เราโตแล้ว จะเกินดุลกับใครเท่าไหร่ก็ได้

เราโตแล้ว จะเกินดุลกับใครเท่าไหร่ก็ได้

เราโตแล้ว จะเกินดุลกับใครเท่าไหร่ก็ได้

ข่าวที่ได้รับความสนใจมากในตลาดเงินบ้านเราช่วงนี้ต้องยกให้การที่โดนัลด์ ทรัมป์ออกคำสั่งให้จัดการกับประเทศที่ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าอย่างมหาศาล และดูเหมือนจะมีชื่อ “ไทยแลนด์แดนสยาม” เข้าไปติดอยู่ในรายชื่อนั้นซะด้วย น่าสนใจว่าต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นและเราต้องเตรียมรับมืออย่างไร

เรื่องนี้เริ่มจากมี.ค.ที่ผ่านมา ทรัมป์ ออก Executive Order มา 2 ฉบับที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ

ประกาศฉบับแรก เป็นคำสั่งให้มีการคุมเข้มและเข้าไปตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย Antidumping และ Countervailing Duties หรือมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนจากรัฐบาลของประเทศคู่ค้าที่ส่งผลเสียต่อภาคธุรกิจสหรัฐ โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้นำเข้าสินค้าที่แอบนำสินค้าหลีกเลี่ยงการจ่ายอากรดังกล่าวเข้ามา

ขณะที่ประกาศที่สอง เพ่งเล็งไปที่ Unfair และ Discriminatory Practices หมายถึงการค้าระหว่างประเทศที่ไม่เสมอภาคและเลือกปฏิบัติกับสหรัฐจากคู่ค้าบางประเทศ ส่งผลให้สหรัฐต้องขาดดุลการค้าถึงปีละ 5 แสนล้านดอลลาร์

ผมเชื่อว่าทางการสหรัฐตั้งใจออกสองคำสั่งนี้ก่อนการหารือกันระหว่าง สี จิ้นผิง และ ทรัมป์ในวันที่ 6-7 เม.ย.นี้เพื่อเป็นเครื่องมือให้สหรัฐใช้ต่อรองกับจีน

แต่สิ่งที่ตามมาคือความสงสัยของหลายท่านว่า “เกินดุลการค้ากับสหรัฐแล้วมันผิดตรงไหน”

อันที่จริง ประกาศของสหรัฐค่อนข้างชัดเจนว่าไม่มีปัญหาถ้าขาดดุลกันแบบ “แฟร์ๆ” แต่ไม่พอใจกับการขาดดุลแบบ “ไม่แฟร์”

ในปีที่ผ่านมาสหรัฐพยายามตั้งเกณฑ์ “ความแฟร์” ทางการค้าของตัวเองขึ้นมา และกระทรวงการคลังสหรัฐ ก็ออกประกาศเรื่องการเฝ้าระวัง unfair currency practices หรือมาตรการบิดเบือนค่าเงินเพื่อช่วยการส่งออกมาแล้ว

หลักการมี 3 ข้อที่ชี้ว่าประเทศไหนเป็นประเทศที่ “ไม่แฟร์” ทางการเงินคือ 1. มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐเกิน 0.1% ของจีดีพีสหรัฐ (ประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์) ในปีที่ผ่านมา 2. เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ของจีดีพีตัวเอง และ 3. ธนาคารกลางเข้ามาแทรกแซงค่าเงินของตัวเองข้างเดียวด้วยการซื้อเงินตราต่างประเทศเกินกว่า 2% ของจีดีพีในปีนั้น

แม้ผมจะไม่เชื่อว่าคำสั่งของ ทรัมป์นี้จะศักดิ์สิทธิ์ขนาดที่ตลาดต้องเต้นตาม แต่เชื่อว่าตลาดเงินน่าจะเข้า “โหมดพักรบ” ชั่วคราวเพราะความเสี่ยงเรื่องการกีดกันการค้าจากสหรัฐมันน่ากลัวครับ

ในกรณีของสหรัฐและจีน เรื่องคงไม่จบง่ายๆ แม้จีนจะอ้างว่า ไม่ได้แทรกแซงค่าเงินหยวนเพราะทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง 3.2 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา แต่ทรัมป์ก็คงยังคงหลับหูหลับตากล่าวหาจีนว่าแทรกแซงค่าเงินอยู่ดี

ไม่เพียงการต่อสู้กันของสองมหาอำนาจโลกจะสะเทือนวงการการค้าจนต้องตามกันตาไม่กะพริบ รอบนี้ “หญ้าแพรกอย่างเราก็แหลกลาญไปด้วย”

ขณะที่เรื่องความแฟร์ ถ้ามองจากเกณฑ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐ จะพบว่าการเกินดุลของไทยที่ระดับ 18,920 ล้านดอลลาร์ บัญชีเดินสะพัดที่ขึ้นมาที่ระดับสูงกว่า 11% ของจีดีพี และการเพิ่มขึ้นของทุนสำรองระหว่างประเทศ 1.54 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.9% ของจีดีพี) ในปีที่ผ่านมา เป็นประเด็นที่สหรัฐสามารถหยิบขึ้นมากล่าวหาได้ว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มี unfair currency practice จนอาจลามไปสู่การกีดกันทางการค้าก็เป็นได้

ตอนนี้เราได้แต่รอช่วงปลายเดือนนี้ว่าชื่อไทยจะโผล่ขึ้นมาหรือไม่

แต่โดยรวมเห็นได้ชัดว่าการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ “จำเป็น” มากๆ สำหรับการนำเข้าส่งออกในยุคนี้ยิ่งถ้าเรายังอยากจะค้าขายกับประเทศยักษ์ใหญ่เหล่านี้ต่อไปครับ รอไปจนถึงวันหนึ่งที่เราใหญ่จนตั้งกฎเองได้ แล้วค่อยร้องไห้โลกรู้ว่า เราโตแล้ว จะทำเลือกค้าขายกับใครยังไงก็ได้

และต้องจับตาว่าธปท.จะตอบผู้ตรวจของทำเนียบขาวอย่างไรว่า ทำไมถึงต้องสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นขนาดนั้น

อยากตอบว่า “เราโตแล้ว จะสะสมดอลลาร์เท่าไหร่ก็ได้” จังครับ