ต่างชาติซื้อพันธบัตรรัฐบาล 6.63 พันล้าน

ต่างชาติซื้อพันธบัตรรัฐบาล 6.63 พันล้าน

ต่างชาติซื้อสุทธิ พันธบัตรรัฐบาลในเดือน มี.ค.ราว 6.63 พันล้านบาท

ตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ได้รับอิทธิพลจากตลาดเงินและการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของหลายประเทศสำคัญ โดยความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินของสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) หลายท่านออกมาให้ความเห็นในเชิงสนันสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 14-15 มี.ค. ว่ามีความเหมาะสม และผลการประชุมก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ กล่าวคือมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75-1.00% และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ โดย FOMC ระบุว่าตลาดแรงงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์เติบโตได้ดี การขยายตัวของการจ้างงานแข็งแกร่ง

ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% และยังมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ให้คงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 4.35 แสนล้านปอนด์ และคงวงเงินซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ระดับ 1 หมื่นล้านปอนด์

ส่วนผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ กล่าวคือคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0%, คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.4% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% ขณะเดียวกัน ECB ได้ประกาศคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนจนถึงสิ้นเดือนมี.ค ก่อนที่จะปรับลดลงสู่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่เดือนเม.ย. - ธ.ค. โดยการปรับลดวงเงินการซื้อพันธบัตรในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เป็นไปตามที่ ECB เคยประกาศไว้ในการประชุมเดือนธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ยังส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากแรงหนุนเงินเฟ้อในยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับต่ำ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยฉพาะ 10-Year US Treasury ปรับตัวขึ้นจากเดือนก.พ. มาแตะระดับ 2.60% ในช่วงกลางเดือนมี.ค. ก่อนการประชุม FOMC หลังจากนั้น Yield กลับปรับตัวลดลง เนื่องจากไม่มีสัญญาณใหม่เพิ่มเติมจาก FOMC ตลอดจนความกังวลต่อแนวโน้มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ทรัมป์ หลังจากพรรครีพับลิกันถอนร่างกฎหมายประกันสุขภาพออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเนื่องจากขาดเสียงสนับสนุน และกังวลต่อถึงอุปสรรคในมาตรการที่ตลาดฝากความหวังไว้สูง เช่น แผนปฏิรูปภาษีและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน US Treasury ปรับลดลงมา โดย 10-Year US Treasury ปรับลดลงมาต่ำกว่า 2.40% สะท้อนความไม่เชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าว

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ และมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2560 เป็นเติบโต 3.4% จากเดิม 3.2% ในขณะที่ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาอยู่ที่ 1.2% จากเดิม 1.5%

ตลาดพันธบัตรรัฐบาลของไทยได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวของตลาดสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรช่วงอายุ 3-20 ปี ปรับตัวขึ้น 0.04-0.14% ในช่วงกลางเดือน ก่อนที่จะปรับลดลงมาสู่ระดับเดิม เนื่องจากมีกระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อ และตารางปริมาณเสนอขายพันธบัตรระยะยาวในไตรมาสหน้าที่ลดลง รวมถึง ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตารางการเสนอขายพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนเม.ย. ที่มีจำนวนลดลง เนื่องจากต้องการสกัดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาพักเงินระยะสั้น ตลอดทั้งเดือนมี.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 6.63 พันล้านบาท