ไขข้อสงสัย ได้เงินภาษีคืนหรือจ่ายเพิ่ม ควรดีใจกว่ากัน?

ไขข้อสงสัย ได้เงินภาษีคืนหรือจ่ายเพิ่ม ควรดีใจกว่ากัน?

ไขข้อสงสัย ได้เงินภาษีคืนหรือจ่ายเพิ่ม ควรดีใจกว่ากัน?

ท่านผู้อ่านคงยื่นภาษีประจำปี 2559 เรียบร้อยแล้วนะครับ บางท่านก็ได้รับเงินภาษีคืน บางท่านก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม แล้วการได้เงินคืนหรือจ่ายเพิ่มอย่างไหนเราควรดีใจกว่ากันและทำอย่างไรถึงจะได้คืนหรือจ่ายเพิ่มวันนี้เรามาไขข้อสงสัยเพื่อจะได้วางแผนภาษีในปีต่อไปได้อย่างตรงใจที่สุดครับ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คนที่ได้เงินภาษีคืนมากกว่า ไม่ได้แปลว่าคนนั้นจ่ายภาษีน้อยกว่าแต่อย่างใด สมมุตินายเรือบินได้รับเงินคืนภาษี 20,000 บาท ขณะที่นายรถยนต์ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม 10,000 บาทในการยื่นภาษีประจำปี ทั้งนี้นายเรือบินอาจมีภาระภาษีมากกว่า (หรือจำนวนภาษีที่จ่ายทั้งหมด มีจำนวนมากกว่า) นายรถยนต์ก็ได้

ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจระหว่าง “ภาระภาษีที่ต้องจ่าย” และ “จำนวนภาษีที่ได้คืนหรือจ่ายเพิ่ม” และวิธีวางแผนจัดการทั้งสองอย่างนี้

ภาระภาษีที่ต้องจ่าย” เกิดจากการนำรายได้ทั้งปี หักลบด้วยค่าลดหย่อนต่างๆ เช่นค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนบุตร เงินประกันสังคม ค่าซื้อ LFT/RMF ค่าซื้อเบี้ยประกันชีวิต ฯลฯ กลายเป็นเงินได้สุทธิแล้วจึงนำมาคำนวณอัตราภาษี (ดูรายการและเงื่อนไขค่าลดหย่อนปีภาษี 2560 ทั้งหมดได้จาก www.itax.in.th/pedia/ค่าลดหย่อน และอัตราภาษีปี 2560 ได้จาก www.itax.in.th/pedia/อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) ดังนั้นการลดภาระภาษีให้มากที่สุด จึงทำได้โดยการวางแผนใช้สิทธิค่าลดหย่อนประเภทต่างๆ ให้ถูกต้อง เลือกชนิดการหักค่าใช้จ่าย เลือกปล่อยหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือเลือกรวมคำนวณในรายได้บางประเภท ให้คำนวณออกมาแล้วภาระภาษีน้อยที่สุด ฯลฯ ดังที่ผมเขียนบทความ 7 ขั้นตอนยื่นภาษีอย่างไร ให้ได้เงินคืนสูงสุด? ในกรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560

เรื่องที่เข้าใจผิดกันบ่อยคือหากอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 15% หมายความว่าต้องจ่ายภาษี 15% ของเงินได้สุทธิ ซึ่งไม่ถูกต้อง ที่ถูกคือต้องคำนวณแบบขั้นบันได เช่นนายเรือบิน มีเงินได้สุทธิ 600,000 บาท ช่วงเงิน 1-150,000 บาท ไม่ต้องจ่ายภาษี ช่วงเงินได้ 150,001-300,000 บาท ให้คำนวณด้วยอัตรา 5% (เป็นภาษี 7,500 บาท) ช่วง 300,001-500,000 บาทใช้อัตรา 10% (ภาษี 20,000 บาท) และช่วง 500,001-600,000 บาทใช้อัตรา 15% (ภาษี 15,000 บาท) รวมแล้วมีภาระภาษี 42,500 บาท ซึ่งเป็นอัตราเพียง 7.08% ของเงินได้สุทธิรวม

ในส่วนของ “ภาษีที่ได้คืนหรือจ่ายเพิ่ม” เกิดจากนายจ้างหักภาษีจากเงินได้ของเราและนำส่งเกินกว่าภาระภาษีที่ต้องจ่ายจริงๆ เช่นนายเรือบินมีภาระภาษีที่แท้จริง 42,500 บาท แต่นายจ้างหักภาษีไว้ 62,500 บาท จึงทำให้นายเรือบินได้เงินภาษีคืน 20,000 บาทเมื่อยื่นภาษีประจำปี ในทางกลับกันหากนายรถยนต์มีรายได้เท่ากันและเดิมมีภาระภาษีเท่ากันคือ 42,500 บาท แต่นายรถยนต์วางแผนภาษีเพิ่มเติมจากนายเรือบินโดยซื้อกองทุน LTF มากกว่า ทำให้ภาระภาษีของนายรถยนต์เหลือเพียง 32,500 บาท และนายจ้างหักภาษีของนายรถยนต์ไว้เพียง 22,500 บาท จึงทำให้นายรถยนต์ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม 10,000 บาทเมื่อยื่นภาษีประจำปีนั่นเอง

การให้นายจ้างหักภาษีน้อยที่สุด ทำได้โดยแจ้งขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประจำปีกับนายจ้างให้มากที่สุด โดยกฎหมายอนุญาตแจ้งใช้สิทธิเต็มที่ได้ทุกหมวด (เช่นแจ้งว่าเรามีแผนซื้อประกันชีวิตในปีนี้ 100,000 บาทเต็มสิทธิ แม้ว่าเมื่อสิ้นปีเราอาจไม่ได้ซื้อเลย หรือซื้อไม่ถึง 100,000 บาทก็ตาม) ยกเว้นเพียงหมวดบริจาค ที่ห้ามแจ้งขอใช้สิทธิล่วงหน้า (ต้องแจ้งหลังจากเกิดการบริจาคจริงแล้วเท่านั้น)

ถ้าพูดภาษานักลงทุน “การได้ภาษีคืน” เกิดจากนำเงินไปฝากไว้กับรัฐก่อนโดยไม่ได้ดอกเบี้ยและขอคืนภายหลังสิ้นปี แต่ “การจ่ายภาษีเพิ่ม” คือยืมเงินรัฐมาใช้ก่อนโดยไม่เสียดอกเบี้ยและจ่ายคืนทีหลัง ตามตัวอย่างนี้จึงเห็นได้ว่านายรถยนต์มีความได้เปรียบนายเรือบินตามหลักวางแผนภาษี ทั้งแง่ของการจ่ายภาษีรวมน้อยกว่า และก็ยังสามารถวางแผนยืมเงินมาใช้ก่อนนั่นเอง

คำถามสุดท้ายคือใครเหมาะที่จะวางแผนภาษีแบบใด? คนที่เหมาะกับการแผน “จ่ายภาษีเพิ่ม” ต้องเป็นคนมีวินัยการเงินเป็นอย่างดี เช่นนายรถยนต์คำนวณไว้แล้วว่าต้องจ่ายภาษีเพิ่มปลายปีเป็นจำนวน 10,000 บาท จึงไม่ได้นำเงินนั้นไปใช้สุรุ่ยสุร่ายโดยนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเหมาะสม เมื่อถึงเวลาก็มีเงินไปคืนรัฐพร้อมทำกำไรได้อีก แต่ในทางกลับกันหากใครไม่แน่ใจในวินัยการเงินของตนเอง การให้รัฐหักภาษีเผื่อไว้ก่อนและค่อยไป “ขอภาษีคืน” ในภายหลัง จะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดครับ