'หนังสือดีสองเล่มที่ควรอ่าน'

'หนังสือดีสองเล่มที่ควรอ่าน'

วันนี้ผมขอแนะนำหนังสือสองเล่มคือ “ฝ่าวิกฤติธรรมาภิบาลไทย” และ “ฝ่าวิกฤติคอร์รัปชันไทย”

 ซึ่งทั้งสองเล่มเป็นหนังสือที่ผมได้เขียนขึ้นเกี่ยวกับปัญหาธรรมาภิบาลและปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทย เป็นหนังสือที่ควรอ่าน สำหรับท่านที่สนใจและตระหนักในความสำคัญของทั้งสองปัญหานี้ที่จำเป็นต้องแก้ไข เพื่ออนาคตของประเทศ

เล่มแรก ฝ่าวิกฤติธรรมาภิบาลไทย เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความที่ผมเขียนช่วงปี 2555 – 2559 เรื่องธรรมาภิบาล หรือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี ในภาคเอกชนและภาครัฐที่ตีพิมพ์ในคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ นำมาพิมพ์รวมเล่มเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจในประเด็นธรรมาภิบาลและแนวคิดของผมในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมได้ให้เวลามากขึ้น หลังลาออกจากตำแหน่งงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และเข้ามาช่วยงานสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี ในตำแหน่งประธานบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ

ธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นประเด็นที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทย เพราะหมายถึง การมีระบบ หรือ กระบวนการทำงานที่โปร่งใส มีความรับผิดรับชอบ สามารถตรวจสอบได้ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีบนพื้นฐานของความมีเหตุมีผล ถูกต้องตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ตัดสินใจและผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นคุณลักษณะและเงื่อนไขสำคัญของประเทศที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพ

สำหรับธุรกิจเอกชน บริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะได้รับความไว้วางใจ หรือ trust จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความไว้วางใจนี้ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้บริษัทสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและยั่งยืน ตรงกันข้าม บริษัทที่ขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ ไม่มีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ มักมีปัญหามาก จะมีข่าวเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมาย ผิดกฎระเบียบโดยพนักงานและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข้อมูลภายในหาประโยชน์ การฉ้อโกง ประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้ง และการทุจริตคอร์รัปชัน ความไม่ถูกต้องเหล่านี้ทำให้ธุรกิจของบริษัทไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กระทบการดำเนินงาน ความน่าเชื่อถือ และความยั่งยืนของบริษัท

สำหรับภาครัฐหรือภาคราชการก็เช่นกัน ประเทศที่ธรรมาภิบาลในภาครัฐอ่อนแอมักจะเป็นประเทศที่มีปัญหามาก ไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าหรือพัฒนาต่อไปได้ในระดับที่สูงขึ้น เพราะประเทศมีความไม่ถูกต้องมาก ซึ่งเป็นผลจากการบริหารราชการที่ไม่โปร่งใส ไม่ใช้เหตุผล และไม่สามารถตรวจสอบได้ นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด การใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง และการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นรุนแรงและกว้างขวาง ทั้งหมดสะท้อนความอ่อนแอของธรรมาภิบาลในภาครัฐของประเทศ

ในความเห็นผม ธรรมาภิบาลเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของประเทศไทยขณะนี้ที่ต้องปฏิรูป และต้องทำให้ดีขึ้นอย่างจริงจังทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ธรรมาภิบาลเป็นระบบของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ที่ต้องเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความโปร่งใส ความมีเหตุมีผล และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะนำประเทศและสังคมไปสู่ความเข้มแข็ง ทำให้ประเทศมีความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆที่มีอยู่ได้ ด้วยการใช้เหตุและผล จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนในสังคม ที่ต้องสร้างธรรมาภิบาลในประเทศให้เกิดขึ้น เพื่ออนาคตของประเทศและของลูกหลาน ซึ่งผมหวังว่า หนังสือเล่มเล็กๆนี้ จะเป็นประโยชน์และช่วยจุดพลังให้สังคมไทยให้ความสำคัญเรื่องธรรมาภิบาลและร่วมกันผลักดันเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้น

เล่มที่สอง ฝ่าวิกฤติคอร์รัปชันไทย เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความที่ผมเขียนเกี่ยวกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และโพสต์ทูเดย์ในช่วงเวลาเดียวกัน คือปี 2555 – 2559 เราทราบกันดีว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เป็นปัญหาที่สะสมมานาน โดยไม่มีการแก้ไขจริงจัง จนปัญหาคอร์รัปชันได้เติบโตและฉุดรั้งประเทศไม่ให้ก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น ทำลายการแข่งขันและนวัตกรรมในระบบธุรกิจ ทำลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างแรงจูงใจที่ผิดพลาดให้กับคนในสังคม และเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าไม่แก้ไข คอร์รัปชันก็จะทำลายอนาคตของประเทศและคนไทยรุ่นต่อๆ ไปอย่างแน่นอน

หนังสือ “ฝ่าวิกฤติคอร์รัปชันไทย” สะท้อนความรู้และข้อคิดของผมในเรื่องนี้ตั้งแต่เข้ามาช่วยงานที่สถาบันไอโอดี และโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต การเข้ามาช่วยงาน ทำให้ผมได้มีโอกาสศึกษาและเข้าใจประเด็นการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น ทั้งในแง่เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และในแง่ธุรกิจหรือพาณิชยศาสตร์ ทำให้เข้าใจว่า “คอร์รัปชัน” เป็นปัญหาพฤติกรรมสังคมที่ได้เปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งเพราะการบังคับใช้กฎหมายในประเทศเราอ่อนแอ อีกส่วนหนึ่งก็มาจากอิทธิพลระบบอุปถัมภ์และการเมือง จนสร้างพฤติกรรมและแรงจูงใจที่ผิดพลาดให้กับคนในสังคม

แต่พฤติกรรมสังคมก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จากดีเป็นเลวและจากเลวเป็นดีได้ แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนในสังคมต้องการและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และพร้อมร่วมมือแก้ไขปัญหา เพื่อดึงประเทศให้หลุดออกจากเส้นทางหายนะที่กำลังเดิน ผมหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ให้ผู้อ่านเข้าใจปัญหาที่ประเทศเรามีอยู่ เข้าใจความพยายามต่างๆ ที่หลายฝ่ายกำลังช่วยกันแก้ไขปัญหาขณะนี้ และเมื่ออ่านแล้ว ก็หวังว่าจะได้ท่านผู้อ่านมาร่วมเป็นพลังช่วยแก้ไขปัญหาที่สำคัญนี้ เพื่ออนาคตของประเทศและของลูกหลาน

หนังสือทั้งสองเล่มคงจะวางตลาดเร็วๆนี้ ใครสนใจที่จะนำหนังสือทั้งสองเล่มไปแจก เพื่อเสริมความรู้ให้กับคนไทยในโรงเรียนหรือห้องสมุดประชาชน สามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ e-mail ด้านบน [email protected] เพื่อช่วยกันสร้างความรู้ สร้างพฤติกรรมใหม่ และสร้างประเทศ