ผู้ประกอบการเพื่อสังคม และนวัตกรรมเพื่อสังคม

ผู้ประกอบการเพื่อสังคม และนวัตกรรมเพื่อสังคม

ในยุคที่เราเริ่มจะเข้าใจกันแล้วว่า การที่ธุรกิจให้ความสนใจกับบริบทการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคมนั้น

จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืน เมื่อเทียบกับธุรกิจที่มุ่งแสวงหาผลตอบแทนสำหรับธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว

จึงเกิดศัพท์ใหม่ขึ้นอีกอย่างน้อย 3 คำ ที่คนทั่วไปจะดูว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่แตกต่างกันพอสมควร

3 คำที่ว่านี้ ได้แก่คำว่า ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social entrepreneur) วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social enterprise) และคำว่า นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation)

ผู้ประกอบการเพื่อสังคม หมายถึงบุคคลที่มีความมุ่งมั่นและความตั้งใจที่จะลงทุนลงแรงของตนเองเพื่อทำกิจกรรมใดๆ ทั้งในรูปของธุรกิจที่แสวงหากำไร เพื่อนำกำไรที่เกิดขึ้นไปใช้เพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม และในรูปของธุรกิจหรือกิจการที่ไม่แสวงหากำไร ที่ดำเนินการโดยมีเป้าหมายหลักไปเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น

ในบางครั้ง อาจเรียกได้ว่า นักทำกิจกรรมเพื่อสังคม ก็เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมประเภทหนึ่งได้

วิสาหกิจเพื่อสังคม หมายถึง ธุรกิจการพาณิชย์ที่จดทะเบียนโดยทั่วไป หรือจดทะเบียนโดยเฉพาะสำหรับดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่ต้องการนำผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคม โดยเงินลงทุนที่ไม่ใช่เงินบริจาค แต่เป็นการลงทุนเชิงพาณิชย์

วิสาหกิจเพื่อสังคม อาจมีเป้าหมายเฉพาะด้าน เช่น เพื่อดูแลผู้ด้อยโอกาส ในด้านสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย โภชนาการ การศึกษา หรือบริการทางการเงิน รวมไปถึงการช่วยแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมในสังคม และการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ส่วน นวัตกรรมเพื่อสังคม มีความหมายในนัยยะที่กว้างกว่าทั้ง 2 คำที่กล่าวมา

โดยจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม กิจกรรมที่ดำเนินการนั้น ยังคงมีหลักสำคัญกับการดำเนินการภายในเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการก่อน แล้วจึงถ่ายทอดผลลัพท์เหล่านั้นไปสู่สังคมเมื่อเกิดผลลัพท์ตามเป้าหมายที่วางไว้

การทำนวัตกรรมเพื่อสังคม จะให้ความสำคัญไปที่การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีขึ้นโดยใช้กระบวนการนวัตกรรม ได้แก่ การนำความรู้หรือเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีคุณค่า

ดังนั้น นวัตกรรมเพื่อสังคม จึงเกิดขึ้นได้จากกลุ่มบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย องค์กรไม่แสวงหากำไร หรือจากภาคธุรกิจ รวมถึง เครือข่ายความร่วมมือขององค์กรต่างๆ เหล่านี้

ในส่วนของ “ความใหม่” จากนวัตกรรมเพื่อสังคม มักจะเปรียบเทียบกับวิธีการดำเนินการทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันภายใต้กฎหมายหรือการควบคุมดูแลที่ไม่ทั่วถึงจากบริการภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณไปโดยไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมได้

นวัตกรรมเพื่อสังคม จึงมุ่งเป้าหมายหลักไปที่การลดความเหลื่อมส้ำของสังคม

ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของนวัตกรรมเพื่อสังคมก็คือ นวัตกรรมนี้อาจเกิดขึ้นได้จากผู้ด้อยโอกาสที่เป็นสมาชิกในสังคมก็ได้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ แต่อาจใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมโดยอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านมาประกอบ

เราจึงมักเห็นนวัตกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ มากมายที่จะทำให้การดำเนินชีวิตในสังคมดีขึ้นโดยใช้งบประมาณที่ต่ำกว่าหรือพอจะหาได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำกะละมังโลหะมารับสัญญาณโทรทัศน์ การประดิษฐ์รถอีแต๋น ฯลฯ

ก็อาจถือว่าอยู่ในข่ายของการสร้าง นวัตกรรมโดยสังคมเพื่อสังคม ก็ได้!