นวัตกรรมเกิดได้ในบริบทที่สร้างสรรค์

นวัตกรรมเกิดได้ในบริบทที่สร้างสรรค์

รัฐต้องเลือกว่าจะยังกำกับเข้มข้นแบบราชการเป็นศูนย์กลางอำนาจ หรือเปิดช่องให้ธุรกิจรวมกลุ่มเติบโตแข็งแรง มีการกำกับตัวเองอย่างเข้มงวด

แม้ว่าตำราหลายเล่มหรือคนทั่วไป เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “นวัตกรรม” จะชวนให้นึกถึงสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยเห็น หรือไม่เคยมีมาก่อนก็ตาม เป็นความก้าวหน้าในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อมารับใช้หรือก่อให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจก็ตาม แต่นวัตกรรมอีกมากมายก็เป็นประโยชน์ในทางสังคมและสิ่งแวดล้อม “นวัตกรรมทางสังคม (Social innovation)” จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อผลกำไรของใครคนใดคนหนึ่ง

 

แต่ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจหรือนวัตกรรมทางสังคม ล้วนแล้วแต่มีกระบวนการสร้างมันขึ้นมาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะคิดค้นหรือพัฒนาขึ้นมาโดยคนคนเดียว กลุ่มคนเล็กๆไม่กี่คน หรือสร้างขึ้นภายในองค์กรใหญ่ โดยแบบแผนและวิธีการก็แตกต่างกันไป แน่นอนการสร้างนวัตกรรมโดยคนไม่กี่คนย่อมไม่มีรูปแบบหรือแบบแผนอะไรมากมายนัก อาจเรียกว่ามาจาก ความมุ่งมั่นปรารถนาส่วนตัว (Passion) เป็นหลักก็ว่าได้ แตกต่างจากการสร้างนวัตกรรมในองค์กรจะมีแบบแผนและเป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจนเป็นรูปธรรมมากกว่า

 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลงานนวัตกรรมที่เกิดขึ้นโดยคนคนเดียวหรือกลุ่มคนไม่กี่คนนั้น อาจไม่ต้องการปริมาณที่มากและอาจไม่ได้มีแนวคิดที่จะต่อยอดอะไรออกไปไกลกว่านั้นอีก อันเนื่องด้วยงบประมาณที่จำกัดจึงทุ่มไปกับการประดิษฐ์คิดค้นตัวแรกออกมาให้สำเร็จ และแน่นอนการที่จะต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ ให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่อเนื่องในระยะยาว ก็ต้องการเม็ดเงินลงทุนอีกมาก บางทีอาจจะมากกว่างบประมาณการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาหนึงอย่างเสียด้วยซ้ำ

 

โดยมากเรามักจะคุ้นเคยกับนวัตกรรมที่อยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ (Product innovation) เพราะเราเห็นและสัมผัสรับรู้ได้โดยง่าย อีกทั้งยังแพร่หลายทั้งที่วางขายในร้านค้าจริงและร้านค้าออนไลน์ จนคนจำนวนมากคิดว่านวัตกรรมต้องออกมาในรูปแบบสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นประโยชน์และขายอยู่ทั่วไปในตลาด แต่ในความเป็นจริงนวัตกรรมยังอยู่ในรูปแบบอื่นๆอีกมากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการใหม่ (Process innovation) หรือรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ (Business model innovation) ซึ่งเป็นวิธีการทำธุรกิจแปลกใหม่ที่ฉีกตำรา แหกกฎ หรือบางทีก็เป็นขบถของธรรมเนียมปฏิบัติเดิมๆที่เราคุ้นเคย โดยระเบียบปฏิบัติหรือข้อกฎหมายก็ตามไม่ทัน จนกลายเป็นข้อถกเถียงว่า กฎเกณฑ์ที่มีและไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงปรับปรุง อาจจะกลายเป็นกรอบที่มาจำกัดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆไม่ให้เกิดเสียด้วยซ้ำ

 

เป็นเรื่องที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศที่มีกรอบกฎเกณฑ์ หรือกติกาที่เข้มงวดเกินไป อีกทั้งยังมีกระบวนการแก้ไขทางกฎหมายที่ยุ่งยากซับซ้อน ต้องผ่านขั้นตอนและการพิจารณาที่นานและไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ถ้าเราไปดูประเทศพัฒนาแล้วที่มีผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมเกิดใหม่จำนวนมาก จนกลายเป็นประเทศที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตของคนในชาติได้อย่างมากมายมหาศาลนั้น มีจะมีอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ หรืออาจจะมีทั้งสองอย่างพร้อมกัน

 

อย่างแรกคือการควบคุมจำกัดจากรัฐที่น้อย และปล่อยให้เอกชนกำกับกันเองแบบเข้มงวด คำว่า “เข้มงวด” มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือต้องควบคุมกำกับกันเองแบบจริงจัง และมีบทลงโทษที่ทุกคนยอมรับและยอมทำตาม สมาคมวิชาชีพหรือสมาคมธุรกิจคือคณะกรรมการกลางที่คนส่วนใหญ่มาจากสาขาวิชาชีพนั้นๆ จะไม่เอื้อเฟ้อหรือเห็นแก่พวกพ้องร่วมสาขาวิชาชีพ หากแต่ให้ความสำคัญและจรรโลงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือในวิชาชีพของตนเอง พร้อมที่จะฟันใครก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ทุกคนร่วมร่างและแสดงความคิดเห็น ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป จะมีมาตรฐานที่ออกโดยสมาคมต่างๆมากมาย

 

อย่างที่สองคือมีรัฐที่เข้มแข็ง และมีกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนที่ไม่ต้องมาก แต่ยืดหยุ่นและแก้ไขได้อย่างรวดเร็วให้ทันยุคสมัยอยู่เสมอ อีกทั้งมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเข้มข้น ถ้ามองในแง่ของการกำกับดูแลรวมถึงบทลงโทษแล้ว ภาคเอกชนหรือประชาชนอาจจะไม่ค่อยสบายใจนัก แต่ถ้ากฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับมีความยืดหยุ่นและปรับปรุงแก้ไขให้ใหม่ ทันกับยุคสมัยอยู่เสมอ ก็จะไม่เกิดปรากฏการณ์ที่นวัตกรรมใหม่ไม่สามารถใช้ได้ในหลายประเทศ เพราะกฎหมายที่มีผูกขาดและปกป้องธุรกิจเดิมมากเกินไป อีกทั้งยังใช้งานกันมานานหลายทศวรรษ โดยไม่คิดจะแก้ไขปรับปรุงหรือกระบวนการแก้ไขก็ยุ่งยากซับซ้อน กว่าจะแก้ไขกฎหมายใหม่ได้ นวัตกรรมนั้นๆก็อาจจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยไปแล้ว ดังนั้นกระบวนการที่ล้าช้าก็คือตัวถ่วงความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมดีๆนี่เอง

 

สำหรับประเทศไทยผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมที่ไม่ได้ใหม่อะไรมากนัก (Incremental innovation) จึงเกิดขึ้นได้ไม่ยากภายใต้กฎเกณฑ์เดิมๆ แต่ถ้าเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Breakthrough อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงไปเกิดขึ้นในต่างประเทศ ทั้งๆที่บางผลงานก็คิดและสร้างโดยคนไทย ยิ่งถ้าเป็น business model ใหม่ๆ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายการดำเนินธุรกิจที่อาจต้องไปเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับกฎหมายหลายตัวในหลายกรมและกระทรวงแล้ว แทบจะเรียกว่ารอให้ต่างชาติเขาใช้จนหนำใจก่อน สักพักค่อยเข้ามาในไทยเมื่อพร้อม

 

ตัวอย่างในหลายประเทศที่นวัตกรรมทางธุรกิจจากกระแส sharing economy คือการแบ่งทรัพยากรที่แต่ละคนมีแต่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้ม มาแบ่งปันผู้อื่นที่ต้องการและก่อให้เกิดรายได้กับเจ้าของทรัพยากรนั้น ไม่ว่าจะแบ่งห้องในบ้านบางส่วนเป็นห้องเช่า สร้างรายได้จากบุคคลอื่นจากรถยนต์ของตัวเองโดยรับผู้อื่นร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งแน่นอนแนวคิดแบบนี้กระทบกับคนที่ทำธุรกิจที่พักห้องเช่า หรือรถรับจ้างสาธารณะอย่างแน่นอน แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็เลือกใช้วิธีการที่เปิดให้ทำได้ในขอบเขตที่จำกัด เช่น เปิดให้แบ่งห้องให้เช่าได้ไม่เกินกี่วันในหนึ่งปี และมีการจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นการทำธุรกิจอย่างเต็มตัวแต่เลี่ยงข้อกฎหมาย อีกทั้งยังไม่ไปทำลายธุรกิจเดิมที่ทำถูกกฎหมายทุกอย่าง

 

ดังนั้นรัฐต้องเลือกเอาว่าจะพัฒนาประเทศไปในรูปแบบใด ยังกำกับเข้มข้นแบบราชการเป็นศูนย์กลางอำนาจ หรือจะเปิดช่องให้ธุรกิจรวมกลุ่มเติบโตแข็งแรงและมีการกำกับตัวเองอย่างเข้มงวด สำหรับประเทศไทยไม่ว่าทางไหน ดูจะยังเป็นปัญหาทั้งสองแบบ คือฝ่ายเอกชนก็กำกับกันเองไม่ได้ ฝ่ายรัฐก็ไม่ค่อยทันกับสถานการณ์ จังหวะนี้เป็นช่วงเวลาที่ดี ที่ประชารัฐจะร่วมกันคิดและเลือกแนวทางที่ใช่ สร้างความมั่นใจให้แก่กัน หมดเวลาโยนความผิดกันไปมา หรือต่างฝ่ายต่างโทษกัน หันหน้ามาช่วยกันนวัตกรรมจึงจะเกิดขึ้นได้อย่างเร็ววันบนพื้นฐานที่มั่นคง