Internet of Things : คลื่นลูกใหม่ไฟกระพริบ

Internet of Things : คลื่นลูกใหม่ไฟกระพริบ

นับตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 เป็นต้นมา โครงสร้างเศรษฐกิจและการค้าโลกได้เปลี่ยนแปลงไป

 ทำให้เราได้เห็นภาพการค้าโลกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง นอกจากนี้ วัฏจักรเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ และภาวะการลงทุนที่ซบเซาต่างเข้าซ้ำเติม ให้เกิดมรสุมโหมกระหน่ำภาคส่งออกของเอเชียนานเกือบ 2 ปี แต่ในช่วงต้นปีก่อนการส่งออกในหลายกลุ่มสินค้าเริ่มมีสัญญาณค่อยๆ ปรับดีขึ้น นำโดยกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าโภคภัณฑ์ และอาหาร ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่น น้ำมันและโลหะต่างๆ ที่กลับมาฟื้นตัว บวกกับกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในหลายประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกรวมของภูมิภาคเอเชียก็ดูจะมีแรงส่งจากตัวเองด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่เข้ามาช่วยปลุกชีพจรการส่งออก ของภูมิภาคให้กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่องได้อีกครั้ง 

โดยตลาดมองว่า การฟื้นตัวของกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นผลสำคัญจากการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความแพร่หลายของอินเทอร์เน็ต มาปรับใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มต่างๆ ใน วงกว้างนอกเหนือจากสมาร์ทโฟน พร้อมทั้งมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ให้ทำงานร่วมกันได้ ก่อให้เกิดเป็นกระแสการเติบโตระลอกใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาท ต่อการเติบโตของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในอีกหลายปีข้างหน้า

การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลแก่กันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต Sensor หรือช่องทางอื่นๆ มาเป็นที่รู้จักกันในชื่อของยุค “Internet of Things (IoT)” IoT ไม่ใช่ประเด็นใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2542 โดย Kevin Ashton ที่พัฒนา Radio Frequency Identification (RFID) เพื่อนำคลื่นวิทยุมาเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์สื่อสาร ถือเป็นจุดกำเนิดของการรับส่งข้อมูลแบบไร้สาย และหลังจากนั้นก็มีการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีซึ่งทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนทำให้เราได้ยินจนคุ้นหูกับอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) ซึ่งครอบคลุมอุปกรณ์เกือบทุกชนิดรอบตัวเรา ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น เพื่อสนองตอบต่อพฤติกรรมการบริโภคในสังคมยุคใหม่ที่ต้องทันสมัยและสะดวกสบาย

แล้ว IoT เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนทั่วไปมากแค่ไหนและมีอนาคตที่จะเติบโตได้อย่างไร? ในปัจจุบันสินค้า IoT ไม่ใช่เพียงแค่สมาร์ทโฟนอย่างเดียวเท่านั้น หากจำแนกสินค้า IoT ตามผู้ใช้งานจะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้บริโภค ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ที่ใช้สวมใส่ต่างๆ เช่น นาฬิกาดิจิทัลและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์บันเทิงที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับทีวีและเครื่องเสียง กุญแจรถและระบบทำงานอัตโนมัติในรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะต่างๆ เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ระบบควบคุมอุปกรณ์ภายในบ้าน และอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมาย 

ซึ่งผลสำรวจจาก IoT Analytics พบว่าแนวโน้มความนิยมของสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลุ่มที่สองคือกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าหลากหลายสินค้า IoT จะเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่บริษัทวิจัยชื่อดังอย่างGartner ประเมินว่า IoT ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะข้างหน้าในอัตราเร่งที่ ร้อยละ 30-35 ต่อปี โดยคาดว่าภายในปี 2563 จะมีการผลิต Smart Devices เพิ่มสูงขึ้นกว่า 20 พันล้านชิ้น 

จากปัจจุบันที่ผลิตเพียงปีละ 6-7 พันล้านชิ้น ซึ่งจะมากกว่าจำนวนการผลิตโทรศัพท์มือถือกว่า 10 เท่าตัว และหากคิดเป็นเม็ดเงิน ลำพังแค่มูลค่าของอุปกรณ์ IoT ที่เป็นฮาร์ดแวร์ซึ่งยังไม่นับรวมมูลค่าการบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงนี้ จะสร้างมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญ สรอ. หรือมีมูลค่ามากกว่าขนาดของเศรษฐกิจไทยถึงกว่า 6 เท่าตัว

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นการส่งออกของภูมิภาคเอเชียขยายตัวต่อไปได้จากกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ “วัฏจักรเทคโนโลยีระลอกใหม่ของ IoT” นี้ โดยเฉพาะชิ้นส่วนจำเป็นในการผลิตสินค้า IoT เช่น Sensor ที่ทำงานเสมือนเป็นหูเป็นตาติดต่อสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆ ระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือกระทั่งเครื่องมือบอกพิกัดตำแหน่ง GPS ไมโครชิปที่ทำงานดั่งสมอง หน่วยเก็บความจำต่างๆ เช่น NAND และ DRAM และหน้าจอแสดงผลอย่าง OLED และ LCD ตลอดจนแบตเตอรี่ขนาดจิ๋วที่ทำงานเป็นเสมือนหัวใจของอุปกรณ์ 

อย่างไรก็ตาม IoT ในปัจจุบันยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่สนใจ (Niche Market) ซึ่งยังไม่มีจำนวนผู้ใช้รองรับการผลิตขนาดใหญ่ได้มากเพียงพอ และด้วยความหลากหลายของอุปกรณ์ IoT จึงยังไม่มีมาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนที่สามารถนำมาใช้งานกับอุปกรณ์จำนวนมากเหมือนกับสมาร์ทโฟน หรือการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในตลาดนี้อย่างจริงจัง ฉะนั้น การคิดค้นการใช้งานที่โดนใจผู้ใช้ (Killing App) อย่างเช่น iPhone เมื่อปี 2550 จะทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่คุ้มค่าต่อการวิจัยและลงทุนในการผลิต และจะมีการพัฒนาสินค้าทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างแพร่หลาย ซึ่งจะปลดปล่อยให้การส่งออกอุปกรณ์และชิ้นส่วนสินค้า IoT เติบโตอย่างก้าวกระโดดขึ้นได้อีก

การส่งออกอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับ IoT จึงเป็นกระแสที่น่าจับตามองในช่วงนี้ หากเราย้อนกลับมาดูประเทศไทยจะพบว่า การส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน โดยเฉพาะจากสินค้าประเภทวงจรรวม (Integrated Circuits: IC) ซึ่งเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญ ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 ของการส่งออกไทย การฟื้นตัวของสินค้า IC 

ส่วนหนึ่งเป็นไปตามแนวโน้มของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือที่ขยายตัว ประกอบกับรอบวัฏจักรเทคโนโลยีระลอกใหม่ตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น และคาดว่าจะยาวนานขึ้นจากการนำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ในสินค้าอื่นๆ นอกเหนือจากสมาร์ทโฟน เช่น กลุ่มยานยนต์ ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยก็ได้รับประโยชน์จาก IoT อยู่บ้าง มองไปข้างหน้าในยุค Thailand 4.0 

นับว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทย ที่จะเร่งยกระดับความสามารถให้ทัดเทียมกับผู้ผลิตรายอื่นในภูมิภาคเอเชีย ทั้งความพร้อมทางด้านคุณภาพแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และความง่ายในการดำเนินธุรกิจหรือการเริ่มต้น Start-up รวมทั้งเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ เพื่อให้ไทยสามารถเกาะขบวนรถไฟเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญ รองรับวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ระลอกใหม่นี้ และรักษาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว 

เพื่อให้ได้เห็นการส่งออกไทยขยายตัวเกาะ “คลื่นลูกใหม่ไฟกระพริบ” แบบโดดเด่นมากกว่าช่วงที่ผ่านมา