คนงานดิจิทัล : เสรีชน หรือทาสสมัยใหม่ของเทคโนโลยี 4.0 ?

คนงานดิจิทัล : เสรีชน หรือทาสสมัยใหม่ของเทคโนโลยี 4.0 ?

ในปัจจุบัน สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ส่วนตัว และแทบเล็ตกลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ของ “คนงานดิจิทัล”

 ไม่ว่าจะเป็นนักข่าว นักเขียน บล็อกเกอร์​ นักออกแบบ นักวิชาการ ฯลฯ

คนงานดิจิทัล ยังอาจรวมไปถึงผู้ให้บริการผ่านระบบออนไลน์ เช่น บริการลูกค้าสัมพันธ์ผ่านแชท หรือแม้กระทั่งผู้ให้บริการขนส่งส่วนบุคคลในระบบแพลทฟอร์ม อิโคโนมี (platform economy) อย่างแกร็บหรืออูเบอร์ ที่จำเป็นต้องพึ่งสมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่น เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ในการรับงาน ไม่ต้องพูดถึงอินเทอร์เน็ต ที่กลายเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของสังคมโดยรวม

สิ่งที่เรียกว่า “อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things)” ​ยังเอื้อให้เกิดคนกลุ่มใหม่ ที่เรียกตัวเองว่า “ดิจิทัลโนแมดส์ (digital nomads)” หรือนักเดินทางที่ไลฟ์สไตล์และรูปแบบการทำงาน ไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของเวลาและสถานที่ ตราบเท่าที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและคอมพิวเตอร์ให้ใช้

สาธารณูปโภคดิจิทัลจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดเวลาและสถานที่การทำงานของคนงานในโลก 4.0

ในแง่หนึ่ง เทคโนโลยีแบบดิจิทัลช่วยลดอุปสรรคเรื่องเวลาและสถานที่ลง และดูเหมือนเพิ่ม “อิสรภาพ”​ ให้คนทำงานสามารถเลือกกาละและเทศะการทำงานให้ตัวเองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่มุม เส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานกลับพร่าเลือนมากยิ่งขึ้น กลับกลายเป็นว่า คนจำนวนมากกำลังสูญเสียความสามารถของตนในการขีดเส้นแบ่งแยกงานออกจากการพักผ่อน

รายงานศึกษาสภาพการทำงานและชีวิตของคนงานดิจิทัล ที่ชื่อ “Working anytime, anywhere: the effects on the world of work” ที่จัดทำโดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ร่วมกับกองทุนยุโรปเพื่อการปรับปรุงสภาพการทำงานและชีวิต เผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เปิดเผยถึงผลเสียหลายประการของลักษณะงานดิจิทัล ไม่ว่าแนวโน้มที่คนต้องทำงานนานขึ้น การซ้อนทับระหว่างชีวิตส่วนตัวและงานซึ่งนำไปสู่โรคเครียด และโอกาสที่จะเกิดโรคนอนไม่หลับของคนที่ทำงานจากบ้านสูงถึง 42% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ทำงานในสำนักงาน ที่มีความเสี่ยงเพียง 29%

การสำรวจคนทำงานผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลใน 15 ประเทศของยุโรป ซึ่งรวมไปถึง 10 ประเทศในสหภาพยุโรป เปิดเผยทั้งผลกระทบเชิงบวกและลบของงาน ผลกระทบที่เป็นบวก ได้แก่ คนจำนวนมากลดช่วงเวลาของการเดินทางไปทำงาน เพิ่มผลิตภาพในการผลิต และมีความยืดหยุ่นในการจัดการเวลาในชีวิตประจำวันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนรายงานฉบับดังกล่าวพยายามชี้ให้เห็นถึงอันตรายในด้านสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพจิต และแนะนำให้คนงานดิจิตอลตระหนักถึงความจำเป็นในการ “ถอดการเชื่อมโยง”​ หรือจำกัดเวลาการทำงาน โดยออกจากการเชื่อมโยงกับระบบออนไลน์ เพื่อสร้างเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน

ความกังวลต่อผลกระทบแง่ลบในชีวิตของคนงานยุค 4.0 ทำให้มีการเสนอมาตรการ เพื่อคุ้มครองสิทธิ และสวัสดิการของคนทำงานในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้นปี 2560 รัฐบาลฝรั่งเศส เพิ่งประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิที่คนงานจะหยุดการเชื่อมต่อ (right to disconnect) เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของคนงาน ทั้งนี้ กฎหมายระบุว่าคนงานในสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป สามารถปฏิเสธไม่เช็คข้อความหรือจดหมายอิเล็คทรอนิกส์เกี่ยวกับงาน ระหว่างที่ออกจากที่ทำงาน ประเทศในเอเชียอย่างเช่น เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ก็กำลังพิจารณาที่จะออกกฎหมายในลักษณะเดียวกัน

ในการเสวนา “ล้านนา 4.0 กับคนงานทุกเวลา สถานที่”​ โดยสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ร่วมกับมูลนิธิสื่อประชาธรรม และสนับสนุนโดย พิพิทธภัณฑ์แรงงานไทยและมูลนิธิฟรีดริก เอแบร์ท เมื่อวันเสาร์ที่ 22 เมษายน 2560 ณ. ห้างเซ็นทรัลแอร์พอร์ต จ. เชียงใหม่ วิทยากรที่เป็นคนงานดิจิทัลจากหลายสาขาอาชีพ ได้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการทำงาน ของคนงานดิจิทัลที่เปลี่ยนไป ทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่จำกัดเพียงการสื่อสารผ่านหน้าจอ การต้องทำงานเหมือนหนูถีบจักรตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด และการสูญเสียอำนาจต่อรองของผู้ให้บริการในโลกดิจิทัลไปให้ผู้บริโภค ผ่านระบบการประเมินบริการแบบเรตติ้ง

นอกจากประเด็นเรื่องการต้องทำงานทุกที่ทุกเวลาแล้ว คนงานดิจิทัลยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญอื่นๆ เช่น ความไม่มั่นคงในการทำงาน เมื่อหลายอุตสาหกรรมเลือกที่จะเปลี่ยนวิธีการจ้างงานจากสัญญาจ้างประจำเป็นการจ้างเป็นรายชิ้น ส่งผลให้คนงานดิจิตอลจำนวนมากกลายเป็น “แรงงานนอกระบบ”​ ไม่ได้รับการคุ้มครองจากฎหมายฯ ที่ยังคงยึดติดกับความหมายของแรงงานในกรอบของการทำงานแบบดั้งเดิม

ขณะที่เทคโนโลยีใหม่ทำให้โลกการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีพลวัตรไม่หยุดนิ่ง รูปแบบการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างซับซ้อนมากขึ้น

ตัวคนงานเอง องค์กรของแรงงาน และภาครัฐ จำเป็นจะต้องติดตามและทำความเข้าใจประเด็นแรงงานดิจิทัลอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือให้ทัน และอุดช่องว่างของการกำกับดูแล รวมถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงานให้กับคนงานกลุ่มใหม่นี้ ที่กำลังกลายเป็นกรรมกรยุคดิจิทัลโดยไม่รู้ตัว

อีก 4 วัน ก็จะถึง “เมย์เดย์​” หรือวันกรรมกรสากล ขอเชิญชวนกรรมกรดิจิทัลทั้งหลาย ถอดการเชื่อมโยงบนโลกออนไลน์ แล้วออกไปร่วมยืนยันความเป็นแรงงานในวันของพวกเรา