เงินบาทผันผวนจริงไหม ถามใจเธอดู

เงินบาทผันผวนจริงไหม ถามใจเธอดู

เงินบาทผันผวนจริงไหม ถามใจเธอดู

ในตลาดการเงินมักมีสิ่งที่เรา “ไม่รู้เท่าทัน” อยู่เสมอ ส่งผลให้ความเป็นจริงในตลาดดูจะไม่สอดคล้องกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินซักเท่าไหร่ ช่วงนี้ผมมองเรื่อง “ความผันผวนของค่าเงินบาท” เป็นประเด็นที่เราควรรู้ให้ทันตลาดและเตรียมวางกลยุทธ์รับมือกันครับ

สืบเนื่องมาจากปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นในโลกค่อนข้างมาก ส่งต่อมาถึงปีนี้ที่ตลาดการเงินจะต้องเจอทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่เร็วกว่าปีก่อน นโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐที่จริงจังขึ้น หรือการเมืองยุโรปที่ส่อเค้าจะวุ่นวายไม่เลิก จนนักวิเคราะห์หลาย ๆ สำนักยกให้ปีนี้เป็นปีแห่งความผันผวน (อีกแล้ว) ของตลาดการเงิน

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสกุลเงินทั่วโลกไม่ว่าะเป็นดอลลาร์ ยูโร หรือเยน เหวี่ยงตัวแรงตามคาด แต่สิ่งที่ผิดคาดคือเงินบาทที่แทบจะไม่เคลื่อนไหว และถ้าเรามาดูความผันผวนของค่าเงินบาทจริง ๆ (วัดจาก Volatility ของ FX option) จะพบว่าไม่ได้ผันผวนขึ้นแต่กลับค่อย ๆ นิ่งลงด้วยซ้ำ และถ้าเทียบกับปลายปีที่แล้วที่ความผันผวนอยู่ที่ระดับ 4.9%-5.0% ความผันผวนของค่าเงินบาท ณ ปัจจุบันที่ 4.75% ถือว่าอยู่ในระดับ “ต่ำที่สุด” ของปีเลยทีเดียว

ไม่ใช่แค่ผมที่สนใจ นานาชาติก็จับตาการเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาคอาเซียนเช่นกัน ช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีบทวิเคราะห์ของ IMF โดย Klyuev และ Dao (2016) อธิบายเรื่องวิวัฒนาการของค่าเงินอาเซียนทั้งก่อนและหลังวิกฤตเศรษฐกิจไว้อย่างน่าสนใจว่าประเทศในแถบอาเซียนมีการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนของตัวเองเพื่อป้องกันความผันผวนของราคาสินค้าภายในประเทศ นำมาซึ่งความผันผวนของค่าเงินที่ต่ำกว่าสกุลเงินที่เป็น Floating Rate ทั่วไป (เช่นเยนญี่ปุ่นหรือออสเตรเลียดอลลาร์)

นักวิจัยทั้งสองท่านใช้ตัวแปร Exchange Market Pressure ของ Frankel และ Wei (2008) เข้ามาจับในสมการ และสรุปว่าความผันผวนไม่ได้หายไปแต่ไปปูดอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงบนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ชี้ให้เห็นว่าธนาคารกลางของประเทศอาเซียนมีบทบาทในการ “ลดความผันผวน” ของเงินประเทศตนเองเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักต่าง ๆ

ในฝั่งเงินบาท พบว่าความผันผวนของเงินบาทลดลงจริงเมื่อธปท.เพิ่มปริมาณการถือครองเงินทุนสำรองระหว่างประเทศโดยจะเห็นได้ชัดในช่วงต้นปี 2016 ที่ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ขึ้นมาเป็น 1.8 แสนล้านดอลลาร์ (คิดเป็นประมาณ 7% ของจีดีพีทั้งปี) และตั้งแต่ปลายปีมาถึงตอนนี้ที่เพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ก็หมายความว่าธปท.ซื้อความผันผวนไว้ให้เรานั่นเอง

คำถามที่ท้าทายกว่านั้นคือ “เราจำเป็นต้องมีความผันผวนต่ำขนาดนั้นเชียวหรือ” ทั้งที่ในปัจจุบัน ตลาดการเงินก็เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงบนอัตราแลกเปลี่ยนได้เองตั้งมากมาย

ส่วนตัวผมยังมองไม่เห็นข้อดีของความผันผวนที่ต่ำเกินความเป็นจริง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือค่าเงินเยนและยูโรที่ผันผวนมาก (กว่าเงินบาทเป็นเท่าตัว) แต่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นหรือยุโรปก็ยังรอดและปรับตัวได้ ไม่ได้เอาแต่เฝ้ารอให้ธนาคารกลางเข้ามาช่วงพยุงค่าเงิน

ยิ่งในปัจจุบันผมกลับมองว่าการดูแลค่าเงินมากเกินไปของธปท.อาจเป็นความเสี่ยงที่เราควรระวังในปีนี้ เพราะสหรัฐดูจะมีความพร้อมเต็มที่ที่จะตรีตราคู่ค้าว่า “ประเทศที่แทรกแซงค่าเงินและส่งผลให้สหรัฐเสียเปรียบการค้า”

แม้ตอนนี้เรายังไม่เจอชื่อประเทศไทยในรายชื่อประเทศเฝ้าระวัง (Monitoring list) แต่ถ้าเข้าไปดูระเบียบที่กระทรวงการคลังสหรัฐเขียนไว้ ต้องบอกว่าการดูแลค่าเงินขนาดนี้เพิ่มโอกาสที่ไทยจะเข้าไปติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่แซรกแซงค่าเงิน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทยแน่นอน

การกำกับดูแลค่าเงินผ่านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อาจไม่ใช่ดอลลาร์ที่มีแต่ด้านบวกอีกต่อไปแล้วครับ