เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว?

เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว?

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้มีการปรับการคาดการณ์ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3%

 ในปีนี้มาเป็น 3.5-4.0% ทั้งนี้เพราะการส่งออกขยายตัวดีเกินกว่าที่คาดเอาไว้ก่อนหน้า คือการส่งออกในไตรมาส 1 ขยายตัวประมาณ 5% ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ 2.5-3.5% อีกส่วนหนึ่งคือการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวได้ดีในระดับหนึ่งเช่นกัน บวกกับการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐซึ่งคาดการณ์กันว่ารัฐบาลจะลงทุนได้จริงในโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ประมาณ 170,000 ล้านบาทในปีนี้และคาดหวังว่าการผลักดันโครงการอีอีซีจะเห็นผลเป็นรูปธรรม (การประมูลบางโครงการสามารถทำสำเร็จได้ปีนี้) จะทำให้ความมั่นใจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนได้สำเร็จในที่สุด

ปัจจัยที่ยังไม่กระเตื้องขึ้นเลยคือการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นรวบรวมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนเม.ย.ปรับลดลงเหลือ 49.6 จาก 52.6 ในเดือนมี.ค. ตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 นั้นถือได้ว่ามีความสำคัญในระดับหนึ่ง เพราะแปลความเชื่อมั่นของเอกชนถดถอยลง ซึ่งธปท.อธิบายว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวชี้วัดตัวหนึ่งจาก 6 องค์ประกอบคือการผลิตนั้นปรับลดลงเพราะเดือนเมษายนมีวันหยุดมาก การผลิตจึงลดลง ฉุดให้ดัชนีโดยรวมลดลงตามฤดูการ แต่หากดูตัวชี้วัด 5 ตัวที่เหลือก็จะเห็นว่าความเชื่อมั่นอยู่ในสภาวะทรงตัวมานานหลายปีแล้ว ดังนั้นหากมองในแง่ดีก็จะบอกว่าถึงเวลาฟื้นตัวได้แล้ว (ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธปท.คือการประมวลจากผลการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างธุรกิจขนาดกลางและใหญ่รวม 611 รายทั่วประเทศ)

แต่ในช่วงที่เราคาดหวังว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวนั้น น่าจะเป็นช่วงที่ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ทรงตัวหรือลดลง หากจะพูดว่าความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นในภายหลังที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจมีความชัดเจน (แปลว่าเป็น lagging indicator) ก็ไม่ค่อยจะถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะระบบทุนนิยมนั้นขับเคลื่อนโดย animal spirits (หรือความกล้าได้กล้าเสีย) ของผู้ประกอบการ กล่าวคือเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อนักธุรกิจกล้าลงทุน กล้าจ้างงาน กล้าขยายการผลิต เพราะเชื่อว่ามียอดขายและกำไรที่เพิ่มขึ้นมาเป็นแรงจูงใจ การพูดกันมากเรื่อง crowding-in คือรัฐบาลเป็นหัวหอกในการฟื้นเศรษฐกิจนั้น เห็นไม่บ่อยนักเว้นแต่การที่รัฐบาลสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจได้จริงตามที่สัญญาเอาไว้ เช่นกรณีของสหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดีทรัมป์สัญญาว่าจะปฏิรูปและลดภาษีรายได้บุคคลและนิติบุคคล แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมิได้ทำอะไรให้เป็นรูปธรรมได้ แต่ก็ยังหวังกันว่าทรัมป์จะทำได้ตามสัญญาภายใน 6 เดือนข้างหน้าและหากทำไม่ได้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังขับเคลื่อนการส่งออกที่เห็นอยู่ในขณะนี้ก็อาจแผ่วกำลังลงก็เป็นได้

กลับมาดูสภาวะและแนวโน้มการลงทุนของไทยอีกครั้งจากรายงานข่าวของ Post Today 3 พ.ค. ที่ผ่านมาว่ายอดตัวเลขการของการส่งเสริมการลงทุนใน 3 เดือนแรกของปี 2560 ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนปรากฏว่าขยายตัวเท่ากับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา “ซึ่งผิดปกติเพราะเดิมจะต้องมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้รัฐบาลสั่งการให้ไปตรวจสอบดูว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เป็นเพราะประเทศคู่แข่งมีการให้สิทธิประโยชน์ดีกว่าและแย่งนักลงทุนไปจากประเทศไทยหรือไม่ (หากไม่ใช่ก็น่าเป็นห่วงมากกว่า)

ข้อมูลประกอบอีกด้านหนึ่งที่มีทิศทางเดียวกันคือธปท.รายงานว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 405,000 ล้านบาทหรือ 2.95% ของสินเชื่อรวมซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 18,700 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 4.55% การเพิ่มขึ้นดังกล่าวสะท้อนว่าเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศนั้นน่าจะยังไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้น เพราะหากสภาวการณ์ดีขึ้น เอ็นพีแอลน่าจะทรงตัวหรือลดลง หากเพิ่มขึ้นธนาคารพาณิชย์ย่อมจะมีแนวคิดระมัดระวังและเข้มงวดกับการปล่อยกู้เพิ่ม (เพราะปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้และทวีความรุนแรงขึ้น) เอ็นพีแอลที่กล่าวข้างต้นเป็นเอ็นพีแอลก่อนการกันสำรอง แต่เอ็นพีแอลหลังกันสำรองแล้ว (net NPL) คือ 187,000 ล้านบาทหรือ 1.38% ของสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 8,852 ล้านบาทหรือ 4.97% ซึ่งตอกย้ำว่าเอ็นพีแอลสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจและน่าจะมีผลทำให้ธนาคารยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ (เพราะแม้จะเพิ่มการตั้งสำรองซึ่งต้องหักออกจากกำไรแล้ว เอ็นพีแอลก็ยังปรับตัวสูงขึ้นอยู่) ซึ่งจะไม่เกื้อกูลการฟื้นตัวเศรษฐกิจภายในประเทศ ข้อมูลที่น่าสนใจแต่ไม่มีสำหรับระบบธนาคารโดยรวมคือข้อมูลสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (special mention loans) หรือสินเชื่อที่เสี่ยงต่อการเป็นเอ็นพีแอล เพราะเริ่มผิดชำระจ่ายดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงหนักแน่นหรือเปราะบางเพียงใด

อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับเรื่องนี้คือการสะท้อนว่าผู้ประกอบการ (รวมทั้งชาวนา) และภาคครัวเรือนคงจะไม่อยู่ในสภาวะที่จะกู้สินเชื่อเพิ่มขึ้นได้อีกมากนัก ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ปรับมาใช้มาตรการ ที่ให้ความช่วยเหลือโดยตรงกับกลุ่มที่มีรายได้น้อย มากกว่าการใช้นโยบายสนับสนุน ให้ธนาคารปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพิ่มขึ้น หรือการส่งเสริมการบริโภคและใช้จ่าย ซึ่งจะเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้ประชาชนมีหนี้สินเพิ่มขึ้นไปอีกครับ