คนดี สังคมดี มีความสุข

คนดี สังคมดี มีความสุข

ผู้เขียนมีโอกาสได้รับทราบถึงการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม ครบรอบ 10 ปี"

ที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะได้จัดขึ้นภายใต้ หลักคิด กาลเวลาพิสูจน์คน คนพิสูจน์ความดี เพื่อเชิดชูเกียรติ11 บุคคลผู้ทำความดี รวมถึงมอบรางวัลให้องค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนการทำความดีเพื่อสังคม ฉบับนี้ จึงขอใช้พื้นที่นี้ พาผู้อ่านไปสัมผัสหลักคิด แนวการทำงาน อย่างย่อๆ ของท่านต่างๆที่จะได้รับรางวัลในปีนี้ เพื่อจุดประกายสู่การขยายการทำความดี เพื่อสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่ และเปี่ยมสุขมากยิ่งขึ้น

ท่านแรกที่อยากกล่าวถึงคือ คือ ครูเจต บุญเป็ง ผู้ก่อตั้งโครงการ “เก่อญอโพ ก้าวสู่ความไพบูลย์” ซึ่งกว่าสิบปีที่ผ่านมา ได้มุ่งมั่นพยายาม ใช้จักรยานเพียงคันเดียว ขี่ผ่านเส้นทางบนดอยสูง ในจังหวัดเชียงราย เพื่อสานฝันเด็กๆ ชาวกระเหรี่ยง ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ฝึกฝนกีฬาฟุตบอล ไปพร้อมๆกับการฝึกฝนจริยธรรม จนเด็กๆ ในพื้นที่ ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียน เข้าแข่งขันและรับรางวัลชนะเลิศในโรงเรียนระดับตำบล อำเภอ รวมทั้งได้รับการคัดเลือกเป็นนักฟุตบอลจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน การทำความดี ของครูเจต 

นอกจากจะสร้างสุขให้ชุมชน ทำให้เด็กๆ ได้มีเสียงหัวเราะสดใส ได้ออกกำลังกายที่พวกเขาสนใจแล้ว งานของครูเจต ยังเป็นที่ประจักษ์แจ้งในสังคมวงกว้าง ส่งผลทำให้ได้รับรางวัลพลตรีสำเริง ไชยยงค์ (สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย) ในฐานะผู้ทำความดีด้านการส่งเสริมกีฬา โดยครูเจต ได้เล่าถึงหลักคิดในการสอนเด็กๆและทำงานว่า

ผมใช้หลักการสอนของการเสียสละ จากพระคำภีร์และพร้อมๆกับ พระราชดำรัสของในหลวง ผมว่าการให้เป็นสิ่งที่ดี ผมให้เด็กทุกคนออกไปช่วยชาวบ้าน นวดข้าว เกี่ยวข้าว และทำทุกอย่างที่ชาวบ้านต้องการ เพื่อให้เค้าให้ข้าวมาให้กิน บอกกับเด็กว่า ถึงแม้ครูจะเหน็ดจะเหนื่อยนะ พวกเราอย่าท้อแท้

ขณะที่อาจารย์สนธยา งามแยะ ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ได้รางวัลพลตรีสำเริง ไชยยงค์ (สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ) เช่นกันในฐานะจิตอาสาที่ยินดีอาสาทำทุกงาน ทั้งผู้ฝึกสอน ผู้จัดการทีม เจ้าหน้าที่ทีม ใช้อุปกรณ์ชิ้นเดียวคือ อุดมการณ์ ส่งเสริม ผลักดันให้เด็กๆ ที่ บ้านเกิด ในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เรียนรู้ชีวิตจากสนามฟุตบอล โดยใช้เวลากว่า 10 ปี จนสามารถก่อตั้งเป็น “เมืองช้างยูไนเต็ด” ทีมฟุตบอลเยาวชนของเด็กบ้านนอก ที่วิ่งไล่เตะลูกฟุตบอลจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และ เป็นส่วนหนึ่งของสังคม “เมืองช้างยูไนเต็ด” ในวันนี้เติบโตจากลานดิน สู่สนามฟุตบอลที่ดีที่สุด ได้เล่าหลักคิดและวิถีการสร้างเด็กว่า 

"เราตื่นแต่ตีห้าครึ่ง เด็กนั่งสมาธิ แล้วฝึกทักษะ แล้วก็ทานข้าว แล้วก็วิ่งไปโรงเรียน หลังจากนั้นผมตามไปรับ สี่โมงเย็น หลังจากนั้นก็กินข้าวร่วมกัน ทำการบ้าน นี่คือจันทร์ถึงศุกร์ เสาร์อาทิตย์ เราก็มีทัวร์นาเมนท์ไปแข่งในเมืองบ้าง การเดินทางก็เดินทางโดยรถไฟฟรี เด็กก็รวมกันนอนกินอยู่กับโค้ช มีก็กินไม่มีเราก็อดด้วยกัน

อีกบุคคลทำความดี ที่ภูมิใจขอกล่าวถึง คือ ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ คณบดีคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้คิดค้นยาต้านโรคเอดส์คนแรกของโลก ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ รางวัล "ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย” โดยเมื่อครั้งที่ท่านดำรงผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม เมื่อหลายสิบปีก่อน ท่านได้ผลักดันให้คนไทยได้ใช้ยาต้านโรคเอดส์เป็นประเทศแรก แต่ด้วยอุดมการณ์ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม ได้ตัดสินใจเดินทางไปยังทวีปแอฟริกาใต้กว่า 12 ปี เพื่อศึกษา เรียนรู้ คิดค้นและพัฒนาจนได้ชื่อว่าเป็น "เภสัชกรยิปซี" และ ได้เป็น "บุคคลแห่งปีของเอเชีย ประจำปี ค.ศ. 2008" จากนิตยสารรีดเดอร์ส ไดเจสท์ ซึ่ง ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ได้สะท้อนหลักคิดในการทำงาน สั้นๆ แต่มีความหมายมากจริงๆ ว่า 

มีสิ่งที่ทำทั้งหมดก็คือ ทำความดี หรือ การให้ อันนี้แหละ ที่ดีของที่สุดแล้วหละ อยู่ 2 วันในชีวิตที่เราแก้ไม่ได้ เมื่อวาน กับ พรุ่งนี้ เราต้องทำวันนี้ และทำวันนี้ให้ดีที่สุด

ยังมีหลักคิดการทำงานและการทำความดี ที่มีคุณค่าของ บุคคลทำความดี และกลุ่มบุคคล ทีได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลในปีนี้อีกหลายท่าน อาทิ วิสาหกิจชุมชนศูนย์สาธิตการเกษตร ร้านค้าชุมชนตำบลท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี แต่พื้นที่ไม่พอแล้ว 

ขอเชิญชวนไปติดตามกันต่อในฉบับหน้านะคะ