เกิดอะไรขึ้น หลังรธน.ใหม่

เกิดอะไรขึ้น หลังรธน.ใหม่

เริ่มมีเสียงเรียกร้อง เสียงคัดค้าน หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เกิดขึ้นรัวๆ

 เริ่มจากการเรียกร้องจากของฝ่ายการเมือง ที่ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกมาตรา 44 

เรื่องนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันแล้วว่า มาตรา 265 ในรัฐธรรมนูญได้รับรองการใช้อำนาจมาตรา 44 ไว้แล้ว

บอกด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. จะใช้มาตรา 44 เท่าที่จำเป็น จะไม่ใช้ล่วงเกิน แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่จะใช้ในกรณีมาตรการทางปกครอง แก้ปัญหาเร่งด่วนของประชาชน ที่ไม่สามารถใช้มาตรการตามปกติแก้ไขปัญหาได้ เกี่ยวมาตรา 44 บางฉบับต้องยกเลิก บางฉบับคงอยู่ และบางฉบับจะแปลงเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) 

 เสียงเรียกร้องวันนี้ดูเหมือนจะหนักขึ้นๆ มีหลากหลายเรื่อง อย่าง สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เรียกร้องขอให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อไปสู่โหมดการเลือกตั้ง พร้อมกับย้ำว่า การเตรียมตัวตั้งรับพระราชบัญญัติประกอบและธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง นี่คือสิ่งที่พรรคการเมืองต้องเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ บอกด้วยว่าพรรคการเมืองไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างปัญหา หรือก่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ ทุกพรรคการเมืองต่างก็มีความรู้สึกรักหวงแหนประเทศ ไม่แตกต่างจากคสช.

 นอกเหนือจากข้อเรียกร้องสิ่งที่พบเห็น หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เริ่มมีกลุ่มคัดค้านยื่นหนังสือถึงองค์กรนั้นหน่วยงานนี้ชัดเจนอย่าง กลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 บังคับห้ามนั่งท้ายรถกระบะและแคป ยื่นหนังสือนายกฯ ขอให้ทบทวนยกเลิกคำสั่งมาตรา 44 ที่ห้ามนั่งท้ายรถกระบะ

 วันเดียวกันกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน ยกขบวนยื่นหนังสือ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คัดค้านรายงานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ที่เสนอลดวาระการดำรงตำแหน่งกำนันเหลือ 5 ปี และให้ประเมินผลการทำงานของผู้ใหญ่บ้านทุก 3 ปี เป้าหมายไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  

นี่อาจเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เชื่อเถอะจากนี้ไปคงจะมีมาให้เห็นเรื่อยๆ แล้วอย่างนี้สมควรเลิกมาตรา 44 แล้วหรือยัง