'คนติดคุกซ้ำ' ปัญหาที่เริ่มรุนแรงและอาจเรื้อรัง

'คนติดคุกซ้ำ' ปัญหาที่เริ่มรุนแรงและอาจเรื้อรัง

นับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ ปี 2560 เป็นต้นมา ประเทศไทยยังคงมีข่าวอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง

 เหมือนที่ผ่านมา ข่าวที่ค่อนข้างสะเทือนใจ และผู้เขียนอยากกล่าวถึงในที่นี้ มีสองข่าวคือ ข่าวบัณฑิตใหม่จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ถูกฆาตรกรรม เนื่องจากไม่ยอมให้โจรแย่งชิงโทรศัพท์มือถือไปโดยง่าย และข่าวการปาระเบิดของกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นคู่อริกัน แต่พลาดทำให้ชาวบ้านบาดเจ็บ และเสียชีวิต ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งสองข่าวนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ก่อเหตุนั้นยังมีอายุไม่มาก และผ่านการติดคุกมาแล้วหลายครั้ง

นับวันปัญหาอาชญากรรมจากคนติดคุกซ้ำ มักเกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญของเมืองไทย สิ่งที่น่ากังวลคือจำนวนคนติดคุกซ้ำมีแนวโน้มที่อาจเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์เมื่อปี 2559 ระบุว่าในจำนวนนักโทษเด็ดขาดกว่า 260,000 คนทั่วประเทศ เป็นนักโทษที่ติดคุกซ้ำถึงร้อยละ 24 เพิ่มจากร้อยละ 21 เมื่อปี 2556 ในแง่ของสัดส่วนอาจดูเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ในแง่ของจำนวนแล้ว นับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว ที่สำคัญเราต้องไม่ลืมว่าการก่ออาชญากรรมโดยคนติดคุกซ้ำหนึ่งคน หนึ่งครั้ง ผลกระทบที่เกิดขึ้นมิได้ตกแก่เหยื่อหรือผู้เสียหายเพียงอย่างเดียว แต่ยังต่อเนื่องไปยังบุคคลรอบข้างอีกด้วย

เมื่อเกิดอาชญากรรมที่ก่อโดยคนติดคุกซ้ำ ปฏิกิริยาของคนส่วนใหญ่ในสังคมมักเป็นไปในทางลบ เช่น ก่นด่า สาปแช่ง หรือ ต้องการให้ติดคุกตลอดไป ปฏิกิริยาดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ในเมื่อคนในสังคมต่างต้องการความสงบสุขด้วยกันทั้งนั้น ไม่ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรปหรืออเมริกา ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน สิ่งที่น่าคิดตามมาคือ ปัญหาหรือสาเหตุของอาชญากรรม โดยคนติดคุกซ้ำนั้นแท้จริงแล้วคืออะไร

แน่นอนว่าแรงจูงใจในการก่ออาชญากรรมของคนติดคุกซ้ำ นั้นอาจแตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์และสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ปัจจัยเบื้องหลัง คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการพิจารณาที่มาที่ไปของคนกลุ่มนี้ คนติดคุกซ้ำส่วนใหญ่กระทำความผิดในคดียาเสพติด ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ขณะที่กลุ่มอายุของคนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 25-40 ปี ที่สำคัญ คนติดคุกซ้ำจำนวนไม่น้อยเริ่มก่ออาชญากรรมตั้งแต่ในวัยเรียน นั่นหมายความว่าเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและติดคุก (สถานพินิจ) แทบจะหมดอนาคตทันที เด็กที่มีตราบาปเหล่านี้มักไม่ได้รับโอกาสในการกลับเข้าเรียนต่อในสถานศึกษาปกติ ขณะเดียวกัน คนติดคุกซ้ำในวัยผู้ใหญ่ก็มักไม่ได้รับโอกาสกลับเข้าสู่สังคม หรือยากที่จะประกอบอาชีพได้เหมือนคนอื่น คนกลุ่มนี้ต้องไปประกอบอาชีพที่ไม่ต้องตรวจสอบประวัติ หรืออาชีพอิสระ เช่น ค้าขาย หรือขับแท็กซี่ เป็นต้น ที่แย่ไปกว่านั้นคือ หากคนกลุ่มนี้กลับเข้าสู่สังคมและใช้ชีวิตอย่างปกติไม่ได้ โอกาสที่พวกเขาจะกลับไปติดคุกย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย

ที่ผ่านมา หน่วยงานต่าง ๆ ของไทยพยายามแก้ไขปัญหาในเรื่องคนติดคุกซ้ำ เช่น ให้การศึกษาและสร้างอาชีพแก่นักโทษในเรือนจำ แต่การดำเนินการส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุและยังไม่สามารถลดจำนวนหรือสัดส่วนของคนติดคุกซ้ำลงได้ เท่าที่ทราบ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนพยายามแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนในสถานศึกษาต่าง ๆ ความพยายามดังกล่าวถือได้ว่าเดินมาอย่างถูกทาง

ประสบการณ์จากหลายประเทศระบุว่าวิธีการแก้ไขปัญหาคนติดคุกซ้ำที่ดีที่สุดก็คือป้องกันไม่ให้ติดคุกตั้งแต่ครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในเรื่องการบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบและทรัพยากรของทางราชการทำให้เราไม่สามารถฝากความหวังได้มากนัก ที่สำคัญ ปัญหาคนติดคุกซ้ำในสังคมไทยเริ่มรุนแรงและอาจเรื้อรังเกินกว่าที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ จะแก้ไขได้ นั่นหมายความว่าสังคมไทยต้องการนวัตกรรมใหม่ ๆ และการร่วมแรงร่วมใจ และร่วมทุน จากคนในสังคมเพื่อแก้ไขปัญหา

หลายประเทศพยายามแก้ไขปัญหาคนติดคุกซ้ำด้วยเครื่องมือใหม่ ๆ อาทิ ประเทศอังกฤษใช้พันธบัตรเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม (social impact bond) โดยรัฐบาลจะจ่ายผลตอบแก่ผู้ลงทุน/ผู้ที่สามารถทำให้จำนวนคนติดคุกลดลง ขณะที่กระทรวงยุติธรรมของนิวซีแลนด์ใช้วิธีการทาง analytics ในการค้นหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดคุกและพยายามออกแบบมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนกลุ่มนี้ติดคุก

ในกรณีของประเทศไทย หลายองค์กรพยายามช่วยแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น กองทุนการศึกษาเพื่ออนาคตเด็กไทย (นำโดยมูลนิธิเพื่อคนไทย) พยายามหาแนวทางในการลดจำนวนเด็กนักเรียนที่หลุดออกจากระบบกลางคัน บ้านกาญจนาภิเษกโดยคุณทิชา ณ นครที่ใช้ความรัก ความเอาใจใส่ และประสบการณ์จากรุ่นพี่เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเยาวชนหลงผิด โดยไม่ต้องไปถูกจองจำในสถานพินิจ ขณะที่บ้านอบอุ่นใจมีหลักการที่คล้ายกัน ในการบำบัดผู้ติดยาเสพติดโดยไม่ใช้ยาและความรุนแรง ความพยายามเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในอีกจำนวนมากที่ดำเนินการโดยกลุ่มคนหรือองค์กรต่าง ๆ ในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้เพียงพอที่จะบรรเทา หรือแก้ไขปัญหาคนติดคุกซ้ำในเมืองไทยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคมตระหนักและพร้อมที่จะร่วมแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังหรือไม่

..........................................

ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร