ฤาจะถึงจุดจบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์?

ฤาจะถึงจุดจบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์?

ฤาจะถึงจุดจบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์?

“เกี่ยวอะไรกับเรา” ฉบับนี้ผมขอแบ่งปันมุมมอง ทิศทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจเปลี่ยนไปจากเหตุการณ์สำคัญในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาของผลประชามติ Brexit และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาซึ่งทำให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบตามทฤษฎีโดมิโนในการเลือกตั้งของประเทศ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศสและเยอรมนี โดยหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจ มหภาคโดยรวมจะเปลี่ยนจากยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ไปสู่การดำเนินนโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionism) ผ่านแนวคิดชาตินิยม (Nationalism) หรือไม่

I. ต้นตอของปัญหา

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม (Capitalism) ที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามความสามารถและโอกาสของตนโดยอาศัยตลาดและราคาในการเลือก มักถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (Income Inequality) จนทำให้แนวคิด Anti-establishment กลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ แต่ผมมีความเห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ไม่ได้มาจาก ระบบทุนนิยม แต่มาจากความไม่เท่าเทียมกันของ “ทุนตั้งต้น” ซึ่งคือเงินหรือหลักประกัน บนข้อสังเกตในฐานะลูกจ้างว่า เราไม่สามารถนำแรงงานตัวเองไปเป็นหลักประกันการกู้เพื่อลงทุนในธุรกิจได้ สิ่งที่พอทำได้คือการใช้หลักฐานอัตราเงินเดือนในการกู้เงินเพื่อใช้ส่วนตัว ผ่านสินเชื่อบุคคลหรือบัตรเครดิต

 แต่ในทางกลับกัน สินทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่มีทุนแต่เดิมนั้น สามารถแปลงเป็นทุนเพิ่มเติมได้ผ่านคำพูดที่คุ้นหูว่า“เงินต่อเงิน” ซึ่งถึงแม้ว่าระบบทุนนิยมจะทำให้โอกาสในการสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น แต่จากจุดเริ่มต้นที่ไม่เท่ากัน บนมรดกของความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น เชื้อชาติและเพศ ทำให้ผลบวกของความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นทวีคูณสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้นและทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง

II. นโยบายการค้าใดคือคำตอบ

หากพิจารณาข้อมูลในเชิงลึก จะพบว่าการวัดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ผ่านสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) สามารถมองได้สองมิติ โดยมิติแรกคือการวัดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศตนเอง ที่อาจเป็นชนวนหลักของกระแสความเปลี่ยนแปลงขณะนี้ และมิติที่สองคือการวัดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างประเทศซึ่งจากข้อมูลที่รวบรวมโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1820 ถึงปี 2000 พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์จีนี ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 16 ในปี1820 เป็น 54 ในปี 2000 (100 คือความเหลื่อมล้ำโดยสมบูรณ์) โดยจุดสำคัญของการเพิ่มขึ้นเกิดในช่วง การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ที่ทำให้กลุ่มประเทศมั่งคั่งโลกตะวันตก มีความเหลื่อมล้ำกับค่าเฉลี่ยโลกอย่างมาก แต่หลังจากปี ค.ศ.1980 เป็นต้นมา พัฒนาการด้านการขนส่งและโทรคมนาคม ได้ขับเคลื่อนกระแสโลกาภิวัตน์และขยายความเจริญ จนลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศลงไป

แต่ในทางกลับกันได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศของกลุ่มประเทศมั่งคั่งโลกตะวันตกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับ งานวิจัยของนาย Branko Milanovic นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ที่พบว่าการได้รับประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ มีความไม่เท่าเทียมกัน

โดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เช่นจีน ได้รับผลบวกอย่างมากผ่านการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในทางกลับกัน กลุ่มชนชั้นกลางและล่างของประเทศมั่งคั่งกลับได้รับผลเชิงลบ มีแต่เพียงกลุ่มชนชั้นนำที่ได้รับผลบวก ซึ่งสถานการณ์นี้ของกลุ่มประเทศมั่นคั่งมาจากปัญหาของทุนตั้งต้นตามที่ได้กล่าวมาแล้ว รวมถึงการบริหารนโยบายสาธารณะที่ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเบ็ดเสร็จ โดยขาดการแทรกแซงที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เช่นการเก็บภาษีของกลุ่มคนมั่งคั่งที่หลายฝ่ายมองว่าควรมีอัตราที่สูงกว่าที่เป็นอยู่

หากพิจารณาข้อประจักษ์ข้างต้นประกอบกับคำถามของบทความนี้ จะพบว่าการดำเนินนโยบายปกป้องทางการค้าอาจลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ภายในประเทศและตอบรับกระแสความเปลี่ยนแปลง แต่การดำเนินนโยบายปิดอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการปรับ จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลงเพราะขาดการปฏิสัมพันธ์เชิงบวกในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งตัวอย่างที่อาจเห็นได้ชัด คือนโยบาย Made in USA ของ ประธานาธิบดีทรัมป์ที่เสนอให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น แอปเปิล หันมาสร้างฐานการผลิตในอเมริกาแทนจีน ทั้งที่ต้นทุนแรงงานสูงกว่ามาก ซึ่งในระยะสั้นอาจมองเป็นผลดีกับตลาดแรงงานอเมริกัน แต่เมื่อศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทลดลง สุดท้ายการจ้างงานก็จะไม่ยั่งยืน

โดยสรุป ฝ่ายการเมืองของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง น่าจะดำเนินนโยบาย ขายฝันกับประชาชนเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นหนทางการขึ้นสู่อำนาจได้เร็ว ดังนั้นในช่วงนี้ เราอาจเห็นชัยชนะของนโยบายปกป้องการค้าและแนวคิดชาตินิยมในการเลือกตั้งปี 2560 บ้าง แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อได้รับเลือกแล้ว ฝ่ายการเมืองนั้นคงจะปฏิเสธการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามกระแสโลกาภิวัตน์ในระยะยาวไม่ได้