ลงทุนเพื่อการศึกษา

ลงทุนเพื่อการศึกษา

ลงทุนเพื่อการศึกษา

ในช่วงที่มีการจัดกิจกรรมครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ดิฉันยิ่งตระหนักว่า การลงทุนในการศึกษานั้นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในระดับครอบครัว ระดับเมือง หรือระดับประเทศ

ตัวอย่างของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ตลอดเวลา 100 ปีที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สร้างบุคลากรมากมายให้กับประเทศไทยในทุกๆ ด้าน สมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงริเริ่มการศึกษาสมัยใหม่ ทรงก่อตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และ ภายหลังเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระผู้ทรงประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เนื้อความของเพลง “เกียรติภูมิจุฬาฯ” ตอนหนึ่งมีอยู่ว่า “ทั่วราชอาณาจักรนี้เราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วน” และในช่วงที่ประเทศกำลังพัฒนาในระยะ 50 ปีแรกของการสถาปนา ข้าราชการส่วนใหญ่จะสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การลงทุนเรื่องการศึกษาเป็นการลงทุนที่ใช้เวลา กว่าจะเห็นผลอย่างน้อยก็ 20 ปี หรือหลายครั้งอาจจะนานกว่านั้น และถ้าลงทุนไม่ดี ก็จะเห็นผลในช่วงนั้นเช่นกัน

ดิฉันได้พบปะผู้อยู่ในวัย 50 ปีขึ้นไปจำนวนมาก ที่แสดงความเป็นห่วงการศึกษาของไทย และใช้มาตรวัดในสมัยของท่านวัดผลของการศึกษาสมัยนี้ และผลออกมาคือ ไม่พอใจ รู้สึกว่ามันถดถอยลง

ในหมู่เพื่อนๆ ของดิฉันก็มีการถกกันเรื่องนี้มาก และก็ได้มุมมองใหม่ๆ จากเพื่อนที่มาจากหลายวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนที่จากเมืองไทยไปอยู่ต่างประเทศหลายสิบปี ซึ่งลงทุนเข้าไปนั่งฟังอาจารย์สอนในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในหลายจังหวัด

ประเด็นที่ดิฉันอยากจะฝากไว้ในวันนี้คือ หากเราปรับปรุงมาตรวัดให้เป็นไปตามยุคสมัย เราอาจจะพบว่า เยาวชนไทยไม่ได้รับการศึกษาที่เลวร้ายแบบที่วิพากษ์กัน เด็กสมัยนี้สามารถทำงานโดยใช้ทักษะหลายๆ อย่างที่ผู้ใหญ่รุ่นเราไม่ได้ทำกัน ที่สำคัญคือ อยากให้ตั้งเป้าหมายการอบรมเยาวชนว่าต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม รู้จักหน้าที่และบทบาทของตัวเอง รู้กาลเทศะ มีความรับผิดชอบ มีสำนึกต่อส่วนรวม และรักษาคุณลักษณะเด่นในการ “มีจิตใจเป็นผู้ให้บริการ” เอาไว้

อย่าวัดกันที่คะแนนสอบ ถ้าข้อสอบวัดผลยังเป็นข้อสอบที่ผู้ออกใช้วัดความจำ ดิฉันเคยเขียนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วว่า ที่เด็กไทยแพ้ต่างชาติในการสอบวัดผลต่างๆ นั่น เป็นเพราะเด็กส่วนหนึ่ง ประยุกต์ใช้ความรู้ไม่เป็น แก้ปัญหาไม่เก่ง เพราะข้อสอบของไทยเน้นความจำมากกว่าการประยุกต์ใช้ความรู้

ถ้าเราตั้งใจจริง ผนึกกำลังจริง การยกระดับการศึกษาของเราให้ขึ้นไปอยู่ระดับแนวหน้าของโลก เป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินกว่าที่จะทำได้

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงประทาน พระสัมโมทนียกถา เนื่องในพิธีบำเพ็ญกุศลวาระ 100 ปีแห่งการประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ชาวไทยช่วยกันเป็นผู้นำผลักดันให้โลกเกิดสันติสุข

เริ่มเลยค่ะ เริ่มตั้งแต่วันนี้ อีก 20 ปี เราจะเห็นผลกัน เราจะตั้งเป้าเป็นผู้นำแห่งศาสตร์การใช้ชีวิตของโลก