'ไมโครไฟแนนซ์' องคาพยพสำคัญของกัมพูชา

'ไมโครไฟแนนซ์' องคาพยพสำคัญของกัมพูชา

ไมโครไฟแนนซ์ องคาพยพสำคัญของ"กัมพูชา"

สวัสดีครับสมาชิกและผู้อ่านกรุงเทพธุรกิจ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานประชุมผู้บริหารประจำปีของ Hattha Kaksekar Limited หรือ HKL บริษัทไมโครไฟแนนซ์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่สี่ในกัมพูชา และเป็นบริษัทในเครือกรุงศรี กรุ๊ป ณ จังหวัดสีหนุวิลล์ ทำให้ผมมีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมโครไฟแนนซ์ของกัมพูชาและเกี่ยวกับสีหนุวิลล์ จึงอยากจะขอแชร์เรื่องราวบางส่วนกับทุกท่านครับ

วันนี้ผมจะขอพูดถึงอุตสาหกรรมไมโครไฟแนนซ์ก่อน ซึ่งในช่วงห้าปีที่ผ่านมามีการขยายตัวสูงมาก ทั้งด้านสินเชื่อและเงินฝากที่ต่างก็มีอัตราเติบโตเฉลี่ยกว่า 30% ขณะที่หนี้เสียอยู่ที่ระดับต่ำเพียง1.17% สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาและการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคการเงินการธนาคารกัมพูชา ที่ร่วมขับเคลื่อนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศผ่านเงินทุนสนับสนุน ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจ และกลุ่มสถาบันไมโครไฟแนนซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ที่ทวีความสำคัญอย่างมาก มูลเหตุจากปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนกัมพูชาซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ กัมพูชาจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่สถาบันไมโครไฟแนนซ์มีการพัฒนาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ปัจจุบันอุตสาหกรรมไมโครไฟแนนซ์ของกัมพูชามีผู้ให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 57 ราย แบ่งเป็น ไมโครไฟแนนซ์ที่มีใบอนุญาตรับเงินฝากจากประชาชน 7 ราย ส่วนที่เหลืออีก 50 ราย สามารถให้บริการสินเชื่อเพียงอย่างเดียว โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ ราย ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันสูงถึง 84% ลูกค้าส่วนใหญ่ของสถาบันไมโครไฟแนนซ์เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ประเภทอุตสาหกรรมการผลิตระดับครัวเรือนหรือภาคการเกษตร ซึ่งบทบาทสำคัญของสถาบันไมโครไฟแนนซ์นั้น นอกจากจะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กแล้ว ยังทำหน้าที่ช่วยบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจ (incubator) อีกด้วย 

นอกจากนี้ สถาบันไมโครไฟแนนซ์ที่สามารถรับเงินฝาก ยังเป็นช่องทางการออมและสะสมสินทรัพย์ให้กับครัวเรือนในชนบท

สถาบันไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชาส่วนหนึ่งเริ่มต้นจากการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินธุรกิจการปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนในประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางแห่งกัมพูชา Hattha Kaksekar Limited เป็นตัวอย่างหนึ่งของพัฒนาการสถาบันไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา ที่ได้รับเงินทุนเริ่มต้นและความช่วยเหลือด้านเทคนิคและวิชาการจากองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรจากยุโรป ทำให้ HKL มีระบบการบริหารจัดการความเสี่ยง กระบวนการตรวจสอบภายใน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงบรรษัทภิบาลที่ดี เมื่อเทียบกับขนาดขององค์กร นอกจากนั้น สถาบันไมโครไฟแนนซ์มีพันธกิจและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนคือเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับครัวเรือนและ/หรือวิสาหกิจขนาดเล็กด้วยการปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ รวมทั้งการเป็นอีกหนึ่งช่องทางการออมเงิน

บทบาทของสถาบันไมโครไฟแนนซ์กัมพูชาที่มีต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในการเพิ่มโอกาสชีวิตให้มีอิสระจากความยากจนและสร้างโอกาสในการออมเงิน นับเป็นองคาพยพที่สำคัญในบริบทแห่งความเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชาอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ตาม motto ของ Cambodia Microfinance Association ที่ว่า Microfinance is the key to breaking the poverty cycle

คราวหน้าเราจะมาคุยถึงสีหนุวิลล์กันครับ