EM พร้อมต้านดอกเบี้ยขาขึ้น หรือประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย?

EM พร้อมต้านดอกเบี้ยขาขึ้น หรือประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย?

EM พร้อมต้านดอกเบี้ยขาขึ้น หรือประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย?

เป็นไปตามคาดสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในปี 2560 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed สิ่งที่ตลาดจับตามองจากที่ประชุม Fed ครั้งนี้ คือ Dot Plot ที่บ่งบอกอัตราความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต ซึ่ง Fed มีมติคง Dot Plot ไว้เช่นเดิมกับที่ระบุไว้ปลายปีที่แล้วว่า ปีนี้มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง สะท้อนว่าดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ดี ตลาดกังวลถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดกับสินทรัพย์ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets (EM) จากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ว่าจะทำให้ดอลล่าร์แข็ง เงินในกลุ่มประเทศ EM อ่อนค่า ทำให้เงินทุนไหลออก ตลาดหุ้นผันผวนและเสี่ยงที่จะถูกเทขายอย่างหนัก....

สิ่งที่กล่าวมานี้เปรียบเสมือน Deja Vu ในช่วงเหตุการณ์ “Taper Tantrum” ปี 2556 เวลานั้น ดัชนี MSCI Emerging Markets ลดลงแรงถึง 15.7% ในเวลาเพียง 1 เดือน และค่าเงินของกลุ่มประเทศ EM อ่อนลงกว่า 3.9% อย่างไรก็ดี สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้เชื่อได้ว่าทิศทางนโยบายการเงินของ Fed ที่เข้มงวดขึ้น จะไม่ทำให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยด้วยเหตุผล 5 ประการ ดังนี้

  • เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและบรรยากาศการลงทุนดีขึ้น – จริงอยู่ในระยะสั้นราคาหุ้นในกลุ่มประเทศ EM มักจะลดลงเมื่อดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขยับขึ้น แต่ในระยะยาว การขึ้นดอกเบี้ยแสดงถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เศรษฐกิจที่ดีขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และภูมิภาคอื่นจะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ EM รวมทั้งราคาหุ้นได้ดี
  • พื้นฐานเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ EM แข็งแกร่ง – ประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่ม EM มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วกว่า 2 เท่า โดย IMF ประมาณการว่า GDP ปี 2560 ของกลุ่มประเทศ EM จะโตเฉลี่ย 4.0% เทียบกับ 1.9% ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ สัดส่วนปัจจุบันของ GDP โลกมาจากลุ่มประเทศ EM สูงถึง 35% นอกจากนี้ ตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศ EM แข็งแกร่งมาก ด้วยโครงสร้างประชากรวัยทำงานสูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งส่วนใหญ่เข้าสู่วัยสูงอายุ
  • การค้าที่เกินดุลจะช่วยพยุงค่าเงินให้มีเสถียรภาพ – ประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่ม EM มีดุลการค้าเกินดุลสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2556 ดังนั้น ประเทศเหล่านี้กักตุนทุนสำรองระหว่างประเทศที่ได้จากการส่งออกในปริมาณที่มากขึ้น และทุนสำรองนี้เองที่สามารถใช้รักษาเสถียรภาพค่าเงิน ดังเช่นที่รัฐบาลจีนทำทุกวันนี้
  • ราคาตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศ EM น่าสนใจ – วันนี้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซื้อขายกันที่ค่าเฉลี่ยของราคาหุ้นต่อกำไรหรือ PE ratio ที่ประมาณ 16.3 เท่า ซึ่งเป็นกรอบราคาสูงสุดที่เคยเกิดขึ้น แต่หุ้นในกลุ่มประเทศ EM ยังคงซื้อขายที่ระดับ PE 12 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 10 ปี นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของผลกำไรในอีก 12 เดือนข้างหน้าของหุ้นในกลุ่มประเทศ EM ก็สูงกว่า ทั้งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การปฏิรูปภายในประเทศ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่กลับมามีเสถียรภาพ หากกำไรเป็นไปตามคาด ราคาหุ้นในกลุ่มประเทศ EM มีโอกาสเพิ่มขึ้นได้เร็วกว่าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
  • คาดว่าดอลลาร์จะทรงตัวมากกว่าแข็งค่า เพราะเงินเฟ้อจะขึ้นเร็วกว่าดอกเบี้ย – ประเด็นสำคัญสำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินทั่วโลกคือ ทิศทางของดอลลาร์ว่าจะตอบสนองต่อนโยบายการเงินของ Fed และนโยบายการคลังของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไร ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วคือ 3.7% ตั้งแต่วันเลือกตั้ง และระดับค่าเงินดอลลาร์ ณ ปัจจุบันได้รับรู้การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปแล้ว ดังนั้น โอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นต่อจากนี้เริ่มจำกัด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศ EM เพราะชะลอเงินทุนไหลออก