เค้าโครงความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-สหรัฐฯในยุคทรัมป์

เค้าโครงความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-สหรัฐฯในยุคทรัมป์

นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์กล่าวหาญี่ปุ่นว่าเอาเปรียบสหรัฐอเมริกาในด้านความมั่นคงในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อปีที่ผ่านมา

ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐก็ตกอยู่ในความไม่แน่นอนมาตั้งแต่นั้น และญี่ปุ่นก็กังวลกับความไม่แน่นอนนี้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากสหรัฐเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงเพียงหนึ่งเดียวของญี่ปุ่นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง และโดยเฉพาะในปัจจุบันที่ข้อพิพาทหมู่เกาะเซนกะกุระหว่างญี่ปุ่นกับจีนและการคุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต 

ดังนั้น เมื่อทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจึงรีบเดินทางไปสหรัฐเพื่อโน้มน้าวให้ทรัมป์ยอมรับพันธกรณีด้านความมั่นคงที่สหรัฐมีต่อญี่ปุ่น และในการพบกันครั้งที่สองของอาเบะและทรัมป์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ท่ีผ่านมา อาเบะและทรัมป์ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยทรัมป์ยืนยันว่าสหรัฐจะปกป้องญี่ปุ่นด้วยศักยภาพทางการทหารทั้งหมดของตน ซึ่งครอบคลุมไปถึงหมู่เกาะเซนกะกุและรวมไปถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และอาเบะก็ได้ให้การยืนยันว่าญี่ปุ่นจะสนับสนุนแผนการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทางการทหารของสหรัฐในโอกินะวะเพื่อรองรับการดำรงอยู่ในระยะยาวของกองกำลังสหรัฐฯในญี่ปุ่น 

นอกจากนั้น อาเบะและทรัมป์ยังได้ตกลงกันว่าทั้งสองประเทศจะเข้าไปมีบทบาทด้านความมั่นคงในเอเซียแปซิฟิคให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้

แต่อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเชื่อว่าความสำเร็จของอาเบะในการขจัดความไม่แน่นอนออกไปจากความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐครั้งนี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น เพราะแม้ว่าแถลงการณ์ฉบับนี้จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐ แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนอื่นใดนอกจากกรอบความร่วมมือสำหรับการเจรจาในอนาคต ซึ่งเท่ากับว่าอาเบะและทรัมป์ยังไม่มีข้อสรุปใดๆต่อการเอาเปรียบของอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นและการบิดเบือนค่าเงินเยนซึ่งเป็นประเด็นที่ทรัมป์กล่าวหาญี่ปุ่นไว้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งด้วยเช่นกัน 

ประกอบกับการที่ทรัมป์มีแนวโน้มที่จะต่อรองผลประโยชน์โดยการเอาประเด็นอ่อนไหวของคู่เจรจามาใช้เป็นเครื่องมือ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะเอาพันธกรณีด้านความมั่นคงที่สหรัฐมีต่อญี่ปุ่นมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้ สร้างความไม่แน่นอนขึ้นมาในความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนในยุคของทรัมป์ก็จะเป็นตัวแปรที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐซับซ้อนมากย่ิงขึ้น เนื่องจากทรัมป์มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อจีนทั้งในเรื่องการขาดดุลการค้า การจ้างงาน ค่าเงินหยวน และทะเลจีนใต้ รวมไปถึงการแสดงท่าทีที่จะเอานโยบายจีนเดียวมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองผลประโยชน์ ซึ่งท่าทีที่แข็งกร้าวต่อประเด็นเหล่านี้ โดยเฉพาะในกรณีทะเลจีนใต้และนโยบายจีนเดียวซึ่งจีนถือว่าเป็นผลประโยชน์สำคัญที่ไม่สามารถประนีประนอมได้จะทำให้สหรัฐต้องเผชิญหน้ากับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการเผชิญหน้าดังกล่าวจะทำให้สหรัฐฯเรียกร้องการสนับสนุนจากพันธมิตรในเอเซียตะวันออกเช่นญี่ปุ่น 

แต่สำหรับญี่ปุ่นนั้น การให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนตึงเครียดมากยิ่งขึ้น และความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นนี้ก็จะย้อนกลับมาเป็นเงื่อนไขที่บีบบังคับให้ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการคุ้มครองของสหรัฐ มากยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในวงจรของการพึ่งพาที่ทำให้อำนาจต่อรองที่ญี่ปุ่นมีต่อสหรัฐ ลดน้อยลงเรื่อยๆอย่างยากจะหาทางออกได้

ด้วยเงื่อนไขสองประการนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐในยุคทรัมป์จึงมีโอกาสที่จะเป็นความสัมพันธ์ที่ญี่ปุ่นเสียเปรียบสหรัฐมากขึ้น จากการที่สหรัฐจะใช้ความจำเป็นด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นมาเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเรียกร้องให้ญี่ปุ่นให้ความร่วมมือกับสหรัฐในการกดดันจีนโดยที่ญี่ปุ่นยากจะปฏิเสธได้ แม้ว่าการยอมตามสหรัฐจะทำให้ญี่ปุ่นเสียเปรียบสหรัฐฯด้านเศรษฐกิจและมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้นก็ตาม 

นอกจากนั้น หากสหรัฐประสบความสำเร็จในการกดดันให้ญี่ปุ่นเปิดเสรีภาคการเกษตรหรือแม้แต่ลดระดับของการปกป้องภาคการเกษตรลง พรรค LDP จะสูญเสียกลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญของพรรคไป ส่งผลให้พรรคฝ่ายค้านมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะชงักงันทางการเมืองของญี่ปุ่นในที่สุด

แม้ราคาของความมั่นคงที่ญี่ปุ่นจะต้องจ่ายให้สหรัฐในยุคของทรัมป์มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ราคาที่ทรัมป์เรียกร้องนี้จะกระตุ้นให้ญี่ปุ่นคิดถึงการพึ่งตนเองมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับฝ่ายชาตินิยมที่อ่อนไหวกับประเด็นนี้เป็นพิเศษ และความคิดดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเฉพาะมาตรา 9 ที่ผูกมัดญี่ปุ่นไว้เป็นอย่างมากในด้านการบริหารจัดการความมั่นคงของตนเอง หรือแม้แต่การแก้ไขเพื่อเปลี่ยนจากรัฐธรรมนูญฉบับ “สันติภาพนิยม” ไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับ “ชาตินิยม” ก็ตาม

ในระยะยาวแล้ว นโยบาย “อเมริกัน(ต้อง)มาก่อน” ของทรัมป์อาจส่งผลให้ญี่ปุ่นลดการพึ่งพาสหรัฐฯลง และเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงแบบพหุภาคีกับประเทศอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะกับเกาหลีใต้ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่รัสเซีย ควบคู่ไปกับการสร้างแสนยานุภาพทางการทหารและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับว่าทรัมป์ได้ช่วยให้การนำญี่ปุ่นออกจาก “ยุคหลังสงคราม” อันเป็นความฝันสูงสุดทางการเมืองของอาเบะเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ไม่ว่าทรัมป์จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

/////////////

ภาคภูมิ วาณิชกะ

ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย