Job Rotation

Job Rotation

ดิจิทัลเทคโนโลยีทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนยากจะคาดเดา องค์กรทั้งหลายจึงต้องปรับตัว

ให้แข็งแรงเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามต่างๆ ด้วยการสร้างคนให้มีความรอบรู้และความสามารถในการปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อนได้ทันท่วงที เครื่องมือชนิดหนึ่งที่ช่วยสร้างคนให้มีความสามารถเหล่านี้คือการทำ Job Rotation

สำหรับตัวดิฉันแล้ว Job Rotation เป็นเหมือนการ refresh หรือ revitalize คนคนหนึ่งในการทำงานเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้คนได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ หน้าที่รับผิดชอบที่เปลี่ยนไปทำให้คนต้องไปอยู่ในสถานการณ์ใหม่ที่ไม่คุ้นเคยทำให้คนคนนั้นต้องตื่นตัวอยู่ตลอดจนกระทั่งเห็นความท้าทายในงานใหม่ๆ กลายเป็นเรื่องปกติที่พร้อมจะรับมือกับมันได้ กล้าที่จะเสี่ยง กล้าตัดสินใจ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มพูนทักษะของคนให้เก่งและแข็งแกร่งขึ้นผ่านการทำงานที่หลากหลายในองค์กร

ถ้าจะถามว่าคนที่ผ่านการทำ Job Rotation แล้วดีอย่างไร ดิฉันขอยกตัวอย่างของตัวเองที่มีความรู้สึกว่าองค์กรได้ลงทุนในการพัฒนาเรา ให้โอกาสเราได้เรียนรู้และก้าวหน้า โดยไม่ต้องรอจนกว่าหัวหน้างานเราจะเกษียณ ดิฉันเคยทำงานที่ General Electric (GE) ซึ่งมี CEO ที่มีปรัชญาในการพัฒนาคนด้วยการหมุนเวียนพนักงานที่เป็น top talent ในระดับผู้บริหารไปบนงานต่างๆ ทุกๆ 2 ปี เพื่อทำให้พนักงานเกิดความตื่นตัวและมีความรอบรู้มากขึ้น เมื่อมีสถานการณ์ใดเข้ามาพวกเขาก็แข็งแรงพอที่จะรับมือและสามารถผ่านสถานการณ์ท้าทายเหล่านั้นไปได้ด้วยดี คนเหล่านี้จะมีทักษะรอบด้าน

เพราะแต่ละหน้าที่ที่หมุนเวียนไปทำนั้นจะมีทักษะที่ต้องการไม่เหมือนกัน บริษัทต้องการพัฒนาผู้บริหารให้เก่งเพื่อเป็นผู้นำในอนาคตจึงสร้างโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาความสามารถในแต่ละด้านได้ตลอดเวลาเพื่อให้มีโอกาสเติบโตขึ้นไปได้อีกในองค์กร ไม่เพียงเท่านั้นพนักงานกลุ่มนี้จะถูกพัฒนาให้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้นไม่ใช่มองแคบเฉพาะงานเดียวที่ตัวเองทำซึ่งเป็นประโยชน์มากในการขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงต่อไปในอนาคต

เมื่อแรกเริ่มทำงานที่บริษัทนี้ดิฉันอยู่ในหน่วยงาน Risk Management จากนั้นเจ้านายก็ให้ดิฉันย้ายไปทำด้าน Six Sigma ซึ่งเป็นงานที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง การย้ายไปทำ Six Sigma ในครั้งนั้นเป็นนโยบายของบริษัทแม่ที่กำหนดให้ผู้ที่จะสามารถขึ้นเป็นผู้บริหารในระดับสูงในอนาคตได้จะต้องเรียนรู้เรื่องนี้ ดิฉันก็ทำ job นี้จนได้เป็น Master Black Belt ซึ่งงานนี้ไม่ง่าย ได้ฝึกการวิเคราะห์ข้อมูล การคิดให้เป็นระบบ และต้องไปเป็น change agent ซึ่งผู้คนมักไม่ค่อยชอบหน้าเรา ทำให้เราต้องเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่หมด มันเหมือน reset ปุ่มใหม่ เราต้องทำให้เขาเห็นให้ได้ว่าเราจะมาช่วยให้งานเขาสำเร็จไปด้วยกันได้อย่างไรซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ต่อมาดิฉันก็มีโอกาสได้หมุนเวียนไปทำงานด้าน Pricing and Profitability ซึ่งเป็นงานกึ่งๆ งานหน้าบ้าน 

สิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้มาจากการทำงานด้าน Six Sigma สามารถนำมาต่อยอดในงานนี้ได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้นก็ย้ายไปทำงานหน้าบ้านเต็มตัวคือไปเป็น MD ในธุรกิจ Installment Financeและธุรกิจ Finance รถยนต์ของบริษัทตามลำดับ ต่อมาก็ได้รับมอบหมายให้ไปก่อตั้ง Retail Bank ซึ่งเป็นงานใหญ่เริ่มจากศูนย์ จนกระทั่งในเวลาต่อมาก็ได้ไปทำการควบรวมกิจการเข้ากับอีกธนาคารซึ่งมีงานที่ต้องทำเกี่ยวกับเรื่องของคนเยอะมาก ต้องขอบคุณองค์กรนี้ที่ให้โอกาสดิฉันได้ทำงานใหม่ๆ ทำให้ต้องเรียนรู้และตื่นตัวอยู่เสมอ เมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจนี้แล้ว ดิฉันก็ตัดสินใจไปหาประสบการณ์ใหม่ๆในต่างประเทศ โดยไปร่วมงานกับบริษัท AIG Consumer Finance ในประเทศฮ่องกงในงาน Regional Sales & Marketing เพื่อเปิดโลกทัศน์และหาประสบการณ์ที่ท้าทายมากขึ้นบนตลาดการเงินในภูมิภาค ดิฉันมีทีมงานอยู่หลายประเทศ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมหลากหลาย เมื่อได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในต่างแดนตามที่ได้ตั้งใจแล้วดิฉันก็ตัดสินใจกลับมาเมืองไทยเพื่อเข้ามาร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์จนถึงปัจจุบันนี้

งานที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นอีกงานหนึ่งที่ท้าทายสำหรับดิฉันเพราะต้องมาบริหารหน่วยงานสาขาทั้งหมดทั่วประเทศเป็นงาน Service and Sales ขนาดใหญ่ที่มีคนเป็นหมื่นซึ่งดิฉันมองว่าน่าสนใจมาก ดิฉันบริหารหน่วยงานนี้นานหลายปีจึงมีโอกาสได้หมุนเวียนมารับหน้าที่ Chief People Officer เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา การหมุนเวียนหน้าที่งานในครั้งนี้เป็นนโยบายของ CEO คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ที่ต้องการให้พนักงานทุกระดับมีโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะและเพิ่มพูนประสบการณ์ให้หลากหลาย โดยเราเริ่มที่กลุ่มผู้บริหารระดับสูงหลายท่านเพื่อแสดงให้พนักงานเห็นว่าธนาคารให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะทำให้พนักงาน energize ตัวเองตลอดเวลา การอยู่ใน job เดิมนานๆ ทำให้พนักงานไม่ได้ refresh ตัวเอง ความคิดอ่าน มุมมองอะไรต่างๆ ก็อาจจะล้าสมัยไปแล้ว เพราะฉะนั้นการที่หน่วยงานมีคนหน้าตาใหม่ๆ หมุนเวียนเข้ามาจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการคิดใหม่ทำใหม่บนประสบการณ์และมุมมองของคนใหม่ กล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ และกล้าที่จะเผชิญกับความล้มเหลวเพื่อแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ทำให้องค์กร refresh ตัวเองอยู่เสมอ องค์กรสามารถเปิดรับอะไรใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงอะไรได้ง่ายและเร็วขึ้น 

ขณะเดียวกันพนักงานก็เก่งและแข็งแกร่งขึ้น ดิฉันเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้องค์กรแข็งแรง และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าปัจจัยภายนอกจะเปลี่ยนไปอย่างไร

..................................................

พรรณพร คงยิ่งยง

รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief People Officer