เมื่อตลาดทุนตลาดเงินจับมือต้านการทุจริต

เมื่อตลาดทุนตลาดเงินจับมือต้านการทุจริต

วันจันทร์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญจาก คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย

และคุณวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ไปร่วมเป็นสักขีพยาน และให้ความเห็นในการประชุมประกาศเจตนารมณ์ รวมพลังภาคตลาดทุนและตลาดการเงินในการก่อตั้ง โครงการกองทุนรวมเพื่อการพัฒนาธรรมาภิบาลและสนับสนุนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ผมเองในฐานะที่ขณะนี้รับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD และเลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งทั้งสองหน้าที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน จึงดีใจและยินดีมากที่ภาคตลาดทุนและตลาดเงินได้ริเริ่มโครงการดังกล่าว เพราะทั้งธรรมาภิบาลและการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเรา เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกันแก้ไข ไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ข้าราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่ต้องร่วมมือกัน พูดได้ว่า กรณีประเทศไทยนั้น ความร่วมมืออย่างจริงจังของทุกฝ่ายเท่านั้นที่จะนำประเทศหลุดพ้นจากปัญหาที่สำคัญนี้ไปได้ ดังนั้น การริเริ่มโครงการกองทุนรวมเพื่อการพัฒนาธรรมาภิบาล และสนับสนุนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยภาคตลาดทุนและตลาดเงิน จึงเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน

แนวคิดหลักของโครงการนี้ก็คือ จัดตั้งกองทุนรวมที่จะนำเงินออมของประชาชน และนักลงทุนที่ได้เลือกลงทุนในกองทุนรวมนี้ ไปลงทุนเฉพาะในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่าเป็นบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และสนับสนุนการทำธุรกิจที่ปลอดการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชันตามหลักเกณฑ์ที่โครงการกำหนด กองทุนรวมในลักษณะนี้จะถูกจัดตั้งขึ้นโดยบริษัทจัดกองทุนรวมที่เข้าร่วมโครงการ โดยแต่ละบริษัทจัดการกองทุนที่เข้าร่วมโครงการสามารถมีนโยบายของตนเอง ที่จะเลือกบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการคัดเลือกเป็นบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน ทำให้จะมีการแข่งขันระหว่างบริษัทจัดการกองทุนด้วยกัน ที่สำคัญ บริษัทจัดการกองทุนรวมที่เข้าร่วมโครงการ ก็พร้อมมอบรายได้จากค่าธรรมเนียมบริหารจัดการกองทุนดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรหรือสถาบันต่างๆที่มีบทบาทในการพัฒนาธรรมาภิบาลและ/หรือสนับสนุนการต่อต้านการทุจริต ถือเป็นนิมิตหมายใหม่ของภาคเอกชนไทย ที่บริษัทในตลาดทุนและตลาดเงินแสดงตนสนับสนุนการพัฒนาธรรมาภิบาลและการต่อต้านการทุจริต

ในต่างประเทศ บทบาทนักลงทุนสถาบันในการสนับสนุนธรรมาภิบาลและต่อต้านการทุจริตเป็นพัฒนาการที่เพิ่มขึ้นชัดเจนช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2008 ที่สาเหตุหนึ่งของวิกฤติมาจากการขาดธรรมาภิบาลของบริษัทเอกชน ขณะที่นักลงทุนสถาบันเองก็ถูกวิจารณ์ว่า ในช่วงนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทที่ตนเข้าไปลงทุนจนปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้น ผลดังกล่าวทำให้นักลงทุนสถาบันถูกคาดหวังมากว่าสามารถมีบทบาทที่สำคัญได้ในการป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือการทำผิดธรรมาภิบาลในบริษัทที่นักลงทุนสถาบันนำเงินไปลงทุน รวมถึงบทบาทในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจของบริษัทที่เข้าไปลงทุน ทั้งผ่านการสร้างเงื่อนไขและแรงจูงใจให้บริษัทที่เข้าไปลงทุนต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีนโยบายและแนวปฏิบัติชัดเจนในการต่อต้านการทุจริต และผ่านการสร้างปัญหาให้กับบริษัทที่เข้าไปลงทุนที่ขาดธรรมาภิบาล หรือมีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ โดยใช้อำนาจและสิทธิความเป็นเจ้าของในฐานะผู้ถือหุ้นซึ่งสามารถทำได้ทั้งในเวลาปรกติและในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี นอกจากนี้ ตัวนักลงทุนสถาบันเองก็สามารถเป็นตัวอย่างของการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยทำธุรกิจและลงทุนตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งในระดับสากลและระดับประเทศ ซึ่งของประเทศไทยเอง ก็ได้มีการออกแนวปฏิบัติที่ดีด้านการกำกับดูแลกิจการ หรือ I Code สำหรับนักลงทุนสถาบันเมื่อเร็วๆ นี้

ในกรณีของตลาดทุนและตลาดเงินประเทศไทย การจัดตั้งกองทุนรวมตามแนวคิดดังกล่าว จะเป็นการยกระดับความตั้งใจหรือ commitment ของผู้ร่วมตลาดที่พร้อมส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มคุณภาพให้กับตลาดทุนและตลาดเงินของบ้านเรา พร้อมกันนี้ โครงการดังกล่าวจะทำให้ตลาดทุนของเรามีการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ซึ่งก็คือกองทุนรวมที่มุ่งลงทุนในบริษัทที่มีธรรมาภิบาลและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่นี้อาจอยู่ในรูป กองทุนรวม หรือกองทุนประเภท LTF หรือ กองทุนแบบ ETF (Exchange Traded Fund) ซึ่งจะเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับผู้ออมในประเทศให้สามารถมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่สามารถลงทุนได้ และสนับสนุนการพัฒนาธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต ทำให้ประชาชนหรือนักลงทุนรายย่อย สามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนธรรมาภิบาลและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

ที่สำคัญ ในกรณีที่มีบริษัทจดทะเบียนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในด้านธรรมาภิบาลหรือทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งๆ ที่ได้รับความไว้วางใจจนได้รับคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดีและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน กองทุนเหล่านี้ก็จะเป็นอีกเครื่องมือที่ตลาดการเงิน สามารถใช้แสดงความไม่พอใจกับพฤติกรรมที่ไม่ดีของบริษัทเหล่านี้ได้ โดยการปลดชื่อออกจากกลุ่มบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก ทำให้จะมีการถอนเงินลงทุนออกจากหุ้นของบริษัทเหล่านี้ หุ้นบริษัทก็จะตก นี้คือการสร้างวินัยให้กับการยึดมั่นในธรรมาภิบาลและการต่อต้านการทุจริตของบริษัทเอกชน

ธรรมาภิบาลและคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเรา ที่ต้องแก้ไขถ้าจะให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไปจากนี้ได้ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราไม่สามารถปรับปรุงธรรมาภิบาลของประเทศทั้งในภาครัฐและเอกชนให้ดีขึ้นกว่านี้ ไม่แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศมีอยู่ ประเทศไทยก็คงไม่สามารถก้าวหน้าไปได้มากกว่านี้ และอาจถอยหลังและโตช้าลงถ้าปัญหาที่มีอยู่กลับยิ่งแย่ลง นี่คือสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องตระหนัก และจากที่ธรรมาภิบาลและคอร์รัปชันเป็นพฤติกรรมของสังคม การแก้ไขจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนในสังคมต้องการแก้ไข พร้อมใจกันปฏิเสธสิ่งไม่ดีที่มีอยู่ และช่วยกันทำหน้าที่แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง