ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (3)

ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (3)

ตอนที่แล้วกล่าวถึงจุดมุ่งหมาย ของการเขียนราชินีติขึ้นในคาถาบทที่ 1

 ว่า “เพื่อประโยชน์ทันตา เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการขยายพระราชอาณาจักร” ซึ่งได้อภิปรายไปแล้ว

คาถาบทที่ 2-27 เป็นแนวทางในการคัดเลือก “ข้าเฝ้า” ให้ทำงานในตำแหน่งต่างๆ และการปกครองดูแลข้าเฝ้าเหล่านั้น หากเทียบใจปัจจุบันก็คือ การแต่งตั้งและบริหารงานบุคคลในองค์กร นั่นเอง

คาถาบทที่ 2 กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะกล่าวคุณสมบัติแห่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงอิสราธิบดีและอำมาตย์เข้าเฝ้า อันว่าพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระชาติอันสูงศักดิ์ ควรทรงพิจารณาให้ตระหนักซึ่งข้าเฝ้าโดยชอบในกาลทุกเมื่อ”

คาถาบทที่ 3 กล่าวว่า “พึงทรงทราบคนมีความรู้ด้วยการเจรจา พึงทรงทราบศีลธรรมจรรยาด้วยการอยู่ร่วม พึงทรงทราบความสะอาดด้วยการดำเนินราชกิจทุกอย่าง พึงทรงทราบความเป็นลูกผู้ชายในเวลาที่มีอันตราย”

คาถาบทที่ 4 กล่าวว่า “ข้าเฝ้าที่เกียจคร้าน หัวดื้อ หยิ่ง อาจาระหยาบคาย มักก่อความวินาศ จองหอง ไม่สันโด ไม่สามารถ พระเจ้าอยู่หัวควรละข้าเฝ้าที่มีลักษณะเช่นนี้เสียให้ไกล

คาถาบทที่ 5 กล่าวว่า “ข้าเฝ้าที่หยาบคาย มักก่อความวินาศ มักได้ ไม่ชำนาญในศาสตร์ต่างๆ เพียงพอ จองหอง หลู่คุณคน ไม่มีสัตย์ พระเจ้าอยู่หัวไม่ควรทรงตั้งข้าเฝ้าเช่นนี้ให้เป็นหัวหน้าคน”

คาถาบทที่ 6 กล่าวว่า “เมื่อคนโง่ประกอบราชกิจ โทษ 3 ประการย่อมเกิดขึ้นแก่พระเจ้าอยู่หัวโดยไม่ต้องสงสัย คือ เสื่อมเกียรติยศ 1 ทรัพย์สมบัติพินาศ 1 ต้องตกนรก 1”

คาถาบทที่ 7 กล่าวว่า “เมื่อคนฉลาดประกอบราชกิจ คุณ 3 ประการย่อมเกิดแก่พระเจ้าอยู่หัว คือ เกียรติยศขจร 1 บรรลุประโยชน์โดยธรรมสูงสุด 1 ขึ้นสวรรค์ 1”

คาถาบทที่ 8 กล่าวว่า “ข้าเฝ้าทำกิจอย่างหนึ่ง ทั้งดีทั้งดีทั้งไม่ดี ส่วนที่ถูกและผิดของข้าเฝ้านั้น ย่อมเนื่องถึงองค์พระเจ้าอยู่หัว”

คาถาบทที่ 9 กล่าวว่า “เพราะฉะนั้นพระภูธรควรทรงตั้งข้าเฝ้าที่มีคุณสมบัติผู้ทำประโยชน์ให้สำเร็จเห็นทันตา ควรทรงเว้นข้าเฝ้าที่ไร้คุณสมบัติเสียเถิด”

(คัดจาก ราชินีติ สำนวนแปล ของ นายทอง หงส์ลดารมภ์)

คาถาบทที่ 2-9 ที่ยกมาข้างบนนี้ เป็นแนวทางให้ดำเนินการคัดเลือกและพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นของข้าเฝ้า หรือคนทำงานที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในสมัยก่อน ก็ได้แก่ เสนาบดี อำมาตย์ ข้าราชบริพาร ที่จะทำงานรับใช้สนองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดิน สมัยปัจจุบันเทียบได้กับบรรดาหัวหน้าส่วนงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งผู้นำที่มีอำนาจจะต้องพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ

การที่จะแต่งตั้งใครให้ดำรงตำแหน่งใด มีความรับผิดชอบใด จำเป็นจะต้องรู้ถึงความรู้ความสามารถ คุณสมบัติที่เหมาะสม ตลอดจนนิสัยใจคอ เพื่อที่จะได้ใช้คนให้ถูกกับงาน หรือที่ฝรั่งมีแนวคิดว่า put the man in the right job นั่นเอง โดย

คาถาบทที่ 3 ที่กล่าวว่า “พึงทรงทราบคนมีความรู้ด้วยการเจรจา พึงทรงทราบศีลธรรมจรรยาด้วยการอยู่ร่วม พึงทรงทราบความสะอาดด้วยการดำเนินราชกิจทุกอย่าง พึงทรงทราบความเป็นลูกผู้ชายในเวลาที่มีอันตราย” นั้นเป็นแนวทางในการดำเนินการคัดเลือกคน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงษ์จักรี แม้พระองค์ไม่มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการโดยตรง รวมถึงคณะรัฐบาลที่ปกครองประเทศซึ่งได้รับการเลือกมาจากประชาชนนั้น แต่พระองค์ก็ทรงให้คำแนะนำ พระราชทานแนวคิดในการเลือกคนและแต่งตั้งคนให้ทำงานในองค์กรต่างๆ ผ่านพระราชดำรัสที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ รวมทั้งพระบรมราโชวาทที่ทรงมีอยู่เสมอๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนข้อหนึ่งก็คือ พระบรมราโชวาทที่ได้รับการอ้างอิงอยู่เสมอ คือ “...ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครทำทุกคนให้เป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อยจึงไม่ใช่อยู่ที่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากอยู่ที่การส่งเสริมคนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...” เมื่อพิจารณาแล้วเห็นได้ว่า เป็นหลักเดียวกับแนวคิดในราชนีติข้อ 2-9 ที่ยกมาข้างต้นนั้นเอง