เรือดำน้ำ... เรียบร้อยโรงเรียนจีน

เรือดำน้ำ... เรียบร้อยโรงเรียนจีน

ลงนามในสัญญาจัดซื้อกันไปเรียบร้อย สำหรับเรือดำน้ำลำแรกจากจีน

 ทั้งๆ ที่ยังมีคำถามและข้อข้องใจหลายข้อ ที่รัฐบาลและกองทัพเรือยังไม่ตอบ

เรื่องยุทธการและยุทโธปกรณ์ รัฐบาลเขาห้ามถาม บอกเป็นความลับระดับโลก ฉะนั้นคำถามและข้อท้วงติงที่ยังพอพูดได้ และผู้รับผิดชอบก็ยังไม่ตอบ คือความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อ สรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

  1. เมื่อปี 2558 กองทัพเรือตั้งโครงการจัดหาเรือดำน้ำอย่างชัดเจนว่า ต้องการเรือ 2 ลำ งบ 36,000 ล้านบาท มีผู้สนใจ 6 ประเทศ เสนอราคาและสเปคมาให้เลือก แต่ต่อมามีการพบปะกันระหว่างผู้ใหญ่ในรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน จากนั้นก็มีการปรับแก้โครงการใหม่ เป็นโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ ซึ่งจีนเสนอ “ซื้อ 2 แถม 1” แบบนี้แปลว่าโปร่งใส เป็นธรรมหรือไม่
  2. ช่วงกลางปี 2559 เมื่อมีการจัดทำงบประมาณปี 2560 กองทัพเรือตั้งงบจัดหาเรือดำน้ำไว้ 700 ล้านบาท ต้องถามว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำผ่านครม.แล้วหรือยัง
  3. เมื่องบปี 2560 บังคับใช้ (1 ต.ค.59) กองทัพเรือประกาศราคากลางสำหรับการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกจากจีน เมื่อ 29 ธ.ค.2559 จากนั้น 18 เม.ย.2560 โครงการนี้จึงเข้า ครม. โดยมีเสียงชี้แจงจากรัฐบาลว่า เพื่อขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ
  4. มีผู้รู้ท้วงติงว่า การที่ ครม.เพิ่งอนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปี เมื่อ 18 เม.ย.2560 ถือว่าผิด พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ มาตรา 23 ที่กำหนดกรอบเวลาให้โครงการก่อหนี้ผูกพัน ต้องเสนอ ครม.ภายใน 60 วันหลังงบประมาณปีนั้นมีผลบังคับใช้ แต่ต่อมาสำนักงบฯออกมาชี้แจงว่า ได้เสนอให้ครม.เห็นชอบผูกพันงบข้ามปีทุกโครงการของทุกส่วนราชการ รวมถึงโครงการจัดหาเรือดำน้ำไปแล้วเมื่อ 25 ต.ค.2559
  5. เมื่อตรวจสอบย้อนหลังในห้วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีการเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำเข้าขอความเห็นชอบจาก ครม.มาก่อนเลย นอกจากล่าสุดคือ 18 เม.ย.2560 แสดงว่ากองทัพเรือตั้งงบ 700 ล้านสำหรับจ่ายงวดแรก และขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันก่อนจะตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำจากจีน และก่อนประกาศราคากลางใช่หรือไม่
  6. การทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐจัดซื้อเรือดำน้ำที่เป็นยุทโธปกรณ์ทางความมั่นคง และยกเว้นค่าอากรทางศุลกากร เข้าข่ายต้องเสนอรัฐสภาเห็นชอบก่อนตามรัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 178 หรือเปล่า