'สรรพนาม' ไม่ใช่แค่ 'สรรพนาม'

'สรรพนาม' ไม่ใช่แค่ 'สรรพนาม'

การใช้ “ สรรพนาม” ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการใช้คำแทนชื่อนาม อย่างที่ร่ำเรียนมาเท่านั้น

 หากแต่การใช้สรรพนามเป็นการถักทอความหมาย ของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมหนึ่งๆ ดังนั้น “ สรรพนาม” จึงมีความหมายทางสังคม/สังคมการเมืองอย่างเต็มเปี่ยม

หากมองไปในอดีตก็พบว่ามีความต้องการจะเปลี่ยนแปลง และจัดความสัมพันธ์ทางสังคม/สังคมการเมืองอยู่ เช่น เมื่อคณะราษฎรขึ้นมามีอำนาจอย่างเต็มเปี่ยมในทศวรรษ ๒๔๘๐ ก็ได้พยายามที่จะปรับเปลี่ยนจินตนาการ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ด้วยการออกระเบียบรัฐนิยม จัดระเบียบตัวตนของคนไทยและที่สำคัญ ได้ออกระเบียบการใช้คำสรรพนามแทนชื่อให้เป็นมาตรฐานร่วมกัน ได้แก่ ฉัน, ท่าน, เรา ซึ่งการใช้สรรพนามเช่นนี้ก็เท่ากับการยุติจินตนาการลำดับชั้นของผู้คน อันเป็นหัวใจหลักของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ที่ต้องการสร้างความเสมอภาคของคนในสังคม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ค่อยๆ ฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และได้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองคืนกลับจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ทำให้ความเสมอภาคในการใช้สรรพนามที่เพิ่งสร้างขึ้นมาจบลงอย่างรวดเร็ว

การฟื้นคืนอำนาจของกลุ่มอนุรักษ์นิยมจำเป็นต้องสามัคคีกับคนอีกหลายกลุ่มในสังคม จึงทำให้เกิดใช้สรรพนามที่ซับซ้อนมากขึ้น ในด้านหนึ่งการใช้สรรพนามของสังคม ยังเน้นลำดับชั้นอย่างชัดเจนภายใต้กรอบคิดเรื่องการใช้ “ คำสุภาพ ” เช่น จะไม่เรียกท่านผู้ว่าราชการว่า “ เธอ ” หรือ “ แก” เป็นต้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง การผนวกรวมเอาวัฒนธรรมชนบทเข้ามาอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมไทย ก็ได้ทำให้การใช้สรรพนามแบบ “เครือญาติ/เสมือนเครือญาติ” เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน

คนไทยที่เติบโตมาในช่วงเวลาหลังการพัฒนาก็ไม่สับสนอะไร เช่น เมือพบผู้ใหญ่ในระบบราชการก็เรียกว่า “ท่าน” แต่เมื่อหันไปพบกับภารโรงก็เรียกว่า “ ลุง ” ( ทั้งๆที่สองคนอาจจะอายุเท่ากัน ) สำดับชั้นของสังคมจึงซ้อนทับไปกับความสัมพันธ์เชิงเครือญาติเสมือนตลอดมา

แต่พลวัตรทางเศรษฐกิจในช่วงสามทศวรรษหลัง ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากในหลายมิติ ด้วยกัน มิติแรก ความเป็น “ ชนชั้น” สืบทอดกันมาได้อย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมากขึ้น ได้ทำให้กลุ่มชนชั้นนำมีจินตนาการความสัมพันธ์ทางสังคม/สังคมการเมืองที่ตนเองมีเหนือคนกลุ่มอื่น คนกลุ่มนี้มักจะถูกเรียกจนเคยชินว่า “ท่าน” และจะรู้สึกอึดอัดไม่พอใจหากมีการใชัสรรพนามต่อตนเองที่มีนัยยะต่ำกว่า เช่น ถูกเรียกว่า “ ป๋า” ( ซึ่งคำว่าว่า “ป๋า” ถูกใช้กับกลุ่มที่แปลงสภาพตนเอง ให้มีงูอยู่บนหัวในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ เป็นต้นมา และกลุ่มชนชั้นนำที่สืบทอดชนชั้นมานานทนรับไม่ได้ แม้ว่าจะมี “ งู” อยู่บนหัวก็ตาม ) เป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงในมิติที่สอง ได้แก่ การขยับเลื่อนชนชั้นได้เกิดมากขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องจากภาคเกษตรกรรมได้เลื่อนชนชั้นขึ้นมา เป็นชนชั้นกลางที่ทำมาหากินบนทักษะความสามารถส่วนตัวมากขึ้น เช่น พี่น้องจากร้อยเอ็ดที่เริ่มต้นเข้ามาเช่าแท๊กซี่ขับในกรุงเทพ และในปัจจุบันร้อยละห้าสิบได้กลายเป็นเจ้าของอู่ขนาดกลางและเล็ก ( จากเดิมที่มีคำว่า “ เจ็กดาวน์ ลาวผ่อน” แต่ตอนนี้เป็น “ ลาวดาวน์ เครือข่ายลาวผ่อน ”)

พร้อมไปกับการขยายตัวของการเลื่อนชนชั้น ส่งผลสัมพันธ์กับการขยายตัวของความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ ที่เข้มข้นมากขึ้นได้และก่อให้เกิด “ ความเสมอภาคบนอำนาจการซื้อ ” ได้ทำให้จิตนาการความสูงต่ำของผู้คนลดในความสัมพันธ์เชิงค้าขาย ดังเห็นได้ชัดเจนจากการเปลี่ยนสรรพนามที่ใช้เรียกผู้ซื้อ จากเดิมอาจจะใช้คำสรรพนามว่าลุง ป้า น้า อา แต่ต่อมาความเสมอภาคบนความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้การใช้คำสรรพนามกับผู้ซื้อด้วยคำว่า “ลูกค้า/คุณลูกค้า” แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง

พนักงานขายทุกระดับจะใช้คำว่า ”ลูกค้า/คุณลูกค้า” อย่างสบายใจ เพราะไม่ต้องแสดงความใกล้ชิดเป็นเครือญาติเสมือนแบบเดิมและรู้ดีว่า “ ลูกค้า” ก็ไม่ได้ปรารถนาจะนับญาติกันอีกแล้ว ขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องกระอักกะอ่วนใจเวลาต้องประเมินผู้ซื้อว่า เป็นคนระดับใด จะใช้คำว่า “ท่าน” ดีหรือไม่ หรือหากจะใช้คำว่า “คุณ/ผม” ก็ดูจะเป็นความเท่าเทียมกันเกินไป ซึ่งจะก่อความอึดอัดด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ความเปลี่ยนแปลงของคำสรรพนามจึงไม่ใช้แค่คำสรรพนาม หากแต่แผงฝังไว้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่กลั่นกรองมาจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดำเนินมา ในหลายพื้นที่ เช่น หน่วยราชการสำคัญๆ ก็พบว่าลำดับชั้นทางสังคมยังคงเหนียวแน่นและยังคงสืบเนื่องการใช้สรรพนามที่เน้นความแตกต่างทางชนชั้น แต่ในพื้นที่สาธารณะทั่วไป กลับเกิดการใช้สรรพนามที่ทำให้เรารับรู้ได้ถึงความรู้สึก “ความเสมอภาค” กันมากขึ้น

ความซับซ้อนของการใช้คำสรรพนาม จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ของความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทยที่ยังไม่ลงตัว หากจะพิจารณาการปรับเปลี่ยนไปสู่ความเสมอภาค ก็ยังไปไม่ถึงระดับเปลี่ยนโครงสร้าง ขณะเดียวกัน การจรรโลงระดับชนชั้นก็ถูกเบียดขับมากขึ้นในพื้นที่สาธารณะทั่วไป

แน่นอนว่าท่ามกลางสภาวะก้ำกึ่งเช่นนี้ ก็คงได้พบเห็นอะไรแปลกๆเพิ่มมากขึ้นอีกครับ