หยั่งรู้ดิจิทัล ศาสตร์แห่งความอยู่รอด(5)

หยั่งรู้ดิจิทัล ศาสตร์แห่งความอยู่รอด(5)

ความเหนือชั้นของดิจิทัลที่มากกว่าการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่เมื่อได้ถูกวางแผนและออกแบบถูกต้อง

จะสามารถทำงานได้เองอัตโนมัติ ไม่ต้องมีวันหยุด “ดิจิทัล”จึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับธุรกิจได้อย่างมาก 

จนกลายเป็นสิ่งที่ธุรกิจต่างหันมาเลือกใช้ ดิจิทัลสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสนใจของลูกค้าต่อสินค้าที่กำลังนำเสนอในออนไลน์ ให้ข้อมูลได้ว่าลูกค้ากลุ่มใดกำลังสนใจสินค้าประเภทใด เทรนด์ใหม่ที่กำลังเป็นที่ต้องการในขณะนี้คืออะไร 

หากธุรกิจสามารถนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้มาใช้ในการเข้าถึงลูกค้าเป้าหมาย (Targeting) ได้ก่อนจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการขายสินค้าได้ตรงกลุ่ม

เก็บวิเคราะห์และรู้ลึก

ประมาณการว่าข้อมูลที่ถูกเก็บในช่วงสองปีที่ผ่านมามากกว่าข้อมูลที่เคยเก็บมาในอดีตทั้งหมดรวมกัน ปัจจุบันข้อมูลดิบจำนวนมหาศาลกำลังถูกรวบรวมจากการใช้งานผ่านแอพ เว็บไซต์หรืออุปกรณ์ต่างๆ และถูกจัดเก็บไว้ในลักษณะของ Big Data ซึ่งธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ กำลังต้องเผชิญกับความท้าทายในการเก็บและพื้นที่ในการจัดเก็บ หากไม่มีการคัดสรรและนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้ถูกต้องจะเป็นการสูญเสียทรัพยากรและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

การวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) คือ การค้นหาหรือไขปริศนาให้เข้าใจถึงลักษณะและแนวทางการใช้งานหรือความสนใจของลูกค้าจากข้อมูลดิบที่เก็บรวบรวมไว้ หากปราศจากการวิเคราะห์ข้อมูลและเครื่องมือในการวิเคราะห์แล้ว ข้อมูลดิบจำนวนมากมายที่ถูกจัดเก็บไว้จะไม่สร้างประโยชน์อะไร (Garbage In, Garbage Out) 

ตัวอย่าง เครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลที่รู้จักดี เช่น Google Analytics (GA) ที่แปลงข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ให้เป็นข้อมูลที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น จำนวนหน้าที่ถูกเรียกชม (Page view) จำนวนการเยี่ยมชม (Visit) หรือระยะเวลาที่อยู่ในหน้าเว็บ ตลอดจนเส้นทางการเรียกชมข้อมูลในเว็บไซต์ในลักษณะ Visualize Flow ผลการวิเคราะห์ช่วยให้แบรนด์ทราบถึงหน้าเว็บหรือสินค้าที่ลูกค้าอาจสนใจได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องทำแบบสอบถามเหมือนก่อน ทำให้ธุรกิจมีข้อมูลในการตัดสินใจได้รวดเร็ว

นวัตกรรมด้านดิจิทัลเพิ่มคุณค่าให้ข้อมูลเมื่อผ่านกระบวนการวิเคราะห์และความเข้าใจข้อมูลในเชิงลึก (Insight) ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ (Analyst) หรือผ่านระบบการวิเคราะห์อัตโนมัติอย่าง Artificial Intelligent (AI) เมื่อเข้าใจข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคหรือลูกค้าในเชิงลึก ทำให้ธุรกิจตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น นอกจากทราบว่าสินค้าใดเป็นที่สนใจ ยังทราบได้ว่าลูกค้ากลุ่มใดสนใจสินค้าประเภทใด ทำให้นำเสนอสินค้าประเภทที่โดนใจลูกค้าได้อัตโนมัติ

ความเข้าใจข้อมูลได้ลึกซึ้งและเข้าถึงลูกค้าอย่างชาญฉลาด จึงเป็นนวัตกรรมที่ทรงพลังและเป็นเทรนด์ที่ธุรกิจต่างให้ความสนใจและลงทุนในการสร้างผู้เชี่ยวชาญในการเลือกใช้นวัตกรรม

แปลงข้อมูลเป็นโอกาส

ไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจชั้นนำในต่างประเทศทุกสาขาต่างให้ความสำคัญกับข้อมูล (Data) การวิเคราะห์ (Analytics) และการประมวลผลเพื่อความเข้าใจข้อมูลในเชิงลึก (Insight) ข้อมูลจึงเป็นขุมทรัพย์ขององค์กรที่ถูกเก็บและรวบรวมขึ้นจากการใช้งานจริงของลูกค้าและตลาด ทำให้ธุรกิจและแบรนด์เข้าใจและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้แม่นยำ

รีเทลยักษ์ใหญ่อีกรายอย่างเทสโก้ (tesco.com) ในอังกฤษที่มีสาขากว่า 3,500 สาขาแต่ละแห่งมีสินค้าเฉลี่ย 40,000 รายการได้คาดว่ามีการสร้างข้อมูลกว่า 100 ล้านจุดต่อการเก็บข้อมูลแต่ละครั้ง เทสโก้ให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล Big Data มาก ด้วยการเร่งพัฒนานวัตกรรมการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real Time Data Analytics) เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าของลูกค้า และสามารถคาดการณ์การขายและสต๊อกสินค้าในแต่ละสาขา ซึ่งช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพทางโลจิสติกส์ ลดการสูญเสียของสินค้าค้างสต๊อกและรักษาสิ่งแวดล้อม

หลักคิดดิจิทัล

ดิจิทัลขยายเวทีการแข่งขันทางธุรกิจออกทุกด้าน โดยเฉพาะในการเก็บรวบรวมข้อมูล การคำนวณ การประมวลผลและกำหนดได้ว่าควรปฏิบัติหรือทำอะไรต่อไป แต่การเก็บข้อมูลจำนวนหรือเข้าใจข้อมูลในเชิงลึกไม่ให้ประโยชน์หากไม่สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจ 

ดังนั้น องค์กรควรเริ่มต้นวางแผนการจัดเก็บและการใช้งานข้อมูลที่เป็น Big Data ขององค์กรอย่างเป็นระบบ สร้างความเข้าใจและวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการดำเนินธุรกิจ (Data Driven Culture) โดยมีที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล (Data Analyst) และเลือกใช้เครื่องมือหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ธุรกิจ เพื่อสร้างความพร้อมและการปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันในวันนี้ 

ยุคที่ข้อมูลขยายตัวเป็นเท่าทวีคูณอย่างรวดเร็วและท้าทาย