'เฮทสปีช' ออนไลน์ กับวิธีกำกับดูแล (จบ)

'เฮทสปีช' ออนไลน์ กับวิธีกำกับดูแล (จบ)

สองตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนหยิบยกบางตอนของงานวิจัยเรื่อง “การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง”

 โดยศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย รศ.ดร. พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ เผยแพร่ปี พ.ศ. 2556 มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งคณะวิจัยสรุปว่าเราควรแยกแยะวิธีกำกับดูแล “เฮทสปีช” ตาม “ระดับความรุนแรง” 

โดยเฮทสปีชขั้นรุนแรงที่สุด คือ “การแสดงความเกลียดชังต่อกลุ่มศาสนา กลุ่มเชื้อชาติ หรือ กลุ่มชนชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งแยก การมุ่งร้าย หรือความรุนแรง” ควรถูกบรรจุเป็นข้อห้ามตามกฎหมาย ตามมาตรา 20 ใน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ซึ่งไทยเป็นประเทศภาคี

อย่างไรก็ดี คณะวิจัยก็ย้ำว่าการออกกฎหมายป้องกันเฮทสปีชขั้นรุนแรง ให้ได้มาตรฐานตามมาตรา 20 ของ ICCPR นั้น “จะต้องไม่ไปละเมิดสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 [ใน ICCPR เช่นกัน] อันว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกด้วย”

ฉะนั้นคำถามที่สำคัญไม่แพ้ เราจะมีวิธีกำกับดูแลเฮทสปีชอย่างไร ก็คือ เราจะบัญญัติห้ามเฮทสปีชขั้นรุนแรงเป็นกฎหมายให้ พอดี อย่างไร คือไม่ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน?

คู่มือเฮทสปีช หรือ ‘Hate Speech’ Explained: A Toolkit ฉบับปี 2015 ของ Article 19 องค์กรพัฒนาเอกชนจากอังกฤษซึ่งทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกมายาวนาน สรุปแนวทางและตัวอย่างไว้ดีมากในความเห็นของผู้เขียน (ดาวน์โหลดได้จาก https://www.article19.org/)

Article 19 เห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะ ICCPR กำหนดให้รัฐบาลประเทศต่างๆ บัญญัติห้ามเฮทสปีชขั้นที่รุนแรงที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อกลุ่มคนที่ตกเป็นเป้าของความเกลียดชัง ซึ่งเฮทสปีชขั้นนี้มีทั้ง “การยั่วยุโดยตรงและต่อสาธารณะให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ซึ่งเป็นข้อห้ามตาม Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide (1948) และ Rome Statute of the International Criminal Court (1998) และมาตรา 20 ของ ICCPR

Article 19 มองว่า มาตรา 20 ของ ICCPR นั้น ห้ามเฉพาะ “การแสดงความเกลียดชังต่อกลุ่มศาสนา กลุ่มเชื้อชาติ หรือ กลุ่มชนชาติ” ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งแยก การมุ่งร้าย หรือความรุนแรง แต่องค์กรมองว่าการแสดงความเกลียดชังต่อกลุ่มอื่นๆ บนพื้นฐานของการสังกัดใดๆ ก็ตาม รวมถึงกลุ่มการเมือง ก็ควรเป็นสิ่งที่รัฐห้ามเช่นกัน เนื่องจากคนทุกคนควรได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ

การบัญญัติห้าม เฮทสปีชขั้นรุนแรง เป็นกฎหมายนั้นอาจเห็นตรงกันได้ไม่ยาก เพราะเป็นพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศ ความเสี่ยงคือรัฐในประเทศอำนาจนิยมมักบัญญัติกฎหมาย เกินเลย ขอบเขตที่ควรจะบัญญัติ ตีความ “เฮทสปีชขั้นรุนแรง” แบบเหมารวมตีขลุมคลุมเครือจนกลายเป็นลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน (Article 19 เห็นตรงกันกับคณะวิจัยไทยว่า มีเพียงเฮทสปีชขั้นรุนแรงที่สุดเท่านั้นที่รัฐ “ต้อง” บัญญัติกฎหมายห้ามให้ชัดเจน)

Article 19 ซึ่งตั้งชื่อองค์กรตามมาตรา 19 ของ ICCPR อธิบายในคู่มือเฮทสปีชว่า ตามมาตรฐานสากลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนนั้น สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกนั้นไม่ใช่ สิทธิสัมบูรณ์ คือใครจะพูดอะไรก็ได้ เนื่องจากการแสดงออกบางอย่างอาจกระทบต่อสิทธิของคนอื่น ด้วยเหตุนี้ การ “จำกัด” สิทธิเสรีภาพจึงอาจไม่ขัดต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลก็ได้ แต่จะต้องทำตาม บททดสอบ 3 ข้อ ก่อน ตามมาตรา 19(3) ของ ICCPR เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ลิดรอนสิทธิเกินสมควร

“บททดสอบ 3 ข้อ” ที่รัฐซึ่งอยากบัญญัติห้ามเฮทสปีชขั้นที่ไม่ถึงขนาดรุนแรงที่สุด จะต้องทำตามตาม ICCPR มีดังนี้

  1. ข้อห้ามนั้นต้องบัญญัติเป็นกฎหมาย และกฎหมายหรือกฎเกณฑ์นั้นๆ จะต้องเขียนอย่างรัดกุมเที่ยงตรง ให้ทุกคนควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ (คือรู้ชัดว่าประพฤติแบบใดผิด แบบใดไม่ผิด)
  2. เป็นไปเพื่อเป้าหมายที่ชอบธรรม นั่นคือ เพื่อเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของคนอื่น การปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย สุขภาวะหรือศีลธรรมอันดีของสังคม
  3. ต้องจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย บททดสอบข้อนี้หมายความว่า รัฐจะต้องสาธิตให้ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงให้เห็นชัดถึงลักษณะของภัยคุกคาม ตลอดจนความจำเป็นและความได้ส่วน (proportionality) ของวิธีจำกัดสิทธิที่จะบัญญัติเป็นกฎหมาย สรุปสั้นๆ คือ รัฐจะต้องแจกแจงให้ได้ว่า “การแสดงออก” (ที่อยากจะบัญญัติห้าม) นั้น มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ ภัยคุกคามอย่างไร

นอกจากจะต้องทำตามบททดสอบทั้ง 3 ข้อแล้ว Article 19 ยังอธิบายข้อดีและข้อเสียของการใช้คำว่า “เฮทสปีช” สรุปพอสังเขปได้ว่า ข้อดีของการใช้คำคำนี้คือ มันเป็นการแสดงออกว่าเราปฏิเสธอคติที่อยู่เบื้องหลัง “เฮทสปีช” และเป็นการแสดงความตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างอันตรายของเฮทสปีชปัจจุบัน กับอันตรายจากเฮทสปีชที่เคยเกิดขึ้นในอดีต (อาทิ กรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ยุโรปสมัยนาซี เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ในไทย ฯลฯ), เชื้อเชิญให้คนมาร่วมกันถกเถียงนัยของ “เฮทสปีช” ต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน, ช่วยสนับสนุนกลุ่มคนที่ตกเป็นเป้าของเฮทสปีช แสดงออกว่าสังคมตระหนักในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา เพิ่มพลังให้พวกเขากล้าพูดตอบโต้มากขึ้น, เป็นการให้การศึกษากับสังคมถึงผลกระทบจาก “เฮทสปีช” ตลอดจนทำให้สังคมร่วมกันติดตามตรวจสอบกรณีการเลือกปฏิบัติได้มากขึ้น มีนัยเชิงนโยบายให้รัฐไปขบคิด

อย่างไรก็ดี ข้อเสียของการใช้คำว่า “เฮทสปีช” ก็ใช่ว่าจะไม่มี Article 19 รวบรวมข้อเสียว่า การใช้คำคำนี้อาจเป็นการปิดกั้นหรือจบการถกเถียงประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะถ้าหากใช้โดยคนที่อยู่ในอำนาจ, อาจตีความความเชื่อมโยงระหว่างการแสดงออกกับอันตรายที่คาดว่าจะเกิด (เช่น ความรุนแรง) แบบ “เว่อร์” เกินจริง เพราะประเมินอิทธิพลของผู้พูดสูงเกินจริง ประเมินแนวโน้มที่จะเกิดอันตรายสูงเกินจริง หรือมองข้ามแนวโน้มที่คนอื่นจะเข้ามาตอบโต้ผู้พูดในทางที่อาจสร้างผลกระทบเชิงบวกได้ (เช่น ทำให้ผู้พูดตระหนักว่าตัวเองมีอคติ หรือทำให้คนอื่นได้รับรู้ว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับเฮทสปีช), คิดไปเองว่าผู้พูดอยากให้เกิดความรุนแรง ทั้งที่เจตนาอาจไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไร้เดียงสา ไร้รสนิยม หรือจงใจเสียดสีหรือยั่วล้อ, ทำให้คนเข้าใจผิดว่า “เฮทสปีช” ทั้งหมดทุกระดับผิดกฎหมาย กลายเป็นว่าส่งผลให้หลายคนเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการในทางที่อาจไม่เหมาะสมหรือไม่ได้ผล

ข้อเสียประการสุดท้ายคือ การใช้คำว่า เฮทสปีชโดยเฉพาะถ้าใช้อย่างพร่ำเพรื่อ อาจเพิ่มความเข้มข้นของการสอดส่องการสนทนาของประชาชนทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทั้งการสอดส่องโดยรัฐและเอกชน และเป็นการสนับสนุนให้พึ่งพาวิธีเซ็นเซอร์มากเกินควร ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

แทนที่จะรับมือกับการเลือกปฏิบัติเชิงสถาบันซึ่งอยู่ลึกกว่า และเป็นรากปัญหาที่แท้จริง