'จุดสลบ' ของนโยบาย ประเทศไทย 4.0

'จุดสลบ' ของนโยบาย  ประเทศไทย 4.0

ประเทศไทย 4.0 เป็นเรื่องที่พูดกันกว้างขวาง คนที่เห็นพ้องบอกว่า นี่คือทิศทางที่จะผลักดันประเทศไทย

ให้ก้าวไปสู่ความทันสมัย เป็นสังคมแห่งความรู้และนวัตกรรมที่จำเป็นอย่างยิ่ง

แต่ก็มีคำถามมากมายว่าจะนิยามคำว่า คนไทย 4.0 อย่างไร” และเราจะก้าวไปถึงเป้าหมายนั้นได้จริงหรือ?

ผมทำรายการใน Suthichai Live ผ่าน Facebook Live ทุกวัน บ่อยครั้งก็เชิญชวนให้คนที่ความคิดความอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาตั้งวงสนทนาเพื่อเจาะลงลึกถึงหัวข้อ ที่ผมเชื่อว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศชาติ

วันก่อน ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการ TDRI มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในหัวข้อนี้ ได้ประเด็นที่น่าสนใจในหัวข้อที่รัฐบาลและเอกชนไทยควรจะได้ร่วมกันถกแถลงให้ตลกผลึกเพื่อทำให้แผนนี้เป็นความจริง

ดร. สมเกียรติบอกว่านโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นวิสัยทัศน์ที่ดี แต่ จุดสลบ” ของเป้าหมายที่จะทำให้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

จุดสลบที่ว่านี้ระบบราชการและระบบการศึกษาของชาติ

ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมีความจำเป็นต้องแข่งขัน เพราะฉะนั้นก็ต้องปรับตัวอยู่แล้ว แต่ภาคราชการและภาคการศึกษา “อยู่กับตัวเองค่อนข้างเยอะ ไม่ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก

คะแนนการทดสอบ PISA ของนักเรียนนักศึกษาไทยปีที่ผ่านมาก็ตกอันดับไปอีก หากรัฐบาลไทยจะบอกชาวโลกว่าจะก้าวไปสู่ 4.0 จะมีใครเขาเชื่อหรือเปล่าหากมาตรฐานการศึกษาของเรายังอยู่ในอันดับที่ต่ำเตี้ยอย่างนี้

ผมเคยพูดเล่น ๆ ว่าระบบการศึกษาของเรายังอยู่ที่ 0.4 เราจะไปถึง 4.0 ได้หรือ?” ดร. สมเกียรติบอก

อีกอุปสรรคที่สำคัญคือระบบราชการที่ยังล้าสมัย เพราะไม่ว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำจะดีอย่างไร ผู้นำไปปฏิบัติคือข้าราชการ

“ระบบราชการของเราตามโลกไม่ทันครับ...ข้าราชการของเรามองแต่เจ้านาย ไม่มองว่าจะรับใช้ประชาชนและเอกชนอย่างไร ...”

ตัวอย่างเล็ก ๆ ที่สะท้อนถึงความล้าสมัยแห่งระบบราชการ คือทุกวันนี้การเดินทางเข้าออกประเทศยังต้องกรอกใบตรวจคนเข้าเมืองที่เรียกว่า ตม. 6” ทั้ง ๆ ที่คนไทยมีหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับคนเดินทางครบถ้วนอยู่แล้ว ยกเว้นเที่ยวบินสำหรับการเดินทางซึ่งก็น่าจะแจ้งข้อมูลใหม่เพียงเรื่องเดียว

“แต่คนเดินทางเข้าออกนอกประเทศก็ยังต้องกรอกเจ้า ตม. 6 ทุกคนทั้งขาเข้าและขาออก และเจ้าหน้าที่ ตม. ก็เอาฟอร์มนั้นไปใส่ลังใหญ่ ๆ ขนไปเก็บเป็นกอง ๆ...ถามว่าทำไมยังต้องกรอก คำตอบคือกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองมีมาตราหนึ่งเขียนไว้ว่าการเข้าออกประเทศจะต้องกรอกแบบฟอร์มที่กำหนดไว้ และนั่นก็คือ ตม. 6 นี่แหละครับ ดังนั้นไม่ว่าเราจะก้าวไปสู่อิเล็กทรอนิกส์แค่ไหน ถ้ากฎหมายฉบับนี้ยังอยู่ เราก็ยังต้องกรอกเอกสารอย่างนี้อยู่...”

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ที่ยกมาสะท้อนให้เห็นถึง ความล้าสมัย” ของระบบราชการ ยังมีเรื่องทำนองนี้อีกเป็นร้อย ๆ เรื่องซึ่งควรจะยกเลิกเพื่อให้สอดคล้องกับการผลักดันให้ประเทศก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

แต่ที่ยกเลิกไม่ได้เพราะไปขัดต่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม

เรื่องอย่างนี้ก็ต้อง วัดใจ รัฐบาลว่าถ้าหากจะเดินหน้าสู่ประเทศไทย 4.0 จริง จะแก้ไขอุปสรรคสำคัญ ๆ ที่จะขวางกั้นการบรรลุเป้าหมายระดับชาติอย่างนี้ได้หรือไม่

หากได้คุยกับคนในรัฐบาลที่ดูแลรับผิดชอบ เรื่องการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ระดับสากล ก็จะยอมรับว่าปัญหาหนักอกใหญ่คือสองเรื่องนี้ที่ ดร. สมเกียรติเรียกว่าเป็น “จุดสลบ”

ลงท้ายไม่มีการสร้างชาติที่สำเร็จจะไม่มาจากความ กล้าหาญทางการเมืองหรือที่ฝรั่งเรียก political will อย่างจริงจัง