The Fourth Industrial Revolution(11): Fintech: บทเรียนจากจีน

The Fourth Industrial Revolution(11): Fintech: บทเรียนจากจีน

สำหรับผู้ติดตามข่าวสารทางการเงินในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวใดดังเกินไปกว่า

ข่าวที่กิจการ Fintech รายหนึ่งของไทยถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากหลายหน่วยงานราชการประหนึ่งว่าทำความผิดร้ายแรง

ข่าวนี้สวนทางกับพัฒนาการด้าน Fintech ของไทยที่ดูเหมือนจะลดความร้อนแรงลง โดยแม้ว่า Fintech ในรูปแบบธุรกรรมการจ่ายและโอนเงิน (Payment) จะขยายตัวได้ เช่น Promptpay ของภาครัฐที่ได้เปิดตัวไปแล้ว และ Samsung Pay ของบริษัทมือถือยักษ์ใหญ่ แต่ Fintech ในรูปแบบอื่น ๆ ในไทย เช่น การกู้ยืมเงินระหว่างบุคคล (P2P Lending), การระดมทุนจากคนหมู่มาก (Cloud funding) รวมถึง Fintech เพื่อการลงทุนในวงกว้างต่างๆ นั้น ยังไม่ได้เปิดตัวเท่าที่ควร

ดังนั้น หากจะละสายตาจากไทย หันไปมาพัฒนาการด้าน Fintech ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย

หากพิจารณาเปรียบเทียบตลาดจีนกับโลกแล้ว จะพบว่า Fintech ด้านการโอนเงิน (Payment) ของทั่วโลกนั้น เป็นธุรกิจจีนเสียครึ่งหนึ่ง ขณะที่สามในสี่ของการกู้ยืมเงิน Online ทั่วโลกก็อยู่ที่จีนเช่นกัน และเมื่อเทียบขนาด Fintech อันดับหนึ่งของจีน (อันได้แก่ Ant Financial บริษัทลูกของ Alibaba ที่ให้กู้ยืมเงิน) ก็พบว่าอยู่ในระดับเดียวกับ UBS ที่เป็นวานิชธนกิจอันดับหนึ่งของสวิสเซอร์แลนด์

และหากเมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่ม จะพบว่า Fintech กลุ่มแรกที่เป็นที่นิยมในจีนมากที่สุดคือการจ่ายและโอนเงินผ่านอินเตอร์เนตจากโทรศัพท์มือถือ อันเป็นผลจากการที่ชนชั้นกลางรุ่นใหม่ของจีนหันไปทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าและบริการผ่านมือถือ (Mobile e-commerce) มากขึ้น (50% ของ e-commerce ทั่วโลกเกิดในจีน และ 95% ของ e-commerce ในจีนทำผ่านมือถือ)

สาเหตุหลักที่การจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นที่นิยมในจีนเป็นเพราะความสะดวกสบายที่เป็นผลจากการทำ “กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์” (e-wallet) ต่อยอดจาก Application ที่ชาวจีนผู้ใช้มือถือใช้เป็นหลัก เช่น Alipay ของ Alibaba รวมไปถึง Tencent (เจ้าของ WeChat ซึ่งเป็น Application สำหรับ Chat อันดับหนึ่งในจีน มีผู้ใช้กว่า 500 ล้านคน) และ Baidu (Search Engine อันดับหนึ่งของจีน) ต่างก็พัฒนา e-wallet ของตนเองเช่นกัน

ในขณะที่วิธีการใช้ก็แสนง่าย เพียงแค่เปิด WeChat หรือ Alipay และสแกน QR Code ของร้านต่าง ๆ ก็สามารถจ่ายเงินได้ทันทีโดยไม่ต้องพกกระเป๋าสตางค์ (เพราะหักเงินในบัญชี e-wallet) และรวมถึงการโอนเงินระหว่างบุคคลด้วย ทำให้การจ่าย/โอนเงินผ่านมือถือในจีนเป็นที่นิยมมาก โดยชาวจีนกว่า 425 ล้านคน โอนเงินผ่านวิธีดังกล่าว โดยมีมูลค่ารวมกว่า 38 ล้านล้านหยวน (เปรียบได้เท่ากับ 48% ของ GDP จีน) ในปีที่ผ่านมา

กลุ่มที่สองของ Fintech ในจีนที่เป็นที่นิยมคือ ธุรกรรมที่เคยเป็นหลักของธนาคารอันได้แก่การฝากถอนและการกู้เงิน ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยอันได้แก่กับธุรกรรมที่ประชาชนทำกับบริษัทขนาดใหญ่ (โดยเฉพาะกับบริษัท e-commerce ต่าง ๆ เช่น Alibaba และ JD.com) และธุรกรรมที่ประชาชนทำกันเองระหว่างบุคคล (P2P Lending)

ในรูปแบบแรกนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นการต่อยอดจากการให้บริการเดิมที่เป็นช่องทางการโอนเงิน โดย Alibaba (ผ่าน Ant Financial) และ JD.com ต่างปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อย (ไม่เกิน 10,000 หยวนต่อราย) โดยใช้ข้อมูลจากพฤติกรรมการซื้อขายของลูกค้าเป็นตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือ (ทำให้ไม่ต้องพึ่งหน่วยงานนอก เช่น เครดิตบูโร) นอกจากนั้น ยังปล่อยให้กับผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของตน (ที่เรียกว่า Supply Chain Financing) อีกด้วย

ในรูปแบบที่สองที่เป็น P2P Lending นั้น ถือได้ว่าขยายตัวอย่างมากถึงกว่า 28 เท่าในช่วง 2 ปี (จาก 3 หมื่นล้านหยวนในปี 2557 เป็น 8.5 แสนล้านหยวนในปัจจุบัน) โดยรูปแบบของ P2P ของจีนนั้นแตกต่างจากของชาติตะวันตกที่จะระดมเงินส่วนใหญ่จากสถาบันการเงินรวมถึงประชาชนและปล่อยให้กับลูกหนี้รายย่อย แต่ธุรกิจ P2P Lending ของจีนจะระดมเงินจากรายย่อยเป็นจำนวนเงินต่อรายไม่มากนัก และไปปล่อยให้กับลูกหนี้ที่มายื่นใบขอสินเชื่อที่สาขาต่าง ๆ (รูปแบบคล้ายกับสถาบันการเงินที่ระดมเงินฝากเพื่อปล่อยสินเชื่อกับลูกค้าที่มาขอกู้)

กลุ่มสุดท้าย ได้แก่ รูปแบบธุรกิจเพื่อการลงทุน ซึ่งเป็นผลจากที่ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ได้ออกกองทุนที่อนุญาตให้ลูกค้า e-wallet ของตนสามารถโอนเงินส่วนหนึ่งเข้าสู่กองทุนนี้ และกองทุนจะนำเงินไปบริหาร (ซึ่งส่วนใหญ่คือการไปลงทุนในตลาดกู้ยืมเพื่อปรับสภาพคล่องระหว่างธนาคารหรือ interbank market) และให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินธรรมดา 1-3% โดยเฉลี่ย ขณะที่ความเสี่ยงไม่สูงมากนัก ทำให้กองทุนของ Alibaba สามารถระดมเงินได้กว่า 6 แสนล้านหยวนภายใน 18 เดือน และทำให้ Fintech ยักษ์ใหญ่อื่น ๆ เช่น Tencent และ Lufax ต่างออกกองทุนตาม

ผู้เขียนเห็นว่า สาเหตุที่ Fintech ในจีนสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและ (ยังไม่เป็นความเสี่ยงมากนักในปัจจุบันเนื่องจากเหตุผลสามประการ คือ หนึ่ง เหตุผลเฉพาะของจีน ที่เป็นประเทศที่กว้างใหญ่ การเดินทางเพื่อไปเลือกซื้อสินค้าและบริการอาจทำได้ไม่ง่ายนัก รวมถึงการที่เศรษฐกิจจีนกำลังเติบโตก้าวกระโดดในช่วงที่เทคโนโลยี Smart Phone กำลังเป็นที่นิยม จึงทำให้ e-commerce เติบโตได้ดี และก้าวข้ามผ่านการใช้บัตรเครดิตเข้าสู่การใช้มือถือเป็นช่องทางในการทำธุรกรรม

สอง เป็นผลจากการที่ระบบธนาคารจีน รวมถึงดอกเบี้ยของสถาบันการเงินถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำ (Financial Repression) ซึ่งเป็นผลจากการที่ทางการจีนต้องการให้ภาคธนาคารปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ทำให้ประชาชนไม่สามารถได้ผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม (ซึ่งนำไปสู่ปัญหา Shadow Banking หรือภาคการเงินเงา)

และสาม เป็นผลจากการที่ทางการจีนมองการไกล โดยเห็นว่า Fintech จะเข้ามาตอบโจทย์ที่สถาบันการเงินแบบปกติไม่สามารถเข้าถึงได้ (โดยเฉพาะการเงินระดับบุคคล) และนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น (เช่น การใช้ Smart Phone เป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกรรมการเงิน) แต่ทั้งนี้ ในปัจจุบันทางการจีนก็เริ่มออกกฎระเบียบกับ Fintech มากขึ้น (เช่น ห้ามปล่อยสินเชื่อเกิน 2 แสนหยวนต่อราย) โดยจุดประสงค์หลักเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคแต่จะไม่เป็นการคุมกำเนิด Fintech เหล่านี้

ผู้เขียนหวังว่า ประสบการณ์ของเพื่อนบ้าน อาจเป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจ นักลงทุน รวมถึงผู้กำหนดนโยบายไทยไม่มากก็น้อย

-----------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่