สกัดสูตรสร้างผู้นำผลงานสูง 2017

สกัดสูตรสร้างผู้นำผลงานสูง 2017

ตัวผู้นำที่ทำหน้าที่บริหารทั้งงานและคนนั้นควรมีคุณสมบัติอะไรบ้างจึงจะสามารถทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลสอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจรอบตัว

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาดิฉันได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มทิศทางสิ่งแวดล้อมธุรกิจโลกที่มีผลกระทบต่อทิศทางธุรกิจไทยในแง่ของการบริหารงานและคน และเราควรทำอย่างไรจึงจะก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดจนขานรับแนวทางพัฒนาประเทศไทย 4.0 ด้วย และเมื่อพูดถึงการบริหารงานและบริหารคนก็เกิดมีคำถามตามมาว่าแล้วตัวผู้นำที่ทำหน้าที่บริหารทั้งงานและคนนั้นควรมีคุณสมบัติอะไรบ้างจึงจะสามารถทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลสอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจรอบตัวที่เดินหน้าเปลี่ยนแปลงโดยไม่หยุดยั้ง จะบริหารหรือนำแบบเดิมๆยังจะได้ผลไหม เรามาจับเข่าคุยกันเรื่องแนวโน้มทิศทางการเป็นผู้นำยุคดิจิตัลและนวัตกรรมเบิกบานกันเลยค่ะ

ทั้งนี้เพื่อให้การพูดคุยของเราแน่นหนาด้วยหลักการทั้งทางวิชาการและการปฏิบัติ ดิฉันขออ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลสักนิดค่ะ ในระดับโลกนั้นได้มาจากการรายงานการสำรวจทัศนะคติของผู้บริหารบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ทั่วโลกของวารสารฮาร์วาร์ด บิสสิเนส รีวิว รายงานของสำนักข่าวกรองของประเทศสหรัฐอเมริกาเรื่องทิศทางแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในปี ค.ศ. 2030 ส่วนในระดับภูมิภาคเอเซียนั้นก็พึ่งพาข้อมูลจากรายงานผลสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำทั้งหลาย ได้แก่ เฮย์ กรุ๊ป  เอออน  เดอล้อยท์ ทู้ช เป็นต้น เสร็จแล้วดิฉันก็ทำหน้าที่ย่อยข้อมูลวิเคราะห์อีกทีและสกัดออกมาเป็นสูตรสร้างผู้นำผลงานสูงสำหรับปี ค.ศ. 2017 และอนาคตในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ไม่บังอาจมองไกลเกิน 5 ปี เพราะโลกยุคดิจิตัลเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ต้องคอยอัพเดตเป็นระยะๆค่ะ เผลอเมื่อไหร่ตกเทรนด์ทันที

มาเริ่มสกัดสูตรสร้างผู้นำผลงานสูง 2017++ กันเลยดีกว่าค่ะ

ผู้นำต้องมี EQ และจริยธรรม ที่โพลล์สำรวจทั่วโลกในปีนี้ต่างจากเมื่อทศวรรษที่แล้วมาก เพราะโพลล์ของทศวรรษที่แล้วระบุว่าคุณสมบัติตัวแรกๆที่ผู้นำพึงมีคือการมีวิสัยทัศน์ธุรกิจและการสร้างกลยุทธ์เพื่อขยายตลาด แต่ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา โพลล์ส่วนใหญ่ระบุว่าผู้นำทั่วโลกกำลังมองหาและพยายามสร้างผู้นำรุ่นต่อไปที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ) และมีจริยธรรมเป็นลำดับแรก ทั้งนี้เพราะตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมามีข่าวคราวฉาวโฉ่เรื่องการทุจริตของผู้นำทุกภาคส่วนกระจายไปทั่วโลก ผนวกกับข่าวพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้นำระดับโลกหลายคนในเรื่องการตัดสินใจ การพูดจาการแถลงข่าว การปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบของตนเองและการปฏิบัติต่อประชาชนที่มีความหลากหลาย (diversity) ทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา เพศ ฯลฯ พฤติกรรมด้านลบของผู้นำเหล่านี้ (ไม่ขอระบุนามแต่คงคาดเดากันไม่ยาก) สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ ความมั่นคงของชาติและของโลกอย่างกว้างขวาง บรรดาผู้นำโลกจึงวิตกว่าหากไม่รีบปลูกฝังสร้างเสริม EQ และจริยธรรมให้กับผู้นำปัจจุบันและคนรุ่นต่อไปจะเกิดความเสียหายเสื่อมทรามของโลกมากกว่านี้ การบริหารงานและคนในยุคสมัยที่มีการแข่งขันและความไม่แน่นอนสูงต้องมีสติอารมณ์หนักแน่นไม่หวั่นไหวง่ายเกินไป การมี EQ จะทำให้ผู้นำมีสติ รู้จักควบคุมอารมณ์ก่อนคิด พูด ทำ ส่วนจริยธรรมจะเป็นกรอบยึดเหนี่ยวให้คิด พูด ทำในสิ่งที่ถูกต้องสมควร EQ และจริยธรรมจึงควรมาคู่กัน

มีวิสัยทัศน์ กำหนดเป้าหมายและสร้างแผนปฏิบัติได้จริง สำหรับคุณสมบัติข้อนี้ต้องมาเป็นชุด เพราะคนบางคนถนัดกับการคิด วาดฝัน วาดแบบจำลอง (model) ต่างๆ ได้น่าประทับใจ เป็นนักทฤษฎี แต่ไม่สามารถออกแบบแผนงานเพื่อนำวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ไปปฏิบัติได้จริง ส่วนบางคนเป็นนักปฏิบัติ เน้นการลงรายละเอียด รอบคอบกับการปฏิบัติทุกขั้นตอน ใส่ใจควบคุมการทำงานทุกขั้นตอนจนลืมมองรอบๆตัว ซึ่งข้างหน้าก็คืออนาคต ข้างๆและข้างหลังคือทีมงาน ผู้นำสำหรับยุคนี้ต้องถึงพร้อมทั้ง 2 ด้าน รู้ว่าเมื่อใดควรเน้นการปฏิบัติ เมื่อใดต้องหยุดพักเพื่อเก็บข้อมูลดูทิศทางเพื่อก้าวต่อไป ต้องทั้งวาดความฝันและสร้างฝันให้เป็นจริงได้ เป็นคุณสมบัติที่หายากในคนๆเดียวกัน แต่ก็สร้างได้ค่ะ ถ้ามีสติและรู้จักเปิดใจยอมรับความเห็นและความสามารถของผู้อื่น ประมาณว่าตัวเองทำไม่ได้ก็จริงแต่สามารถจัดทีมงานมาอุดรูโหว่ของตนเติมเต็มให้แก่กันและกันได้ น่าเสียดายบางคนใจแคบหวงอำนาจ อยากเก่งอยากได้หน้าคนเดียวไม่ยอมกระจายงานความรับผิดชอบ แบบนี้กูรูผู้นำก็ช่วยไม่ได้ค่ะ

เป็นนักสื่อสารกลยุทธ์ (Strategic communicator) เรื่องของการสื่อสารนี้พูดกันจบยาก พูดได้หลายวันหลายคืน นอกจากจบยากแล้วยังสอนยากทำยากอีกด้วย เพราะคนเรามีบุคลิกภาพเฉพาะตัวที่อาจครอบงำพฤติกรรมของเราจนยากที่จะถอนของเก่าออกแล้วเอาของใหม่ที่ไม่ถนัดใส่เข้าไป สำหรับทักษะในการสื่อสารนั้น จากประสบการณ์ของดิฉันอาจแบ่งได้เป็น 2 ระดับคือระดับพื้นฐาน (Fundamental level) และระดับกลยุทธ์ (strategic level) สำหรับการสื่อสารระดับพื้นฐานคือการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน มี 4 ประการนี้ซึ่งผู้นำหลายคนก็ยังสอบไม่ผ่าน เพราะมันไม่ใช่แค่ว่ามีเสียงพูดได้ มีหูฟังได้ยิน อ่านหนังสือออกและเขียนหนังสือได้เท่านั้น บางคนพูดเยิ่นเย้อยืดยาวน่าเบื่อ บางคนพูดวกไปวนมาจับประเด็นไม่ถูก หลายคนชอบพูดไม่ชอบฟัง หลายคนฟังแล้วจับใจความไม่ได้ ฟังแบบไม่มีสมาธิ บางคนก็อ่านหนังสือแบบไม่มีสมาธิจับใจความไม่ได้ และหลายคนเขียนหนังสือสั่งงานอธิบายงานตกๆหล่นๆ

อย่านึกว่าการที่จบการศึกษาสูงแล้วทักษะในการพูด การฟัง การอ่านและการเขียนจะต้องดีนะคะ เคยพบจากประสบการณ์มานับสิบนับร้อยที่ขาดทักษะต่างๆเหล่านี้ ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการสั่งงานในฐานะผู้นำ และขาดประสิทธิภาพในการนำคำสั่งไปปฏิบัติในฐานะลูกน้อง นอกจากนี้ความไม่มีประสิทธิภาพยังลามไปถึงการประชุมงาน การนำเสนอความเห็น นำเสนองาน เขียนอี-เมล์ประสานงาน...ที่ล้วนแล้วสามารถผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปหมด ที่น่าเศร้าก็คือผู้นำหลายคนกลับไปโทษว่าลูกน้องไม่ฉลาดฟังไม่รู้เรื่อง ทำงานผิดพลาด โดยแท้ที่จริงการทำงานที่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรก็เพราะผู้นำไม่ตระหนักว่าตนไม่มีทักษะการสื่อสารในระดับพื้นฐาน เพราะถ้าตระหนักเสียหน่อยก็ยังแก้ไขกันได้ แต่ไม่ตระหนักแล้วไปโทษคนอื่นนี่แก้ไขกันยากค่ะ

สำหรับความสามารถในการสื่อสารระดับกลยุทธ์นั้นคือทักษะในการฟัง พูด อ่าน เขียน ที่สูงกว่าและซับซ้อนกว่าการฟังเพื่อจับใจความ การพูดคุยนำเสนอเรื่องราว การอ่านให้ได้ใจความสำคัญ และการเขียนที่สามารถสื่อข้อความได้ชัดเจน ซึ่งผู้นำหลายท่านก็ยังสอบไม่ผ่านการสื่อสารระดับพื้นฐานนี้ เพราะบางท่านไม่ชอบฟัง ชอบพูด ชอบสั่งอย่างเดียว แต่การสั่งงานอธิบายงานก็ยังไม่ชัดเจนคลุมเครือ ลูกน้องฟังแล้วไม่เข้าใจ เป็นต้น การสื่อสารระดับกลยุทธ์คือความสามารถในการสื่อสารกรอบความคิด กระบวนการและข้อมูลต่างๆ เพื่อสร้างผลกระทบ (impact) หรือผลลัพธ์ (outcome) ที่ตอบสนองเป้าหมายกลยุทธ์องค์กร จากนิยามนี้หมายความว่าผู้นำต้องมีทักษะในการสื่อสารระดับพื้นฐานก่อนเป็นปฐม จากนั้นจึงมาพัฒนาทักษะสื่อสารในระดับกลยุทธ์ ซึ่งผู้นำต้องซึมซับเป้าหมายกลยุทธ์ขององค์กรไว้ในสำนึกเสมอ

การจะติดต่อสื่อสารกับบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ต่างๆของธุรกิจจึงต้องใช้ความรอบคอบไตร่ตรองคิดหน้าคิดหลังให้ดี การสื่อสารในระดับนี้ล้วนต้องสร้างผลกระทบหรือผลลัพธ์ให้ได้ ทักษะในการสื่อสารจึงแสดงถึงความสามารถในการเลือกสื่อสารผ่านช่องทางและสื่อต่างๆอย่างเหมาะสม ความสามารถในการวิเคราะห์แรงจูงใจและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่ม และสามารถออกแบบข้อมูล และวิธีการที่จะสื่อสารเพื่อจูงใจบุคคลต่างๆได้ดี รู้จักสื่อสารเพื่อจูงใจ รู้จักการเจรจาต่อรอง รู้จักการบริหารความขัดแย้งโดยผ่านการสื่อสารที่เหมาะสม รู้จักสื่อสารเพื่อพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาให้เรียนรู้งานและสามารถสืบทอดตำแหน่งผู้นำต่อไปได้ ซึ่งทักษะนี้คือทักษะการสื่อสารของการเป็นโค้ช (Coaching skills) นั่นเอง รวมทั้งหมดนี้คือทักษะการสื่อสารระดับกลยุทธ์ค่ะ

จบเรื่องของทักษะในการสื่อสารระดับกลยุทธ์แล้ว มาดูกันต่อค่ะว่าคุณสมบัติประการอื่นๆที่ผู้นำผลงานสูงพึงมีคืออะไรอีกบ้างนะคะ

เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change leader) เรื่องของการเปลี่ยนแปลงได้กลายเป็นหนึ่งของเหตุการณ์ประจำวันที่ผู้นำต้องเผชิญอยู่ไปแล้ว โพลล์สำรวจความเห็นของ CEO ทั่วโลกจึงได้ระบุว่า ผู้นำผลงานสูงต้องมีความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลงโดยต้องเป็นการทำงานเชิงรุก (Pro-active approach) ไม่ใช่คอยตั้งรับ (Re-active approach) ทั้งนี้จะทำงานเชิงรุกได้ก็เพราะต้องเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล คอยสอดส่อง ติดตามข้อมูลข่าวสาร เกาะติดสถานการณ์แนวโน้มต่างๆ เป็นประจำ จึงสามารถคาดการณ์ในอนาคตได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด และสามารถปรับเปลี่ยนตนเองและองค์กรได้ล่วงหน้า ไม่ต้องรอจนสายเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลง นอกจากเรื่องของวิสัยทัศน์และการคาดการณ์อนาคตแล้ว การจะบริหารการเปลี่ยนแปลงได้ประสบความสำเร็จก็เพราะเข้าใจขั้นตอนการดำเนินการ เข้าใจหลักการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เข้ามาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงและมีแรงต่อต้านน้อยที่สุด

เป็นผู้สร้างและส่งเสริมพนักงานให้สร้างนวัตกรรม นอกจากจะต้องปรับตัวและปรับองค์กรให้สอดคล้องกับเหตุการณ์สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเสมอให้ได้แล้ว ผู้นำยังมีภาระหน้าที่ในการสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กรได้อย่างสม่ำเสมออีกด้วย ตัวเองสร้างคนเดียวไม่พอ ยังต้องรู้จักสร้างค่านิยม สิ่งแวดล้อมและความพร้อมให้แก่พนักงานในการสร้างนวัตกรรมด้วย ผู้นำบางคนเป็นนักสร้างสรรค์ แต่ไม่สามารถทำให้ลูกน้องมีความสร้างสรรค์ได้ ซึ่งการทำงานในปัจจุบันจะรอให้ผู้นำเป็นคนสร้างนวัตกรรมคนเดียวไม่ได้ ผู้นำจึงต้องเรียนรู้ทักษะในการบริหารและจูงใจพนักงานในการสร้างนวัตกรรมให้ได้ด้วย

ผู้นำที่เป็นโค้ช คุณสมบัติประการนี้ติดโผรายการคุณสมบัติของผู้นำผลงานสูงมาหลายปีติดต่อกันแล้วและยังจะอยู่ในโผนี้ไปอีกหลายปีเพราะงานวิจัยของสำนักต่างๆได้แสดงผลว่าองค์กรธุรกิจทั่วโลก รวมทั้งของประเทศไทยด้วยกำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนผู้นำ และหากไม่มีการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำ องค์กรธุรกิจจะประสบปัญหาในการบริหารงานมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นภาระเร่งด่วนอีกงานหนึ่งของผู้นำในปัจจุบันก็คือต้องรับบทบาทเป็นนักพัฒนาบุคลากร (Human resource development) และโค้ชพัฒนาพนักงานให้เป็นผู้นำ

 อ่านมาจนบรรทัดนี้ขออย่าเพิ่งหนักใจท้อใจในการทำงานนะคะ ไม่มีผู้นำคนไหนไม่เหนื่อยไม่ต้องทำงานหนักหรอกค่ะ รักจะเป็นผู้นำผลงานสูงต้องใจสู้ มองโลกในแง่บวก มีอารมณ์ขัน มีกำลังใจสร้างคนรุ่นใหม่และทีมงานให้แข็งแกร่งสามารถเป็นผู้นำที่ดีสืบทอดงานของท่านได้ แล้วเมื่อวันนั้นมาถึงท่านจะพบว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนกับการพัฒนาทั้งตนเองและคนรอบข้างให้มีภาวะผู้นำที่ดีค่ะ

สุดท้ายนี้ขออนุญาตฝากข่าวสำหรับท่านที่สนใจหลักสูตรเวิร์คชอป สร้างภาวะผู้นำผลงานสูง (Essentials for High-impact Leaders)ของศศินทร์ วันที่ 16-18 พ.ค. นี้ โดยมีดร. แอนเดรียส ลีฟูกห์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน และตัวดิฉันร่วมเป็นวิทยากรทำหน้าที่โค้ชผู้บริหารที่เข้ารับการอบรมแบบจัดกลุ่มเล็ก สนใจติดต่อ [email protected] หรือ โทร. (+66) 2 218 4004-8 Ext. 162-167 ค่ะ