แง่คิดจากเมืองเสียมเรียบ กัมพูชา

แง่คิดจากเมืองเสียมเรียบ กัมพูชา

ผมบินไปเที่ยวเมืองเสียมเรียบ กัมพูชา อยู่ 2 คืน 3 วัน ได้รับเชิญให้ไปพูดเปิดประชุม

เรื่องการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในงานสัมมนาทางวิชาการระหว่างประเทศ จัดโดย UMCR มหาวิทยาลัยเล็กๆ จากฟลอริดา สหรัฐฯ ที่มาเปิดสาขาในไทย และได้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์อังกอร์ (คำที่ฝรั่งเศสเรียกเพี้ยนมาจากคำนะคอร์หรือนคร) ปราสาทนครวัด และปราสาทบายันในนครธมด้วย บินจากกรุงเทพฯ ไปใช้เวลาเพียง 50 นาที จะไปทางรถยนต์ก็ได้ ใกล้กว่าไปเชียงใหม่หรือภูเก็ต

เมืองเสียมเรียบเป็นหัวเมืองต่างจังหวัดที่กำลังเติบโตจากธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะเป็นที่ตั้งของปราสาทนครวัด มรดกโลก ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน 8 ของสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคกลาง (เมื่อพันปีที่แล้ว) ปัจจุบันมีโรงแรมชั้นดี ร้านอาหาร ธนาคาร ร้านค้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก บางคนบอกว่าเติบโตมากกว่าพนมเปญเมืองหลวงด้วย บรรยากาศเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบเชียงใหม่ ภูเก็ต แม้เมืองจะเล็กกว่าและยังมีบรรยากาศเป็นต่างจังหวัดที่เพิ่งพัฒนาทีหลัง ที่นี่เขานิยมใช้รถตุ๊กๆ ที่ดัดแปลงจากมอเตอร์ไซต์ให้มีที่นั่งได้ 4-6 คน เป็นแท๊กซี่สำหรับคนใช้ไปสถานที่ต่างๆ รถบัสขนาดกลางก็เห็นอยู่เหมือนกัน

พิพิธภัณฑ์อังกอร์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างโดยเอกชน ไกด์ชาวเขมรซึ่งมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ดี พูดไทยได้ดี เพราะเคยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในอุบลราชธานี เล่าให้ฟังว่า ลงทุนโดยเจ้านายไทยพระองค์หนึ่งร่วมกับลูกของฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีเขมร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทำแบบสมัยใหม่ รวบรวมวัตถุโบราณเก่าแก่สวยงาม เช่น รูปปั้น รูปแกะสลักจากปราสาทต่างๆ ไว้มาก มีคำอธิบาย รวมทั้งมีภาพยนตร์สั้นๆ หลายเรื่องให้คนกดปุ่มเปิดชมได้เอง มีคำอธิบายหลายภาษาให้เลือกได้ เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดกลางที่ให้ความรู้พื้นฐานและเป็นตัวอย่างก่อนไปชมตัวปราสาทตัวจริงได้ดี

ปราสาทนครวัด หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Angor Wat เป็นปราสาทที่ใหญ่ สวยงาม สง่า น่าทึ่ง แม้จะเคยเห็นจากรูปภาพและภาพยนตร์จนดูเหมือนจะชินตาแล้ว แต่เวลาไปดูของจริงจะเห็นแบบหลายมิติมากกว่า ดูจากภายนอก ยังไม่ค่อยเห็นอะไร ต้องเดินผ่านทางเดินแบบสะพานผ่านประตูชั้นนอกของปราสาทเข้าไปแล้วจึงจะมองเห็นตัวปราสาท บนเนิน 3 ระดับ เป็นรูปปราสาทหรือพระปรางค์ 5 หลัง หมายถึง ภูเขาทั้ง 5 ของเทือกเขาพระสุเมรุ หรือสวรรค์ตามคติความเชื่อของฮินดู

นี่คืออาคารก่อสร้างตามคติความเชื่อฮินดูที่ใหญ่และสวยที่สุดในโลก เป็นปราสาทที่ก่อสร้างจากหินทรายและหินศิลาแลงแบบวางทับซ้อนกันด้วยฝีมือของวิศวกร สถาปนิก ที่ฉลาดและเข้าใจระบบนิเวศของที่ราบลุ่มซึ่งน้ำจะท่วมฤดูฝนได้ดี แต่พวกเขาในยุคพันปีที่แล้ว สามารถสร้างปราสาทที่ทั้งสวยงามและแข็งแรงทนทานได้อย่างน่าทึ่ง มีการแกะสลักภาพนูนเป็นรูปเทพเจ้า กษัตริย์ นางอัปสร (นางขับระบำในราชสำนัก) ขุนนาง ทหาร ประชาชน ภาพการรบกับข้าศึก การออกราชการของกษัตริย์ ชีวิตชาวบ้าน ฉากสงครามในมหากาพย์เรื่องภารตยุทธ ฯลฯ ได้อย่างสมจริงและสวยงาม

ที่นักวิชาการฝรั่งทึ่งกันมาก เพราะประสาทนครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงใหญ่กว่าโบสถ์วิหารในยุโรปที่ใหญ่ที่สุด และใช้เวลาสร้างราว 35 ปี เทียบกับโบสถ์วิหารขนาดใหญ่ในยุโรปที่สร้างในยุคหลังกว่า และแต่ละแห่งใช้เวลาในการสร้างร้อยกว่าปี ปราสาทบายันของนครธม ที่สร้างภายหลัง มีรูปปั้นคล้ายพระโพธิสัตว์ขนาดใหญ่และรอยยิ้มแบบคนบรรลุแล้วตามปรางค์ต่างๆ แบบหันหน้าหมือนกับจะจับตาเฝ้ามองเราทุกทิศทาง สวยอย่างลึกลับไปอีกแบบ อาจเป็นยิ้มที่สวย มีความหมายในทางธรรมมากกว่ายิ้มของภาพวาดโมนาลิซ่าของดาร์วินชีด้วย

อาณาจักรขอมในยุครุ่งเรืองเมื่อพันกว่าปีนั้นมีเมืองที่ใหญ่มีประชากร มีระบบชลประทาน การเกษตร ที่ดีมาก เป็นอาณาจักรที่มีพื้นที่กว้างใหญ่คลุมมาถึงภาคอีสาน จนถึงลพบุรีของไทยยุคปัจจุบันด้วย แต่อาณาจักรขอมนี้อยู่ได้ราว 500 ปีก็ล่มสลาย เท่าที่ผมอ่านจากหนังสือนักประวัติศาสตร์ฝรั่ง และชมสารคดีจากยูทูป ผมเชื่อตามการวิเคราะห์ของพวกเขาว่าปัญหาก็คล้ายๆ กับอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองและเสื่อมสลายลงอื่นๆ คือตอนแรกมีกษัตริย์ที่เก่งสะสมความมั่งคั่งได้ สร้างเมืองใหญ่ที่มีอารยธรรมได้ 

แต่เมื่อรวบรวมคนมาเป็นแรงงานมากขึ้น มีการตัดไม้ทำลายป่ามาใช้และเพื่อเปลี่ยนเป็นนาไร่มากขึ้น เวลาฝนตกก็เกิดตะกอนในแหล่งน้ำมากขึ้น จนระบบชลประทานที่เคยใช้งานได้ดีมีประสิทธิภาพต่ำลง ผลผลิตเกษตรลดลง คนอยู่ยากลำบากมากขึ้น รวมทั้งอาจมีปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องเศรษฐกิจการเมืองภายในนครรัฐและระหว่างนครรัฐข้างเคียงด้วย ปัญหาใหญ่คล้ายกันทุกอาณาจักรคือการกดขี่เอาเปรียบทั้งคนและระบบนิเวศมากไป

มองย้อนกลับมาดูบ้านเรา ผมเห็นว่าถ้ารัฐบาลฉลาดที่จะลงทุนเรื่องการฟื้นฟูบูรณสถาน สร้างพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ เช่น ใช้เทคนิคการใช้เครื่องสแกนสำรวจสิ่งก่อสร้างใต้ดิน ที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยจากออสเตรเลียกำลังทำวิจัยที่นครวัด มาสำรวจเมืองเก่าเช่น เชียงแสน นครศรีธรรมราช สุโขทัย อยุธยา กำแพงเพชร ลพบุรี ฯลฯ และฟื้นฟูบูรณะให้ดี สร้างพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัย จะเป็นประโยชน์ทั้งให้คนไทยเรียนรู้ ภูมิใจในประวัติศาสตร์ของตนเอง คนต่างชาติที่สนใจเข้ามาดู มาเรียนรู้มากขึ้น และสามารถรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนมากกว่า การก่อสร้างรถไฟ ทางด่วน โครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ มากนัก

ตัวอย่างที่น่าทำแบบเสียมเรียบเมืองหนึ่งคือ เพื่อแสดงความนับถือความเป็นเมืองมรดกโลก รัฐบาลห้ามตั้งบาร์ไนท์คลับ อาบอบนวด สถานกาสิโน ถึงจะมีร้านอาหาร มีผับบ้าง ก็ยังดูไม่เลอะเทอะมากนัก ผมเข้าใจว่าที่หลวงพระบางเขาก็พยายามวางผังเมืองไม่ให้มีตึกสูงๆ ที่จะทำลายบรรยากาศสภาพเมืองเก่า 

รัฐบาลไทยน่าจะมีคนฉลาด มีวิสัยทัศน์ ที่จะจัดสรรงบประมาณ ตั้งคนที่มีความรู้มาศึกษาวิจัยทำเรื่องการฟื้นฟูบูรณะโบราณ เมืองเก่าที่สำคัญๆ สร้างพิพิธภัณฑ์ดีๆ จะเป็นการลงทุนที่ฉลาดและคุ้มค่าในระยะยาวมากกว่าโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งหลาย หรือซื้อเรือดำน้ำและอาวุธต่างๆทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะไปรบกับใคร