เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ พูดแบบ 'ประธานาธิบดี'

เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ พูดแบบ 'ประธานาธิบดี'

สัปดาห์ที่แล้ว เพิ่งได้เห็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ตามแบบฉบับ ที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนก่อนๆ กล่าวกันซะที

เป็นครั้งแรก โดยนายทรัมป์กล่าวว่า นโยบายภายใต้รัฐบาลใหม่มีวัตถุประสงค์อยู่ 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง ให้งานที่ดีกว่าและค่าจ้างที่สูงขึ้นของชาวอเมริกัน สอง เสริมความมั่นคงให้กับประเทศ และ สาม ให้กฎหมายมีความศักสิทธิ์มากขึ้น อย่างไรก็ดี หลายคนบ่นว่าเนื้อหาของสุนทรพจน์ดังกล่าว แม้จะสวยหรูและไม่ก้าวร้าวสักเท่าไหร่ ทว่าไม่ชัดเจนสำหรับแนวทางในการปฏิบัติจริงของนโยบายต่างๆ อย่างที่หลายคนคาดหวังไว้

นายทรัมป์จั่วหัวต่อสภาคองเกรสด้วยการพูดถึงนโยบาย ที่ทั้งสองพรรคต่างให้การสนับสนุน อาทิ บริการการเลี้ยงดูบุตรให้ชาวอเมริกันสามารถเข้าถึงได้ทุกคน การให้จ่ายเงินสำหรับครอบครัวแบบ family paid-leave การให้การสนับสนุนการดูแลสุขภาพสตรี และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ผมมีมุมมองต่อนโยบายของนายทรัมป์ ดังนี้

หนึ่ง ผมคาดว่าการที่นายทรัมป์ยอมลดความเกรี้ยวกราดและยอมอ่อนลงในลีลา ก็เพื่ออ้อนให้สภาคองเกรสผ่านนโยบายภาษี นโยบายการค้าและ Healthcare ที่ต้องอาศัยเสียงของสมาชิกรัฐสภาคองเกรสในอนาคต ช่วยเข็นให้นโยบายเหล่านี้สามารถออกมาใช้ได้ในทางปฏิบัติ

สอง ผมมองว่าหากจะเรียงลำดับความสำคัญของนโยบายทรัมป์ น่าจะได้ดังนี้ คือ อันดับหนึ่ง การเสริมนโยบาย Healthcare ของตนเองแทน ObamaCare ซึ่งเพิ่งมีการแถลงข่าวเรื่องนี้จากสมาชิกรัฐสภาฝั่งของทรัมป์นำโดยนายพอล ไรอัน โฆษกสภาผู้แทนของพรรครีพับลิกัน เมื่อ 2-3 วันก่อน

อันดับสอง นโยบายที่เกี่ยวกับผู้อพยพ ซึ่งก็เพิ่งออก Executive Order ล็อตใหม่ ให้เกณฑ์เข้มข้นขึ้นอีก

อันดับสาม นโยบายการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน ซึ่งกำลังจดๆจ้องๆกันอยู่ ที่เพิ่มจะแถลงออกมาคือการปรับเงินก้อนโตบริษัทเอกชนจีนในสหรัฐ ที่ไปผิดกฎการคว่ำบาตรทางการค้ากับอิหร่าน

อันดับสี่ นโยบายภาษี ที่ยังไม่มีการพูดถึงมากเท่าไรนัก  และอันดับห้าว่าด้วยนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือว่ายังไม่โดนใจตลาดมากนัก เพราะแทบยังไม่มีความชัดเจนออกมา

จุดนี้ผมมองว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ ที่จะมาดูแลรายละเอียดในด้านการสร้างโปรเจคต์โครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายภาษีได้ไม่ลงตัว จึงพูดถึงสองเรื่องหลังนี้น้อยมากต่อสภาคองเกรส รวมถึงผู้ที่มาดูแลนโยบายการคลังในภาพรวมก็ยังไม่มีผู้ที่สามารถเทียบชั้นกับนายแจ็ค ลิว ของรัฐบาลโอบามา

โดยหากจะพิจารณาบุคลากรแถวหน้าของรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ขอเริ่มจาก

กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มแนวความคิดการเมืองที่ต่อต้านไอเดียแนวอนุรักษ์นิยม ที่รักความยุติธรรมของอเมริกา ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐทั้งภายในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายผู้อพยพ การต่อต้านสินค้านำเข้าด้วยนโยบายที่เล่นงานรัฐบาลจีน หรือการที่จะออกจาก NAFTA ทีมงานดังกล่าว ประกอบด้วย สี่ทหารเสือ: สตีฟ แบนนอน ที่ทำหน้าที่ป้อนข่าวลีกและลับให้กับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สตีเฟน มิลเลอร์ มือเขียนสุนทรพจน์และที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ เจฟ เซสชั่น อัยการสูงสุดจอมบ้าบิ่น และปีเตอร์ นาวาโร่ นักวิชาการที่ดูแลด้านการค้ากับจีนโดยเฉพาะ โดยกลุ่มนี้ถือว่ามีความคิดที่แปลกแยกไปจากกลุ่มอื่น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มของรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ ที่มุ่งเสริมสร้างภาพลักษณ์ของนายทรัมป์ให้ดูมีความเป็นอเมริกันที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น รวมถึงกลุ่มเพื่อนพ้องลูกรัก กลุ่มนี้ถือว่าคอยช่วยปาป๊าเต็มที่ เพราะเลือดย่อมข้นกว่าน้ำ

กลุ่มที่ถือว่าน่าจะมีฝีมือเชิงเศรษฐกิจมากที่สุด ได้แก่กลุ่มที่มาจากวอลล์สตรีท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โกลด์แมน ซัคส์ ไม่ว่าจะเป็นสตีเฟน นูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ แกรี คอห์น ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายทรัมป์ หรือ กระทั่ง นายเรกซ์ ทิเรอร์ซั่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ล้วนแต่มิได้ถนัดด้านการสร้างโปรเจคต์โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายภาษีแต่อย่างใด

ท้ายสุด ผมมองว่าการดำเนินนโยบายต่างๆของนายทรัมป์ให้เห็นจริงเริ่มติดขัด ไม่ลื่นไหลเหมือนตอนเป็นคู่ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากนโยบายภาษี นโยบายการค้า หรือนโยบาย Healthcare ล้วนต้องผ่านสภาคองเกรส ส่วนนโยบายผู้อพยพ ก็ต้องฝ่าด่านศาลยุติธรรม นี่ยังไม่รวมข่าวคราวความสัมพันธ์แบบไม่ชอบมาพากล ของนายทรัมป์กับรัสเซีย ที่ว่ากันว่า นายวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียอาจเป็นป๋าดัน ให้นายทรัมป์ก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ครับ