โฆษณาสื่อไหนก็ต้องชิดซ้ายให้กับ"ผู้ช่วยอัจฉริยะ"

โฆษณาสื่อไหนก็ต้องชิดซ้ายให้กับ"ผู้ช่วยอัจฉริยะ"

ในขณะที่สื่อโฆษณากำลังถกเถียงกันว่า สื่อชนิดไหนจะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ดีที่สุด หรือคอนเทนท์แบบใดจะได้ใจผู้บริโภค จนทำให้เกิดการแชร์ต่อ

แต่การมาของ Cognitive Computing สมองกลอัจริยะกำลังจะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่เอาท์ เพราะผู้ช่วยอัจฉริยะคนนี้จะรู้ดีไปเสียทุกอย่าง และรู้จักตัวผู้บริโภคดีกว่าตัวเขาเองด้วยซ้ำ อีกทั้งยังสามารถโต้ตอบกับผู้บริโภคได้ พร้อมแนะนำผู้บริโภคได้ทุกอย่าง 

ในยุคปัจจุบันผู้บริโภคไม่ค่อยเชื่อโฆษณาอยู่แล้ว อนาคตจะยิ่งไม่เชื่อมากไปกว่าเดิม ไม่ว่าแต่ละแบรนด์จะใช้สื่อ หรือคอนเทนท์รูปแบบใด ก็ยากที่จะทัดเทียมกับผู้ช่วยอัจฉริยะที่รู้ลึก รู้จริงเกี่ยวกับผู้บริโภค แถมยังแม่นยำยิ่งกว่าสิ่งใดนี้ได้

เพราะข้อมูลของผู้บริโภคที่ถูกเก็บจากทุกสื่อออนไลน์ ทุกคลิก ทุกการเคลื่อนไหวอย่างละเอียดโดยไม่รู้ตัว และข้อมูลเหล่านี้ ทำให้ Cognitive Computing รู้จักผู้บริโภคดีพอ โดยที่ไม่ต้องพูดคุยกันมาก่อน เพียงแค่ดูจากประวัติ พฤติกรรมการซื้อ การดูหนัง การอ่าน และอื่นๆ จนสามารถล่วงรู้ความต้องการของผู้บริโภค และคาดเดาไปถึงความต้องการในอนาคตได้อย่างแม่นยำอีกด้วย 

เท่านั้นไม่พอ ยังสามารถล่วงรู้ไปถึงอารมณ์ของผู้บริโภคในขณะนั้น และพร้อมที่จะแนะนำสินค้าที่เหมาะสมกับผู้บริโภค ณ ช่วงเวลาที่เค้าต้องการอย่างถูกจังหวะ 

หลังจากนี้ไป ไม่ว่าโฆษณาแบบไหน ก็ไม่อาจรู้จังหวะที่เหมาะเจาะได้ดีไปกว่า Cognitive Computing อีกแล้ว เพราะสินค้า จะขายได้ ต้องถูกที่และถูกเวลา

ความสามารถของ Cognitive Computing ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะสามารถเข้าใจภาษามนุษย์ เข้าใจรูปแบบประโยคต่างๆได้ และไม่ใช่แค่ภาษาเดียว แต่ได้ถึง 8 ภาษา ที่สำคัญ คือ ยังสามารถประมวลผลข้อมูล เป็นล้านๆ ชิ้นได้ในระยะเวลาอันสั้นและหาข้อมูลได้หลากหลายภาษา เช่น สินค้านี้ไม่มีคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ แต่มีเป็นภาษาญี่ปุ่น ก็สามารถประมวลผลข้อมูล และนำมาแนะนำเราเป็นภาษาอังกฤษได้ ซึ่งถือเป็นประโยชน์มาก ต่อหลายวงการ 

อย่างเช่น ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย ซึ่งแต่ละประเทศมีกฎหมายที่แตกต่างกัน แถมภาษากฎหมายก็เข้าใจยาก แต่ Cognitive Computing ที่มาในรูปแบบหุ่นยนต์ทนาย ชื่อว่า Ross นี้ สามารถประมวลผล และหาข้อกฎหมายได้หลากหลายภาษา ทำให้งานของทนายมนุษย์เบาไปเยอะ ซึ่งงานบางอย่าง เอาจริงๆ คือ มนุษย์อาจทำไม่ได้ หรือถ้าทำได้ก็อาจใช้เวลาเป็นปีๆ ในการค้นหา หรือประมวลข้อมูล แต่ทนายหุ่นยนต์ ROSS ทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะสามารถประมวลผลข้อมูล 800 หน้าได้ในเพียงวินาที 

เช่นเดียวกับวงการแพทย์ คิดดูเวลาเราไปหาหมอ ข้อมูลที่หาหมอมาทั้งชีวิต หรือฟิล์มเอ็กซ์เรย์จากหมออีกคนหนึ่ง ประวัติแพ้ยา ข้อมูลสุขภาพอื่นๆ และข้อมูลประกันสารพัด ซึ่งสมองของคุณหมอมนุษย์ไม่มีความสามารถในการประมวลข้อมูลได้ทั้งหมด แต่ Cognitive Computing สามารถคำนวณข้อมูลสุขภาพเราออกมาได้อย่างแม่นยำในระยะเวลาอันสั้น ที่สำคัญยังสามารถแนะนำได้ด้วยว่าการรักษาแบบใด หรือยาแบบใดเหมาะสมกับเรา

อย่าง The North Face ก็ใช้ Cognitive Computing แนะนำสินค้าที่เหมาะสมให้ลูกค้า เช่น เมื่อลูกค้า จะซื้อเสื้อตัวหนึ่ง โปรแกรมก็จะวิเคราะห์สภาพอากาศของสถานที่ๆ จะไป ประวัติสุขภาพ ความชอบ และดาต้าเบสส่วนตัวอื่นๆ ของลูกค้า เกิดเป็นการโต้ตอบแบบ interactive คุยกัน ระหว่างลูกค้า และหุ่นยนต์ จนเหมือนมี personal consultant ไปเลย เพราะไม่ได้แนะนำสินค้าแค่เพียงแฟชั่นเท่านั้น แต่ยังรู้ใจว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ให้คำปรึกษาได้ว่าสถานที่ๆ จะไป ควรใส่เสื้อความหนาระดับใด กันลม กันฝนด้วยได้ไหม

ที่สำคัญ คือ คัดจากแบบเสื้อ 3,000 กว่าตัวทั่วโลก ให้เหลือตัวเลือก 3 ตัว ที่เหมาะกับลูกค้ามากที่สุด (ย้ำว่าเสื้อทั้งหมดที่ร้าน The North Face มี ไม่ใช่เฉพาะแค่สต๊อกในร้านที่เราไปซื้อ) เพื่อให้เราตัดสินใจได้ง่าย เร็ว และเฉียบขาดขึ้น ซึ่งมนุษย์ทั่วไป ไม่สามารถประมวลข้อมูลที่ซับซ้อน แม่นยำ รู้ใจเช่นนี้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว แล้วเราจะไม่เชื่อหรือติดใจ Cognitive Computing นี้ได้อย่างไร

สถิติบ่งบอกถึงการเติบโตของการใช้ผู้ช่วยอัจฉริยะเพิ่มขึ้นและรวดเร็ว จาก 390 ล้าน ในปี 2015 เป็น 1.8 พันล้าน ภายใน 2021 เมื่อผู้บริโภคปรับเปลี่ยนจากการเชื่อโฆษณา มาเชื่อรีวิว และกำลังเข้าสู่ยุคเชื่อสมองกลอัจฉริยะ ก็ได้เวลานักการตลาด เตรียมตั้งรับกันอีกระลอก