กระบวนการยุติธรรม 4.0

กระบวนการยุติธรรม 4.0

ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุค Thailand 4.0 ท่านผู้อ่านเคยลองคิดกันไหม

 ว่าระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยในยุคใหม่ จะเปลี่ยนไปเพียงใดและในทิศทางไหน จากผลของการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน อันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะ “Disruptive Technologies” ต่าง ๆ กระแสโลกาภิวัตน์ การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน และการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล ฯลฯ เป็นที่แน่นอนว่ากระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบกฎหมาย และแนวคิดด้านการบริหารงานยุติธรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีปัจจัยหลายประการที่นักนิติศาสตร์และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม อาจจะต้องทบทวนบทบาทและปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ในขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ย่อมกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไป ในฐานะผู้ที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายด้วย ซึ่งผู้เขียนอยากนำมาแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านในที่นี้ เพื่อมองความเปลียนแปลงในอนาคตร่วมกัน

ความรู้กฎหมายพื้นฐานอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องเชี่ยวชาญกฎหมายเทคนิคด้วย

การศึกษาด้านนิติศาสตร์ในประเทศไทยที่ผ่านมามักจะมีจุดเน้นที่ประมวลกฎหมายพื้นฐานอันได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งใช้เป็นหลักในการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในศาล อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันพบว่าประเด็นการวินิจฉัยและต่อสู้คดีมักเป็นเรื่องข้อกฎหมายในเชิงเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษี แรงงาน ประกันสังคม ทรัพย์สินทางปัญญา ประกันภัย หรือกรณีพิพาทเรื่องที่ดิน รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจในฐานะผู้กำกับดูแลโดยองค์กรของรัฐ เป็นต้น บทบาทที่มากขึ้นของกระบวนการยุติธรรมทางปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางเลือกอื่น ๆ จึงเป็นความท้าทายและความจำเป็นที่นิติศาสตร์ในโลกยุคใหม่จะต้องสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งรวมถึงเรื่องกฎระเบียบและกติกาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบของการบริหารกระบวนการยุติธรรมที่มีความหลากหลายขึ้น

วิทยาศาสตร์ไม่รู้ไม่ได้

การใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้พลิกโฉมวงการกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อการพิสูจน์หลักฐานและอัตลักษณ์ของบุคคลมากขึ้น นักนิติศาสตร์ในปัจจุบันจึงมีความจำเป็นจะต้องมีความรู้และเข้าใจหลักพื้นฐานของพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อไม่ให้หลงประเด็นในการต่อสู้คดี ในอีกมุมหนึ่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การกระทำความผิดมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ยกตัวอย่างเทคโนโลยีการจำลองแบบสามมิติ (3D printing) จะทำให้การลอกเลียนผลิตภัณฑ์ทำได้ง่ายขึ้นและการพิสูจน์ทราบถึงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทำได้ยากขึ้น หรือทำให้เกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่จากการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต หรือในอีกหลาย ๆ ประการของสิ่งที่เรียกว่า “Disruptive Technologies” ที่ยังอาจมองไม่เห็นว่าจะเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบอย่างไร รวมทั้งระบบ e-Discovery ที่จะต้องถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น นักนิติศาสตร์ในโลกยุคใหม่จึงจะต้องปรับตัวพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในวิชาชีพมากขึ้นตลอดเวลา

กฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ จะถูกจำกัดให้น้อยลง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่เพิ่งประกาศใช้มีประเด็นสำคัญตามมาตรา 77 ที่กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นและยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ซึ่งแสดงให้เห็นแนวคิดในยุคใหม่ที่เห็นว่ากฎหมายยิ่งออกมามากยิ่งสร้างต้นทุนและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นช่องให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐใช้ดุลยพินิจในการแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบได้โดยง่าย หลักคิดในโลกยุคใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่จะเน้นการออกกฎหมายบังคับ กลายเป็นการเน้นการใช้มาตรการ แรงจูงใจหรือนโยบายอื่น ๆ แทนการออกกฎหมาย โดยให้ใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น

การเปิดประชาคมอาเซียน

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หากดูโดยผิวเผินก็อาจเข้าใจได้ว่าอาจมีผลกระทบในเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการเปิดประเทศให้ประชาชนข้ามไปมาระหว่างกันมากขึ้น แต่แท้ที่จริงแล้วการเปิดประชาคมอาเซียนคือการขยายสิทธิประโยชน์ทางการค้าและเอื้ออำนวยให้เกิดการลงทุนจากกลุ่มทุนข้ามชาติในภูมิภาค รวมถึงโอกาสของธุรกิจของประเทศไทยในการลงทุนและค้าขายในประเทศอาเซียนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV มากยิ่งขึ้น การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้นประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญทั้งในฐานะนักลงทุนในภูมิภาค ซึ่งงานที่ปรึกษากฎหมายในอนาคตจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญกฎหมายภายในของแต่ละประเทศในอาเซียน มีความเชี่ยวชาญทางภาษาของประเทศกลุ่มทุนใหม่ที่กำลังเข้ามาในภูมิภาค รวมถึงการที่ชาวต่างชาติจะเข้ามาตั้งรกรากในภูมิภาคก็อาจเป็นช่องโอกาสของงานบริการทางกฎหมายให้กับชาวต่างชาติได้

จากตัวขับเคลื่อนทั้งสี่ประการข้างต้นจึงเป็นข้อบ่งชี้ที่แน่ชัดว่า กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยในยุคใหม่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากจากเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจากกระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนักกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายในอนาคตจะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น เน้นการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เข้าใจบริบทของนโยบายสาธารณะ และพัฒนาทักษะพิเศษและความรู้เกี่ยวกับประเทศอื่น ๆ มากขึ้นให้ทันกับการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศและความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันในฐานะของประชาชนที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายก็ต้องมีความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพื่อให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งและเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมพัฒนากระบวนการยุติธรรม 4.0 เพื่อให้ความเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและแสดงออกซึ่งเจตจำนงร่วมกันของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

..............................................

ชวนัสถ์ เจนการ

สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์