รัฐธรรมนูญมะกันเปิดทาง ให้ปลดทรัมป์ได้หรือไม่?

รัฐธรรมนูญมะกันเปิดทาง ให้ปลดทรัมป์ได้หรือไม่?

หลายคนถามว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐ มีอะไรระบุไว้ว่า หากประธานาธิบดี “ไม่ไหว” จริง ๆ จะเอาลงได้อย่างไร?

ทางออกที่ชัดเจนคือกระบวนการ impeachment หรือ “การสอบสวนเพื่อถอดถอน” ซึ่งเคยถูกนำมาใช้ก่อนหน้านี้

ที่ผ่านมามีประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพียงสองคนเท่านั้นที่ถูกฟ้องเข้ากระบวนการนี้ แต่ก็รอดจากการถูกถอดถอนทั้งคู่

คนแรกคือ Andrew Johnson ประธานาธิบดีคนที่ 17 ซึ่งถูกกล่าวหาว่าปลดรัฐมนตรีสงคราม โดยไม่ได้ขออนุมัติจากวุฒิสภาก่อนเมื่อปี 1868 แม้สภาล่างจะลงมติถอดถอน แต่วุฒิสภาก็โหวตให้เขารอดด้วยเพียงข้างมากเพียง 1 เสียง

คนที่สองคือบิล คลินตัน ประธานาธิบดีคนที่ 42 ที่สภาล่างฯลงมติถอดถอนเมื่อปี 1998 ในข้อหาเบิกความเท็จ และขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศอื้อฉาว กับสาวฝึกงานในทำเนียบขาวชื่อโมนิกา เลเวนสกี้

แต่วุฒิสภาก็ลงมติว่าเขาไม่ผิด คลินตันจึงรอดจากการถูกปลดจากตำแหน่ง

กรณีของริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีคนที่ 37 ก็เกือบจะเข้าข่ายถูกถอดถอนโดยรัฐสภา เพราะกรณีวอเตอร์เกตเมื่อปี 1974 แต่เขาตัดสินใจลาออกเสียก่อน

มาถึงวันนี้ เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 กำลังแสดงอาการหลายอย่าง ที่ทำให้คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยเริ่มจะถามตัวเองว่าจะ “จัดการ” กับเขาอย่างไรหากเกิดเรื่องที่เสียหายต่อประเทศชาติ

แน่นอนว่าสมาชิกคองเกรสโดยเฉพาะที่อยู่พรรคฝ่ายค้าน คือเดโมแครตหลายคนก็เริ่มจะพูดถึงความเป็นไปได้ ที่จะเดินหน้าตั้งข้อหาเพื่อนำไปสู่กระบวนการ impeachment ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ยอมให้รัสเซียเจาะล้วงความลับเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง หรือกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนของประธานาธิบดี และอื่น ๆ

แต่ก็เริ่มมีคนมองหาประเด็นกฎหมายที่อาจจะสามารถ ปลด ทรัมป์ได้ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญบางคนเริ่มพูดถึงมาตรา 4 ในบทแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญที่ 25 ที่เรียกว่า Article 4 of the 25th Amendment

บทบัญญัตินี้ไม่เคยถูกนำมาใช้ในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ แต่ภาวะการเมืองสหรัฐวันนี้ถือว่า ไม่ปกติ เอามาก ๆ จึงมีคนยกมาตรานี้ขึ้นมาตีความว่านี่อาจจะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่จะเปลี่ยนตังประธานาธิบดีหากเกิดความจำเป็นจริง ๆ ขึ้นมา

มาตรานี้เปิดทางให้คณะรัฐมนตรีเป็นคนดำเนินการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดี “ในกรณีที่ประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งได้”

หัวใจของเงื่อนไขนี้คือ “….the President is unable to discharge the powers and duties of his office…”

ตามสาระแห่งมาตรานี้ รองประธานาธิบดีและเสียงส่วนใหญ่ในคณะรัฐมนตรี สามารถมีมติถอดประธานาธิบดี หากเห็นว่าผู้นำสูงสุดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อีกต่อไป

เมื่อเสียงส่วนใหญ่ ครม. ลงมติเช่นนี้ก็มอบให้รองประธานาธิบดีขึ้นมาทำหน้าที่แทนแล้วแจ้งแก่รัฐสภา

หากประธานาธิบดีไม่ยอม เรื่องก็จะไปถึงรัฐสภา และต้องใช้เสียงสองในสามของทั้งสองสภา จึงจะมีผลให้ประธานาธิบดีตกจากตำแหน่ง

ตัวหนังสือของมาตรานี้เขียนไว้อย่างนี้

“Whenever the Vice President and a majority of either the principal officers of the executive departments or of such other body as Congress may by law provide, transmit to the President pro tempore of the Senate and the Speaker of the House of Representatives their written declaration that the President is unable to discharge the powers and duties of his office, the Vice President shall immediately assume the powers and duties of the office as Acting President.”

ถามว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดได้หรือไม่? ตอบได้ว่าโอกาสมีน้อย เพราะแม้จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่เคยนำมาใช้เลยแม้แต่ครั้งเดียว

แต่สิ่งที่กำลังเกิดในอเมริกาเป็นเรื่องประหลาดมหัศจรรย์ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเหมือนกัน

ดังนั้น อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดก็ย่อมเกิดได้

เพราะเดิมไม่มีใครคิดว่าคนชื่อทรัมป์จะเข้ายึดทำเนียบขาวได้

วันนี้ อะไรที่คนไม่คิดก็อาจจะเกิดตามมาก็ได้!