เจ้าแห่งสินค้าหรูหรา

เจ้าแห่งสินค้าหรูหรา

เจ้าแห่งสินค้าหรูหรา

เมื่อวันที่ 25 เดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ หลุยส์วิตตอง และคริสเตียนดิออร์ ได้ประกาศปรับโครงสร้างการถือหุ้นของทั้งสองบริษัท เพื่อให้ง่ายขึ้นต่อความเข้าใจ

ดิฉันเองติดตามหุ้นของสินค้าหรูหรามาห่างๆ สนใจตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจของจีนสดใส กำลังซื้อระดับบนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และผู้มีกำลังซื้อ “ติดแบรนด์” หรือ “ติดยี่ห้อ” โดยนิยมซื้อเพราะ “ชื่อ” มากกว่าจะสนใจสิ่งอื่นๆ

แบบนี้ก็เข้าทางสินค้าหรูหรา เพราะหากทำรุ่นใดรุ่นหนึ่งให้เป็นที่นิยม จำนวนสินค้าที่สามารถขายได้ต่อแบบจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเพิ่ม ซึ่งเป็นโอกาสในการทำกำไรเพิ่มขึ้น

และมีกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของสินค้าหรูหราเหล่านี้ เรียกว่าเป็น แนวทางลงทุนในกลุ่ม Luxury ซึ่งแม้เศรษฐกิจจะ ซบเซา หรือถดถอยเพียงใด ยอดขายก็ยังเติบโตได้เรื่อยๆ เพียงแต่อาจจะโตช้าหรือโตเร็วเท่านั้น

หลุยส์วิตตอง หรือ ชื่อเต็มของบริษัทคือ Moët Hennessy Louis Vuitton นิยมเรียกย่อว่า LVMH จดทะเบียนซื้อขายในตลาด ยูโรเน็กซ์ ปารีส (EURONEXT Paris) ใช้อักษรย่อว่า MCโดยมีการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดอื่นด้วยชื่อย่อ LVMH เพื่อความสะดวกขอเรียกเป็น LVMH นะคะ

LVMH ก่อตั้งในปี 1987 โดยควบรวมกิจการ แฟชั่น “หลุยส์วิตตอง” เข้ากับ กิจการเครื่องดื่มอัลโกฮอล “โมเอ็ต เฮนเนสซี” ซึ่งก่อนหน้านั้น เกิดจากการควบรวม กิจการแชมเปญ โมเอ็ต แอนด์ ชานดอง (ก่อตั้งปี 1743) กับ บรั่นดี เฮนเนสซี (ก่อตั้งปี 1765) มาก่อน

คริสเตียน ดิออร์ จดทะเบียนซื้อขายในตลาด ยูโรเน็กซ์ ปารีส เช่นกันค่ะ ใช้อักษรย่อว่า CDI ก่อตั้งเมื่อปี 1946 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บริษัทโฮลดิ้งของ ครอบครัว อาร์โนต์ (Groupe Arnault) ซึ่งถือหุ้นอยู่ 74.1%

คริสเตียน ดิออร์ นอกจากจะทำธุรกิจสินค้าหรูหราแล้ว ยังถือหุ้นใน MC หรือ LVMH 42.36% และบริษัทโฮลดิ้งของครอบครัวอาร์โนต์ ถือหุ้นใน LVMH อยู่ 5.28%

จริงๆแล้วทั้งสองบริษัทก็มีประธานคนเดียวกัน คือ คุณ เบอร์นาร์ด อาร์โนต์ ค่ะ

มาวันนี้ บริษัทโฮลดิ้งของครอบครัวอาร์โนต์ เจ้าของแบรนด์ดังที่มีแบรนด์สินค้ากว่า 60 แบรนด์ ได้ประกาศขอซื้อหุ้นของคริสเตียนดิออร์ ในส่วนที่ถือโดยผู้ลงทุนอื่น ซึ่งหากผู้ลงทุนยอมขาย ครอบครัวอาร์โนต์ก็อาจจะถือหุ้น คริสเตียน ดิออร์ได้จนครบ 100% และนำคริสเตียน ดิออร์ ออกจากการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไป

ราคาเสนอซื้อครั้งนี้ คิดจากมูลค่าบริษัทคริสเตียน ดิออร์ ที่ 6,500 ล้านยูโร หรือประมาณ 247,000 ล้านบาท คิดเป็น 15.6 เท่าของ กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา หรือ EBITDA โดยให้ราคาที่ หุ้นละ 260 ยูโร ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดล่าสุดของ คริสเตียน ดิออร์ 14.7% หรือสูงกว่าราคาเฉลี่ยหกเดือนย้อนหลัง 32.8% โดยจ่ายเป็นเงินสด 172 ยูโร และจ่ายเป็นหุ้นของ แอร์เมส 0.192 หุ้น มูลค่าเทียบเท่า 88 ยูโร

ตั้งแต่ประกาศแผนการซื้อหุ้นออกไป ราคาหุ้นของ คริสเตียน ดิออร์ ก็เพิ่มขึ้นจนใกล้กับราคาเสนอซื้อมากขึ้นทุกที ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม เท่ากับ 255.50 ยูโรแล้วค่ะ คิดว่าคนสนใจหุ้นแอร์เมสที่จะได้รับมามากกว่า ส่วนหุ้นของ LVMH ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน มาปิดที่หุ้นละ 234.40 ยูโร

LVMH มีธุรกิจห้าด้านใหญ่ๆ คือ แฟชั่นและเครื่องหนัง มียอดรายได้ในปี 2016 คิดเป็นสัดส่วน 33.6% ธุรกิจค้าปลีก มีสัดส่วนรายได้ 31.5% น้ำหอมและเครื่องสำอาง 13.1% ไวน์และเหล้า 12.7% นาฬิกาและเครื่องประดับ 9.1% โดยมีรายได้รวมในปี 2016 เท่ากับ 37,600 ล้านยูโร และมีอัตรากำไรเฉลี่ยจากห้าธุรกิจ 18.7% โดยธุรกิจไวน์และเหล้า ให้กำไรสูงที่สุดที่ 31.1% ในขณะที่แฟชั่นและเครื่องหนัง มีอัตรากำไร 30.3% นาฬิกาและเครื่องประดับ 13.2% น้ำหอมและเครื่องสำอาง 11.1% และธุรกิจค้าปลีก มีอัตรากำไรจากการดำเนินงาน 7.7%

ตลาดที่ทำรายได้ให้มากที่สุดคือเอเชียค่ะ โดยมีสัดส่วนรายได้จากเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น 26% ญี่่ปุ่น 7% สหรัฐอเมริกา 27% ยุโรป (ไม่รวมฝรั่งเศส) 18% ฝรั่งเศส 10% และตลาดอื่นๆ 12% มีจำนวนร้านรวม 3,948 ร้านค่ะ

ตัวอย่างของแบรนด์ที่อยู่ในสังกัด นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว (ในวงเล็บคือปีที่ก่อตั้ง) เช่น Dom Perignon (1668), Cloudy Bay (1985), Guerlian (1828), Givenchy Parfums (1957), Make Up Forever (1984), Kenzo Parfums (1988), Loewe (1846), Louis Vuitton (1854), Rimowa (1898), Fendi (1925), Celine (1945), Givenchy (1952), Kenzo (1970), Tag Heuer (1860), Zenith (1865), Bvlgari (1884), DFS (1960), Sephora (1969) เป็นต้น

หุ้นของ LVMH มีราคา 29.53 เท่าของกำไร และ 4.43 เท่าของมูลค่าทางบัญชี (Book Value) ซึ่งถือว่าไม่ถูก แต่ก็ไม่ได้แพงจนเกินไป สำหรับธุรกิจที่มีอัตราการทำกำไรสูง และมีการเติบโตในอัตราที่สูง ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ใช้ตลาดทุนได้ดีในการขยายกิจการโดยวิธีการซื้อ หรือ ควบรวม เพื่อให้มีประเภทของสินค้าที่หลากหลาย และขยายขอบเขตเข้าไปในลูกค้าต่างกลุ่มกัน

หมายเหตุ : การลงทุนมีความเสี่ยง บทความนี้เป็นกรณีศึกษาเท่านั้น มิได้มีความประสงค์จะชี้ชวนให้ลงทุนหรือไม่ลงทุนในหุ้นดังกล่าว