ถก Brexit กับ คนขับแท็กซี่ลอนดอน

ถก Brexit กับ คนขับแท็กซี่ลอนดอน

ผมมานั่งเขียนคอลัมน์นี้ ที่กรุงลอนดอน... ตรงกับวันที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษประกาศ “นับถอยหลัง”

 ให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปหรือ Brexit ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่จะก่อให้เกิดผลต่อเนื่องไปทั่วโลกอีกหลายปี

การลงประชามติเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว สร้างความตกตะลึงให้กับชาวโลกไม่น้อย เพราะน้อยคนจะเชื่อว่าอังกฤษจะหย่าขาดจากสหภาพยุโรปได้ แต่กระแสนี้ซ่อนตัวอยู่ลึก ๆ ของคนอังกฤษไม่ต้องการจะสุงสิงกับใคร ไม่ต้องการอุ้มเพื่อนบ้านที่อ่อนแอกว่า และไม่ยอมให้อียูออกกฎกติกามาควบคุมพวกเขา

กระแสโดดเดี่ยวตัวเองอย่างนี้ถูกตอกย้ำด้วยชัยชนะ ในการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ท่ามกลางความตะลึงพรึงเพริดของคนทั่วโลกเช่นกัน

ต่อไปนี้โลกจะไม่เหมือนเดิม สมการการเมืองระหว่างประเทศกำลังแปรปรวนผันผวน ยิ่งหากผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและฮอลแลนด์ออกมาอย่างที่กลัวกัน ฝ่ายขวาสุดขั้วจะขึ้นมาครองอำนาจในยุโรป จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปอีกหลายประเทศ

หากภาพเลวร้ายนี้เกิดขึ้นจริง สหภาพยุโรปก็มีอันจะต้องล่มสลาย ไม่มีใครสามารถทำนายได้ว่าดุลยภาพของโลก จะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใดอีกต่อไป

ผมมาถึงลอนดอนก็ลงเดินถนนพูดคุยกับผู้คนเพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับ Brexit เพราะได้รับรู้ถึงแนวทางวิเคราะห์ของนักการเมือง และนักวิชาการของอังกฤษและคนอื่น ๆ มาพอสมควรแล้ว

คราวนี้ต้องการรู้ว่าคนขับแท็กซี่ และคนทำงานที่ลอนดอนเขาคิดอย่างไร ในจังหวะที่นายกฯ อังกฤษเริ่มกระบวนการ “เริ่มนับหนึ่ง” เพื่อให้อังกฤษออกจากอียูอย่างเต็มตัวในอีกไม่เกินสองปีข้างหน้า

คนขับแท็กซี่หน้าสถานีรถไฟ Charing Cross Station บอกผมว่า “ยิ่งออกจากอียูเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะอังกฤษอยู่ต่อไปก็เสียเปรียบ เราต้องเอาเงินไปอุดหนุนอียูทุกปี แต่เราไม่ได้อะไรคืนมาเท่าที่ควร... ทำไมเราต้องให้พวกที่อยู่ที่สำนักงานใหญ่ของอียูที่กรุงบรัสเซลส์ ออกกฎหมายบ้าบอคอแตกมาใช้กับเรา เราไม่ได้เลือกพวกเขาสักหน่อย...”

ผมถามคนขับแท็กซี่อีกคนหนึ่งว่า ถ้าอังกฤษออกจากอียูแล้วชีวิตเขาจะดีขึ้นอย่างไรหรือ?

เขาสวนทันควันโดยไม่ต้องคิด “ก็มันแย่กว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว”

แต่เขาก็ยอมรับว่าที่บ้าน เขาเป็นคนเดียวที่เห็นด้วยกับ Brexit แต่ภรรยาและลูก ๆ เห็นต่าง ต้องการให้อยู่กับอียูต่อ

ก็ทะเลาะกันทุกวันอย่างนี้แหละ...” ว่าแล้วเขาก็หัวเราะดังก้องไปทั่ว

อีกวันหนึ่งต่อมา ผมถามพนักงานในโรงแรมที่มาจากโปรตุเกส แต่ตั้งหลักแหล่งที่อังกฤษมายาวนานกว่า 40 ปีเพราะแต่งงานกับคนอียิปต์ที่ลอนดอน มีลูกชายที่แต่งงานกับคนอินเดียและมีหลานน่ารักแล้วสองคน

ผมถามเธอว่า Brexit จะมีผลกระทบต่อชีวิตเธออย่างไร? เธอตอบด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า “ไม่รู้ ไม่มีใครรู้ เพราะรัฐบาลก็ไม่ได้บอกเรา”

ผมถามต่อว่า “แล้วเมื่อไหร่จะรู้?” เธอโพล่งออกมาทันทีว่า “นั่นคือคำถามที่ทุกคนถามอยู่ แต่ไม่มีใครตอบได้”

แน่นอนว่าเธอคัดค้าน Brexit เพราะเธอเห็นว่าอังกฤษได้ประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป “พวกเราคนต่างชาติมาทำงานในอังกฤษอย่างขยันขันแข็ง ทุ่มเทและมีความภักดีต่ออังกฤษ จึงเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งที่จะขับไล่ไสส่งพวกเราออกไป...แต่คนเก่า ๆ อย่างดิฉันที่มาอังกฤษก่อนจะมีอียูก็ควรจะได้อยู่ต่อไปมิใช่หรือ?”

ไม่มีใครตอบคำถามของเธอได้แม้แต่นายกฯเทเรซา เมย์ที่กำลังจะต้องยื่นหนังสือขอลาออกจากอียูอย่างเป็นทางการ เพื่อเริ่มกระบวนการเจรจาต่อรองที่สลับซับซ้อน และทำท่าจะลากยาวโดยไม่มีใครรู้ว่าจะจบอย่างไร เพราะในมาตรา 50 หรือ Article 50 ที่กำหนดเงื่อนไขขอการที่สมาชิกจะผละออกไปนั้น ใช้ภาษาที่กว้างมาก และไม่มีรายละเอียดชัดเจนอะไรเลย

ทุกอย่างแขวนอยู่บนเส้นด้าย... รวมถึงความหวังของคนรุ่นใหม่อังกฤษ ที่ไม่ต้องการถอยหลังกลับไปสู่ยุค “ตัวใครตัวมัน” ที่มาพร้อมกระแส “ชาตินิยม” บวก “ประชานิยม” ที่ผมคิดหาศัพท์ใหม่ว่า

Nationalist populism…หรือมันคือ “ชาติ (ประชา) นิยม” ที่มีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นเจ้าของแบรนด์คนแรก? มันคืออันตรายที่กำลังเขย่าระบบโลกสากล ที่ยังไม่มีใครพยากรณ์ได้ว่าผลสุดท้ายจะออกมาอย่างไร

เส้นทางข้างหน้าลมฟ้าอากาศแปรปรวนอย่างยิ่ง โปรดรัดเข็มขัดให้แน่น!