บริหารหัวหน้า : ปริศนาอักษรไขว้

บริหารหัวหน้า : ปริศนาอักษรไขว้

“จารย์..ผมลาออกละ” นักศึกษาเหรียญทอง โทรมาบอกสถานะ “ตกงาน!” หลังจากเข้าทำงานในองค์กรใหญ่ได้เพียง 6 เดือนเศษ

หลังจากถามไถ่ จึงได้ข้อมูลไม่ใหม่ว่า ทำไมจึงหุนหันลาออก

ถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่ดิฉันพบมากที่สุดในยุคนี้ คือ

ปัญหาวิกฤตศรัทธาของลูกน้องต่อตัวหัวหน้างาน

..หัวหน้าบ้าอำนาจ

..หัวหน้าไม่กล้าตัดสินใจ

..หัวหน้าไม่สอนงาน ไม่ช่วยแก้ปัญหา

..หัวหน้าไม่เก่ง

สารพัดจุดอ่อนที่หัวหน้ามี จนน้องหลีกหนี

บ้างไปตายเอาดาบหน้า หางานใหม่ ไม่ง้ออะ!

บ้างท้อว่าพี่ไม่เคยฟัง เลยนั่งรอคำสั่งของพี่ คิดว่าง่ายดี ปลอดภัยด้วย ทำๆไป ไม่ต้องคิดมาก

บ้างสงบเสงี่ยมเจียมตน ทนๆไป ทำใจได้ว่า บริษัทไม่ใช่ของข้าเสียหน่อย!

สรุปได้สัจธรรมข้อหนึ่งว่า

มีปัญหาเรื่องผู้บังคับบัญชา เป็นธรรมดาของมืออาชีพ!

วิธีแก้ปัญหาต่างหาก จึงจะทำให้เราแตกต่างจากมนุษย์เงินเดือน ที่มีเกลื่อนให้เห็น

แก้ปัญหาโดยลาออกง่ายๆ น่าเสียดายนัก

ยิ่งงานที่มี เป็นงานที่ตนชอบ หรือ เป็นงานดีในองค์กรเด่น

น้องชิงเผ่นหนีปัญหา เพียงเพราะว่า “รับ” หัวหน้าไม่ได้

ถือว่า ยังมืออ่อนนัก

หากรักจะเป็นมืออาชีพ กรุณารีบเรียนรู้ว่า ผู้บังคับบัญชาในที่อื่นใด มีสิทธิ์ไม่ได้ดั่งใจน้องเช่นกัน

หรือ แก้ปัญหาโดยหลบเข้ามุม ซ่องสุมนินทา แถมทำตัวน่าเบื่อ มีผลงานน่าหน่าย..ผลเลยกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง

ดิฉันจึงแนะศิษย์เก่งเรียนว่า กรุณาตั้งหลักใหม่

มองหัวหน้าให้เหมือน “ปริศนาอักษรไขว้”

เป็นโจทย์หลายชั้น ที่เราต้องเข้าใจ

แล้วใช้ “ศัพท์” ใหม่ๆในการคลี่ปริศนา ด้วยปัญญา มิใช่อารมณ์

เริ่มโดยศึกษาสถานะความสัมพันธ์ของเราและพี่

เพราะ Relationship ที่ดี เป็นพื้นฐานของการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น

หากขาดความสัมพันธ์ที่ดี ปัญหาเล็ก มีสิทธิ์บานปลาย กลายเป็นใหญ่

เก่งเรียน แม่นวิชา แต่ทำงานกับคนที่ต่างจากเราไม่ได้..ถือว่ายังไม่ผ่านด่านแรกของความเป็นมืออาชีพ

ปรับตัวยืดหยุ่นในสิ่งที่ทำได้ แต่ขณะเดียวกัน รักษาเอกลักษณ์ ตัวตน คุณค่าที่สำคัญในชีวิตไว้ ถือเป็นโจทย์ใหม่ ที่มืออาชีพต้องแสวงหาความสมดุล

นอกจากนั้น สิ่งหนึ่งที่มีมือใหม่ต้องฝึก คือ มองโลกจากสายตาพี่หัวหน้างาน

พี่หลายคนเอือมระอากับน้องใหม่ ที่ “ไม่ทุ่ม” “ไม่อึด” “ไม่รับผิดชอบ”

ดังนั้น หากน้องมีปัญหา อาทิ ทำงานไม่ทัน เลยนั่งทับมันไว้ รอให้พี่ตาม พี่ถามถึง จึงค่อยบอก

ในมุมน้อง มองได้เป็นฉากๆ ว่างานมาก งานยาก งานเยอะ ถึงส่งงานไม่ทัน..พี่น่าจะเข้าใจฉันบ้าง

แต่หากมองโลกจากมุมพี่ น้องอาจมีความเข้าใจขึ้นว่า พี่มีสิทธิ์หงุดหงิด ลดความไว้วางใจ หากน้องไม่ส่งงานตามกำหนด

ที่สำคัญ หากพี่ต้องตาม ต้องทวง ต้องจี้ แม้น้องมีคำอธิบาย แต่ยามนั้นคล้าย “แก้ตัว” ยิ่ง

ดังนั้น หากลูกน้องเล็งแล้วว่า มีปัญหาแน่ เช่น ส่งงานไม่ทัน ต้อง..ย้ำต้อง

1.รีบแจ้งปัญหาให้พี่รับรู้

พี่ครับ งานที่ผมจะส่งพี่วันมะรืน ตอนนี้มีปัญหา ทำให้งานเสร็จช้ากว่าที่ผมวางแผนไว้ ผมขอโทษครับ

2.ชี้แจงที่มาที่ไป (แบบไม่โทษดินฟ้าอากาศ)

เป็นเพราะผมยังไม่คุ้นกับระบบใหม่ ข้อมูลที่ใส่เลยไม่ถูกต้อง ต้องเริ่มใหม่แทบทั้งหมด

3.เสนอแนวทางแก้ไข

ต้องแสดงศักยภาพ และความรับผิดชอบ ว่าเราก็พยายามหาหนทางแก้ไข สมองไม่กลวง

ผมเข้าใจว่า พี่ต้องเอาข้อมูลไปเสนอผู้บริหารในที่ประชุมสัปดาห์หน้า วิธีที่ผมคิดว่าน่าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ คือ ผมจะเร่งทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้บริหาร และส่งให้พี่ภายในพรุ่งนี้ก่อน พี่จะได้ใช้เตรียมการเรื่องเข้าประชุมได้ ส่วนรายละเอียดที่ผมกำลังใส่ข้อมูลใหม่ อาจต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 2 วัน ผมจะเร่งดำเนินการและส่งตามมาภายในวันศุกร์นี้

4.ถามความคิดเห็นของพี่

พี่คิดว่าแนวทางแก้ปัญหาแบบนี้ พอตอบโจทย์พี่ไหมครับ หรือพี่ต้องการให้ผมทำอย่างไรครับ

5.ทำให้พี่มั่นใจว่าไม่พลาด

ผมได้ไปศึกษาเอกสารที่พี่ใช้ประชุมเดือนที่แล้ว เลยจะสรุปบทวิเคราะห์ใส่ฟอร์มนี้ ที่พี่เคยใช้ในการเสนอที่ประชุม หากพี่ต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มจากฟอร์มนี้ บอกผลเลยนะครับ

บ่ายนี้ผมจะสรุปข้อมูลและเอาไปวิเคราะห์เบื้องต้นที่บ้านคืนนี้ พรุ่งนี้ทานกับฝ่ายการตลาด ก่อนส่งให้พี่ไม่เกิน 4 โมงเย็น ส่วนรายละเอียดเป็นเอกสารแนบ จะส่งให้พี่ไม่เกินวันศุกร์ครับ

6.ขอโทษ และให้คำมั่น

ผมขอโทษที่ส่งงานทั้งหมดให้ไม่ทันครับ ผมจะเร่งทำความเข้าใจระบบใหม่ เดือนหน้าจะได้ไม่เกิดปัญหาแบบนี้อีกครับ

ลูกน้องในฝันกล้าสร้างความสัมพันธ์ กล้าแก้ปัญหา และกล้าขอโทษเช่นนี้

พี่จะโหดแค่ไหน สักพักก็ใจอ่อน

“ปริศนาอักษรไขว้”

คือ เกมส์ที่ต้องคิดแก้ ลองแล้วผิด..ก็ลองใหม่

มิใช่ยอมแพ้ง่ายๆค่ะ