วิกฤติเกาหลี: ไม่มีทางออกที่ดี มีแต่ทางออกที่เลวน้อยที่สุด

วิกฤติเกาหลี: ไม่มีทางออกที่ดี มีแต่ทางออกที่เลวน้อยที่สุด

ทางออกจากวิกฤติเกาหลีเหนือไม่มี “ทางออกที่ดี” มีแต่ “ทางออกที่เลวน้อยที่สุด”

นั่นคือข้อสรุปของนักวิเคราะห์หลายสำนัก ที่พยายามมองหาหนทางที่จะป้องกัน ไม่ให้เกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ.... ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะกลายเป็นสงครามระดับโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้

ความเคลื่อนไหวของโดนัลด์ ทรัมป์คึกคักหลายด้าน นอกจากส่งกองเรือจู่โจมที่นำโดย USS Carl Vinson ตามด้วยเรือดำน้ำนิวเคลียร์ USS Michigan ไปคาบสมุทรเกาหลีแล้ว เขาก็ยังเชิญเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิก คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติมารับประทานอาหารเที่ยง

นอกจากนี้ก็ยังปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีกลาโหม กับประธานเสนาธิการทหารร่วม

และก็ยังกินข้าวเย็นกับวุฒิสมาชิกคนสำคัญ ของพรรครีพับบลิกันคือยอห์น แมคเคนและลินเซย์ กราแฮมแม้ว่าจะถูกสองคนนี้วิพากษ์วิจารณ์ เรื่องนโยบายต่างประเทศหลายด้านมาตลอดก็ตาม

อีกทั้งทรัมป์ก็ยังจะเชิญสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 100 คนมาฟัง “บรรยายสรุปลับ” ที่ทำเนียบขาวซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ประโยคที่ทรัมป์พูดระหว่างกินข้าวเที่ยงกับทูต จากประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงมีความหมายที่ตีความได้ไม่ยาก

“เราจะยอมรับสถานภาพแบบเดิมอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องลงมติ ให้มีการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือเพิ่มเติม เพื่อลงโทษที่ยังดำเนินการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธต่อเนื่อง...”

ทรัมป์บอกว่าเกาหลีเหนือเป็น “ภัยคุกคามต่อโลกอย่างแท้จริง ไม่ว่าเราพร้อมจะพูดถึงมันหรือไม่ก็ตาม เกาหลีเหนือเป็นปัญหาใหญ่ของโลก และเป็นปัญหาที่เราจะต้องแก้ไขในท้ายที่สุด ที่ผ่านมาหลายทศวรรษ ผู้คนปิดตาตัวเองมาตลอด บัดนี้ได้เวลาที่เราจะต้องลงมือแก้ไขอย่างจริงจังแล้ว”

วิเคราะห์ได้ว่าผู้นำสหรัฐฯกำลังบอกว่าวอชิงตันต้องการ “แก้ไขปัญหา” นี้ด้วย “ทุกทางเลือก...โดยไม่มีข้อยกเว้น” อันหมายความว่าหากจำเป็นต้องใช้กำลังหรืออาวุธก็จะใช้

นั่นคือสิ่งที่ผู้คนกลัวที่สุด และหวังว่าจะเป็นเพียงคำขู่เพื่อให้คิมจองอึนยอมเจรจาหาทางออก โดยไม่มีการชิงถล่มโจมตีหรือทำ pre-emptive strike กันก่อน

เพราะนั่นจะเป็น “ทางเลือกที่เลวร้ายที่สุด”

ส่วนทางเลือกที่ “ดี” ที่สุดคือทั้งอเมริกาและเกาหลีเหนือ ยอมถอยคนละก้าวเพื่อนำไปสู่การเจรจา หาทางลงจากการเผชิญหน้า

แต่เป็นทางออกที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะคิมจองอึนจะไม่ยอมสละอาวุธนิวเคลียร์ของตน และสหรัฐฯ ก็จะไม่ยอมถอนทหารและอาวุธทั้งหลายทั้งปวงจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นตามที่ “คิมน้อย” ตั้งเป็นเงื่อนไข

ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงมองหา “ทางออกที่เลวร้ายน้อยที่สุด” ซึ่งก็คือการที่ประชาคมโลกจะกดดันให้เกาหลีเหนือยอม “แช่แข็ง” การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทำอยู่เท่าไหร่อย่างไรก็ให้หยุดแค่นั้น และให้สหรัฐยุติการซ้อมรบประจำปีกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

สหประชาชาติอาจไม่ใช่กลไกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในกรณีนี้ เพราะแม้คณะมนตรีความมั่นคงจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเพื่อลงโทษเปียงยาง ก็คงจะไม่มีผลกดดันให้เกาหลีเหนือล้มเลิกการเดินหน้าพัฒนานิวเคลียร์ต่อไป

เพราะคิมน้อยกลัวจะเจอชะตากรรมคล้ายกับซัดดัม ฮุสเซนของอิรัก และกัดดาฟีของลิเบียที่ท้ายที่สุดก็ถูกสังหาร

ที่เป็นเช่นนี้คิมน้อยเชื่อว่าเป็นเพราะทั้งสองประเทศนั้น ไม่มีอาวุธร้ายแรงพอที่จะต่อรองกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ

จีนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการที่จะทั้งโน้มน้าว และกดดันเกาหลีเหนือให้ยอมถอย พร้อมกับคำรับรองว่าจะไม่มีการบุกเข้ายึดครองประเทศนั้น และจะไม่เอาชีวิตของคิมน้อยอย่างที่เจ้าตัวหวั่นเกรงตลอดเวลา

แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าการใช้แรงกดดัน และโน้มน้าวของปักกิ่งต่อเปียงยางจะเริ่มเห็นผลในขั้นต้น

ระดับความตึงเครียดจึงเพิ่มขึ้นตามลำดับ...ซึ่งเป็น “ทางออกที่เลวร้ายไปเรื่อย ๆ”

และเป็นทิศทางอันไม่พึงปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง