อนาคตที่จะมาถึง กับ การทำงานที่จะเปลี่ยนไป

อนาคตที่จะมาถึง กับ การทำงานที่จะเปลี่ยนไป

เป็นที่รับรู้และยอมรับโดยทั่วไปแล้วว่า เมื่อเราก้าวไปในอนาคต ลักษณะและรูปแบบในการทำงานจะเปลี่ยนไป

และไม่เหมือนเดิม แต่จะเปลี่ยนไปอย่างไรนั้น มาลองดูกันนะครับ

ประการแรกคือเส้นแบ่งระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวจะหายไป ในอดีตเมื่อหมดเวลาการทำงาน หรือ ถึงวันหยุดพักผ่อน หรือ พักร้อน เราก็จะมุ่งเน้นแต่เรื่องส่วนตัว ครอบครัวและการพักผ่อนจริงๆ แต่ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เป็นเรื่องปกติมากที่จะได้รับข้อความหรืออีเมลจากเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานในวันหยุด ตอนค่ำๆ หรือ ตอนเช้ามืด และแนวโน้มนี้ก็จะทวีความชัดเจนมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายจะเข้าสู่ภาวะที่การไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ แท้จริงคือการเปลี่ยนบรรยากาศและสถานที่ทำงาน

ประการที่สองคือเส้นทางชีวิตของคนก็จะเปลี่ยนไป จากในอดีตที่คนเริ่มต้นจากวัยเรียนที่ศึกษาหาความรู้ จากนั้นก้าวสู่วัยทำงาน และก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ แต่สิ่งที่จะพบเห็นมากขึ้นคือชีวิตของคนจะไม่ได้เป็นเส้นตรงจาก การศึกษา -- ทำงาน -- เกษียณ อีกต่อไป แต่จะเป็นกล่องใหญ่หนึ่งกล่องที่ประกอบด้วย เรียนรู้ (ไม่ใช่การศึกษา) + ทำงาน + พักผ่อน และทั้งสามปัจจัย (เรียนรู้ ทำงาน พักผ่อน) ก็จะผสมปนเปกันเต็มไปหมด

ทั้งนี้เนื่องจากในอนาคตการศึกษา (ภายใต้ระบบการศึกษาปกติ) อาจจะไม่สำคัญเท่ากับความสามารถในการเรียนรู้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นที่ต้องรอให้เรียนจบก่อนแล้วค่อยทำงาน คนรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มธุรกิจในขณะที่เรียนหนังสือ สำหรับการเกษียณนั้นก็จะหายไป เราจะเห็นผู้ที่ถึงวัยเกษียณจำนวนมากที่ยังสุขภาพแข็งแรง มีไฟในการทำงาน และมีความทันสมัยที่ยังคงทำงานอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็คนวัยกลางคนจำนวนหนึ่งที่ early retire เพื่อพักผ่อนระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็กลับเข้าสู่การทำงานใหม่ ดังนั้นการเกษียณในอดีต จึงเป็นเพียงแค่การพักผ่อนระยะยาวในอนาคต

ประการที่สามคือ ผลิตภาพหรือ productivity ในการทำงานของคนจะเปลี่ยนไป จากที่เคยมีสมาธิในการประชุม ทำงาน เขียนงานเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร แต่ปัจจุบันคนเหลือบมองหรือหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูไม่ต่ำกว่าวันละ 50 ครั้งทำให้สมาธิของเรานั้นยังสั้นกว่าปลาทอง ขณะเดียวกันบรรดาสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายก็พยายามทุกวิถีทางในการเรียกร้องและดึงดูดความสนใจจากเราให้ได้มากที่สุด แถมความเป็น FOMO (Fear of missing out) หรือการกลัวตกข่าว ตกเทรนด์ของคนก็ทวีมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายคนก็จะต้องปรับวิธีการทำงานให้เข้ากับสื่อสังคมออนไลน์ และไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป

ประการที่สี่คือ งานที่มีอยู่ในปัจจุบันจะหายไป แต่ขณะเดียวกันก็จะมีงานหรืออาชีพใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนผุดขึ้นมาทดแทน มหาวิทยาลัย Oxford ได้เคยมีงานวิจัยที่ระบุว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า อาชีพต่างๆ ที่เคยมีอยู่ในปัจจุบันจะหายไป 47% (สาเหตุหลักคือเทคโนโลยีที่พัฒนาไปเรื่อยๆ) แต่ขณะเดียวกันก็จะมีอาชีพใหม่ๆ ที่ในอดีตไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยรู้จักมาก่อนเกิดขึ้นมา (ลองนึกถึงอาชีพ Data Scientist เมื่อ 10 ปีที่แล้ว)

ประการที่ห้า คือความรู้หลายๆ ประการที่ได้เรียนในระบบการศึกษาปัจจุบันจะกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยหรือมีสิ่งใหม่ๆ มาทดแทนเมื่อจบการศึกษาออกไป ดังนั้นการเรียนรู้จึงไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา

จากรูปแบบ และ ลักษณะของการทำงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต ทักษะที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของคนจึงควรจะเป็นทักษะในการปรับเปลี่ยน (Reinvention) ตนเอง นั้นคือสามารถที่จะปล่อยวางในสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และ พร้อมที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับความรู้ เทคโนโลยี อาชีพ และ รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป