ทรัมป์จะประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่? (4)

ทรัมป์จะประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่? (4)

ครั้งที่แล้วผมเล่าถึงปัญหาการผ่านกฎหมายของสหรัฐ ว่ามักจะเกิดขึ้นที่วุฒิสภา

 เพราะวุฒิสมาชิกมีอำนาจอภิปรายโดยไม่ถูกจำกัดเวลา (filibuster) เว้นแต่วุฒิสมาชิก 60 คนจะเห็นชอบให้จำกัดเวลาอภิปราย แต่เนื่องจากเสียงในวุฒิสภาก้ำกึ่งกันเสมอมา ระหว่างพรรคเดโมแครทกับพรรครีพับลิกัน ดังนั้นหากร่างกฎหมายใดมีเสียงสนับสนุนไม่ถึง 60 เสียงในวุฒิสภา ก็มีความเสี่ยงสูงที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ถูกนำไปพิจารณาในวุฒิสภา เพราะเกรงว่าจะต้องเผชิญกับ filibuster ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องตกไป

ต่อมาจึงได้มีความพยายามลดทอนอำนาจ การอภิปรายไม่จำกัดเพื่อยับยั้งกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายด้านการเงิน ซึ่งรัฐสภาสหรัฐมีปัญหาอย่างมากในการผ่านกฎหมายงบประมาณประจำปี ให้ได้ทันเวลากับการเริ่มต้นของปีงบประมาณในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี แม้ว่าประธานาธิบดีจะนำส่งร่างกฎหมายงบประมาณในปีถัดไปให้ถึงมือรัฐสภาในเดือนมกราคมของทุกปี จากสถิติในอดีตพบว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา (จากปี 1977) รัฐสภาสหรัฐผ่านกฎหมายงบประมาณประจำปีได้ตรงเวลาที่ก่อนการเริ่มต้นของปีงบประมาณ (คือ 1 ตุลาคม) เพียง 4 ครั้งและมีปัญหาทำให้รัฐบาลต้องปิดตัวเองลงชั่วคราว 18 ครั้งระหว่างปี 1976-2013 จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งในวุฒิสภาพร้อมกับจำกัดเวลาในการอภิปรายไม่เกิน 20 ชม.ในบางกรณี ซึ่งในส่วนของงบประมาณนั้นเรียกว่าการใช้กระบวนการ Budget Reconciliation หรือการคาดการณ์งบประมาณระยะยาว 10 ปี ซึ่งตราบใดที่การลดภาษีนั้นสามารถหาแหล่งรายได้อื่นมาทดแทน ทำให้ไม่มีการขาดดุลเพิ่มก็จะอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่งในวุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวได้โดยจำกัดการอภิปรายไม่เกิน 20 ชม.

กล่าวคือหากจะมีการลดภาษีในด้านหนึ่ง ก็จะต้องพยายามหารายได้มาทดแทน (หรือลดรายจ่าย) ในอีกส่วนหนึ่งเพื่อมิให้ภาพรวมของการประเมินแนวโน้มของการขาดดุลงบประมาณในอีก 10 ปีข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไปจากการประเมินภายใต้เงื่อนไข Budget Reconciliation เดิมที่ได้เคยตกลงกันเอาไว้ก่อนหน้านี้ (Byrd Rule 1985)

หมายความว่าเมื่อความพยายามในยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพของโอบามาต้องล้มเหลวไปรัฐบาลทรัมป์สูญเสียการที่จะลดการขาดดุลงบประมาณไป 1 ล้านล้านเหรียญ ทำให้อาจต้องลดขนาดของการลดภาษีและงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานลงไปอีก 1 ล้านล้านเหรียญ นอกจากนั้นแหล่งหารายได้ภาษีใหม่ที่สำคัญที่เสนอโดยประธานพอลล์ ไรอัน คือภาษีเก็บที่ชายแดน (Border Adjustment Tax หรือ BAT) ก็ถูกต่อต้านโดยสส.และสว.บางคนในพรรครับลิกันและประธานาธิบดีทรัมป์กับรัฐมนตรีคลังนาย Mnuchin ก็ไม่ค่อยอยากสนับสนุนอีกด้วย ที่สำคัญคือภาษี BAT 20% ที่นายไรอันเสนอนั้น พรรคเดโมแครตไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ทำให้สรุปได้ว่าพรรครีพับลิกันอาจต้องหาแหล่งรายได้ใหม่ให้กับรัฐบาล 2 ล้านล้านเหรียญใน 10 ปีข้างหน้า มิฉะนั้นแล้วก็จะมิสามารถเสนอให้ลดภาษีรายได้นิติบุคคลและการเพิ่มงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ เพราะจะไม่เข้าข่าย Budget Reconciliation จึงจะสามารถถูก filibuster ในวุฒิสภาได้

ประเด็นปัญหาข้างต้นนั้นหากแก้ไขไม่ได้ ก็จะทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เคยคุยหาเสียงเอาไว้ว่า massive นั้นอาจจะกลายเป็นขนาดย่อมก็ได้ หรืออาจจะต้องใช้เวลายืดเยื้อนานกว่า 3-4 เดือนที่นักลงทุนกำลังคาดหวังกันอยู่ในขณะนี้ ตัวอย่างเช่นเมื่อครั้งสุดท้ายที่มีการปฏิรูประบบภาษีภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรแกน (สมัยที่ 2) นั้นต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี จากปี 1984 ถึง 1986 กว่าจะคลอดกฎหมายลดภาษีออกมาได้ แม้ว่าประธานาธิบดีเรแกนในสมัยที่ชนะการเลือกตั้งในสมัยที่ 2 นั้นจะมีเสียงประชาชนสนับสนุน (จาก Gallup Poll) ประมาณ 56-60% ในช่วง 1984-1986 สูงกว่าประธานาธิบดีทรัมป์อย่างมากที่ได้เสียงสนับสนุนเพียง 37-40% ตั้งแต่รับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา 

แต่หากการออกกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเชื่องช้าออกไป จนต้องมีการเลือกตั้งในปี 2018 ก็มีความเสี่ยงว่าสส.พรรครีพับลิกันประมาณ 23 คนในเขตของมลรัฐที่ฮิลลารี คลินตันชนะเสียงข้างมาก (ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา) จะเสี่ยงต่อการพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งพรรคเดโมแครต ซึ่งจะยิ่งทำให้การผ่านกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจยิ่งมีความยากลำบากมากขึ้น หากต้องทอดเวลาออกไปในอนาคตครับ