮ้องขวัญ” เพราะเรารู้สึกว่าการที่พี่น้องชาวบ้านยอมติดคุกเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการยอม “เสียสละ” ตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่สังคมจะได้มีโอกาสเห็นความอยุติธรรมขณะเดียวกันการยอม “ เสียสละ ” ส่วนตัวนี้ยังส่งผลให้ชุมชนจะได้รับความยุติธรรมมากขึ้น

การ “ เสียสละ” เสรีภาพและอิสรภาพของชาวบ้าน/คนตัวเล็กตัวน้อยเป็นการยินยอม “เสียสละ” ส่วนที่เป็นของตัวเองเพื่อที่จะทำให้เกิดสิ่งที่สำคัญกว่านี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากครับ

ต้องสารภาพว่าผมและเพื่อนอีกหลายคนต้องเดินหลบออกจากพื้นที่ “ ฮ้องขวัญ” เพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้คนเห็นรื้นน้ำตาที่คลอเบ้า ก่อนที่จะกลับมาร่วมพิธีด้วยความพยายามสกดกั้นความรู้สึกสะเทือนใจ

ในตอนนั้น ช่วงแรกของความรู้สึก ผมไม่สามารถทำให้ตัวเองเข้าใจได้ว่าอารมณ์ความรู้สึกผมคืออะไร แต่เมื่อกลับเข้ามาในพื้นที่พิธีกรรม และได้มองเห็นหน้าของผู้คนจำนวนมากที่ร่วมงานกันอยู่ จึงเริ่มทำความเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมเป็นอารมณ์ “ความสะเทือนใจ”

ความรู้สึกสะเทือนใจเป็นความรู้สึกของมนุษย์ซึ่งดูเผินๆ เหมือนเป็นลักษณะสากล เพราะมนุษย์ในสังคมใด สมัยใด ก็ล้วนแต่มีความรู้สึกสะเทือนใจทั้งสิ้น แต่ที่จริงแล้วความรู้สึกสะเทือนใจนี้เป็นวัฒนธรรมเพราะมีความแตกต่างกันไป ซึ่งความแตกต่างนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบทที่ซับซ้อนด้วย ซึ่งผมอยากจะบอกว่าความสะเทือนใจเป็นวัฒนธรรม

ถ้ามีโลกทัศน์แบบพุทธศาสนาในสมัยจารีตซึ่งเชื่อในเรื่องของกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดในไตรภูมิ ก็จะอธิบายปัญหาหรือปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดแก่มนุษย์ในโลกปัจจุบันว่าในแง่ที่เป็นผลมาจากกรรมเก่า ถ้าหากพบว่าทาสถูกนายเงินโทษอย่างแรงโดยปราศจากความผิด ก็อาจไม่รู้สึกสะเทือนใจเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากคิดว่าเป็นกรรมเก่า ในชาติก่อนทาสคนนั้นเคยทำให้คนอื่นเดือดร้อนมาแล้วกรรมจึงตามสนองในชาตินี้

การที่เราเกิดความรู้สึกสะเทือนใจการที่เราเกิดความรู้สึกสะเทือนใจต่อความไม่เป็นธรรมที่คนหนึ่งคนใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดได้รับ มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการเปลี่ยนแปลงของโลกทัศน์ ระบบคุณค่า และความหมายของความจริง ความดี ความงาม ความถูกต้อง ความยุติธรรม ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเกี่ยวกับมนุษย์

เรารู้สึกเสทือนใจอย่างรุนแรงมากขึ้น หากเราพบเห็นคนผู้ซึ่งยอม “เสียสละ” ตนเองเพื่อให้ก่อเกิดสิ่งที่สำคัญกว่ายิ่งใหญ่กว่าและงดงามกว่าขึ้นมาในสังคม

เรารู้สึกสะเทือนใจต่อความไม่เป็นธรรมที่มนุษย์คนหนึ่งได้รับและเสทือนใจต่อการ “ เสียสละ” เพื่อสร้างสรรค์ความเป็นธรรม ก็เพราะเราไม่ได้คิดว่ามนุษย์เป็นองค์ประกอบของขันธ์ 5 แต่เราคิดว่ามนุษย์มีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มีจิตใจ มีความรู้สึกนึกคิด สามารถเจ็บปวดทางร่างกายและทางจิตใจ ขณะเดียวกันเราก็คิดว่าเขาเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน

ความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่ในทุกสังคมหรือในทุกยุคทุกสมัย แต่มีรากฐานอยู่บนวัฒนธรรมทางความคิด เพราะแม้แต่ความคิดว่าเช่นใดถือว่าเป็นธรรมและเช่นใดถือว่าไม่เป็นธรรม ก็ขึ้นอยู่กับทัศนะที่ว่าอะไรคือความเป็นธรรม

หากคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน การได้ส่วนแบ่งของทรัพยากรไม่เท่ากันหรือมีโอกาสในเรื่องต่างๆ ไม่เท่ากัน ก็ไม่รู้สึกว่า “ไม่เป็นธรรม” แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นมา (ดังที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในสังคมไทย) เราก็จะไม่เกิดความสะเทือนใจแม้แต่น้อย

ขอต่อคราวหน้านะครับ