สหรัฐอเมริกากำลังปกป้องการค้าด้วยเงินของใคร?

สหรัฐอเมริกากำลังปกป้องการค้าด้วยเงินของใคร?

ในขณะนี้ฝ่ายบริหารของทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกากำลังมองหาวิธีต่างๆ เพื่อปกป้องการค้า

 แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีภาษีศุลกากรหรือภาษีชายแดน การปกป้องทางการค้าเป็นการทิ้งภาระภาษีให้แก่ผู้บริโภคทั้งสิ้น เนื่องจากภาษีทำให้เกิดการบิดเบือนตลาด เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคจ่ายเงินซื้อสินค้าภายในประเทศ ที่ราคาแพงกว่าโดยไม่จำเป็น แทนที่จะซื้อสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกกว่า

ถึงแม้ว่า ภาษีที่ช่วยปกป้องการค้าอาจจะช่วยสงวนการจ้างงาน ในอุตสาหกรรมที่ขาดประสิทธิภาพในประเทศไว้ได้ แต่ก็ต้องแลกด้วยคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง (เนื่องมาจากต้นทุนภาษี) ถ้ามองในแง่ของการนำเสนอ ภาษีเพื่อการปกป้องการค้าเป็นคำที่ฟังดูน่าสนใจ และประโยชน์ที่จะเกิดจาก “การรักษาตำแหน่งงานถึง 1,000 ตำแหน่งไว้ให้คนอเมริกัน” ย่อมน่านำไปทวีต Tweet มากกว่าความจริงที่ว่า สินค้าต่างๆ จะมีราคาสูงขึ้น 0.2%” เศรษฐศาสตร์ ให้น้ำหนักความสำคัญแก่ต้นทุนมากกว่าผลประโยชน์ แต่ในโลกเศรษฐกิจแบบโซเชียลมีเดีย ความจริงมักจะพ่ายแพ้ข่าวปลอมที่ส่งต่อๆ กัน

นอกจากนี้ภาษีที่เก็บจากผู้บริโภคยังสามารถส่งผลให้มีการจัดสรรมาตรฐานการครองชีพใหม่ เนื่องจากผู้คนต่างซื้อสินค้าและบริการไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้แต่ละคนย่อมได้รับผลกระทบจากภาษีที่ตกกับผู้บริโภคแตกต่างกันออกไป ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงสามารถคาดการณ์ได้ว่าคนกลุ่มใดในอเมริกาจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดภายใต้ “ภาษีเพื่อการป้องกันทางการค้า” จากการดูข้อมูลการค้าตามมูลค่าเพิ่มและรูปแบบของการบริโภคที่แตกต่างกัน

หากภาษีเพื่อปกป้องทางการค้ามีผลบังคับใช้กับสินค้าบางประเภท เช่น อาหารนำเข้า ภาษีนี้จะส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพของชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำมากกว่าผู้ที่มีรายได้สูง เพราะชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำใช้เงินที่หามาได้ไปกับอาหารเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การกีดกันสินค้าประเภทอาหารมีผลกระทบต่อคนอเมริกันที่มีรายได้ต่ำสุดมากกว่าคนอเมิริกันที่มีรายได้สูงสุดถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมรถยนต์นั้นแตกต่างออกไป เพราะชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำไม่นิยมซื้อรถยนต์ใหม่ ดังนั้นการใช้มาตรการภาษีเพื่อกีดกันการนำเข้ารถยนต์จะมีผลกระทบโดยตรงต่อชาวอเมริกันที่มีรายได้สูงมากกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำ เพราะชาวอเมริกันที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะซื้อรถใหม่มากกว่า ซึ่งรถยนต์เหล่านั้น ถ้าไม่ใช่รถยนต์นำเข้าก็มีชิ้นส่วนที่นำเข้า ดังนั้น มาตรการปกป้องการค้าในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ส่งผลต่อชาวอเมริกันที่มีรายได้สูงมากกว่าผู้มีรายได้ต่ำถึงสามเท่าตัว

หากดูรายการสินค้าที่มีข้อมูลระบุไว้จะพบว่านอกเหนือจากรถยนต์แล้ว ภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้าอื่นๆ จะส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำมากกว่าชาวอเมริกันที่มีรายได้สูงทั้งสิ้น ซึ่งเหตุผลนี้เองอาจจะช่วยอธิบายได้ว่าทำไมทั้งนักการเมืองจากพรรครีพลับลิกันและเดโมแครตในอเมริกาจึงแสดงความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของภาษีศุลกากรต่อ “กลุ่มคนทำงานของอเมริกา (ถึงแม้ว่าผลกระทบที่มีต่อชาวอเมริกันในวัยเกษียณซึ่งมีรายได้ต่ำอย่างมากอาจจะร้ายแรงกว่า)

ดังนั้นจะเกิดอะไรขึ้นถ้าการปกป้องทางการค้าไม่ได้ใช้กับภาคอุตสาหกรรมใดโดยเฉพาะ แต่เป็นภาษีที่บังคับใช้ต่อประเทศใดประเทศหนึ่งหรือต่อกลุ่มประเทศ แน่นอนว่า ผลย่อมแตกต่างกันไปไม่ว่าจะรวมหรือไม่รวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในการป้องกันการค้าก็ตาม เพราะสำหรับชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำ การกีดกันทางการค้าโดยใช้มาตรการภาษีต่อสินค้าทุกชนิดจากจีนนั้นส่งผลเสียเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับการกีดกันทางภาษีต่อประเทศยุโรปหรือคิดเป็นเกือบเป็นสามเท่าเมื่อใช้มาตราการเดียวกันกับเม็กซิโก

ทั้งนี้หลักการดังกล่าวอาจจะฟังดูน่าประหลาดใจแต่ในความเป็นจริงแล้วสินค้าเม็กซิกันมีส่วนประกอบที่มาจากอเมริกาสูงมาก และอาจกล่าวได้ว่าความหมายของคำว่า ผลิตในเม็กซิโก” นั้น จริงๆ แล้วควรเป็น “ผลิตในเม็กซิโกด้วยความช่วยเหลือจากอเมริกา” มากกว่า และสำหรับชาวอเมริกันที่มีรายได้สูงแล้ว การกีดกันทางการค้าต่อจีน น่าจะส่งผลเสียถึงสองเท่าของมาตรการดังกล่าวกับเม็กซิโก เพราะชาวอเมริกันที่มีรายได้สูง มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้านำเข้าจากจีนน้อยกว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำ

กล่าวโดยสรุปคือ ภาษีเพื่อการปกป้องทางการค้าแท้จริงแล้ว คือภาษีต่อมาตรฐานการครองชีพของชาวอเมริกัน และสำหรับสินค้าส่วนใหญ่นอกเหนือจากรถยนต์ ภาษีส่วนใหญ่ตกเป็นภาระของชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำในสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มอื่นๆ

.................................

หนังสือเล่มล่าสุด “The Truth About Inflation” ของพอล โดโนแวน ได้รับการตีพิมพ์โดย Routledge ในเดือนเมษายน 2558 ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ubs.com/pauldonovan สามารถอ่านบทความของพอลเพิ่มเติมได้ในชุดสารคดี UBS หมวดผู้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ที่ www.ubs.com/nobel

.................................

พอล โดโนแวน

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากยูบีเอส