การค้าในยุคคลุมเครือ

การค้าในยุคคลุมเครือ

กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขส่งออกในเดือนม.ค. 2560 ขยายตัวมากถึง 8.8%

 โดยให้เหตุผลว่าเกิดจากการขยายตัวของตลาดหลัก เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป โดยเฉพาะจีนที่ขยายตัวค่อนข้างสูงถึง 30% ยิ่งกว่านั้นภาคส่งออกของไทยยังได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันเริ่มขยับขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันราคาเพิ่มขึ้น แม้ตัวเลขการส่งออกในเดือนแรกที่ปรับสูงขึ้นมากกว่าคาด เพราะโดยทั่วไปแล้วในช่วงต้นปีการส่งออกจะไม่หวือหวามากนัก แต่กระทรวงพาณิชย์ยังยืนเป้าเดิม โดยคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 2.5-3.5%

กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าตลาดส่งออกที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกตลาด ยกเว้นบางตลาดที่มูลค่าไม่มากนักสำหรับภาคส่งออกของไทย แสดงให้เห็นว่าการค้าโลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากเผชิญวิกฤติมานานหลายปี แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะด่วนสรุปเร็วเกินไปว่าสถานการณ์การค้าโลกกลับสู่ภาวะปกติ เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ภาคส่งออกของไทยขยายตัวได้ และหากติดตามนโยบายประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ ที่กำลังจะประกาศนโยบายการค้าใหม่ๆออกมา ก็ยิ่งทำให้การค้าโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น แม้คนยังสงสัยว่าจะทำได้หรือไม่ตามที่ประกาศไว้

อย่างกรณีสินค้านำเข้าของสหรัฐ ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศว่าจะหามาตรการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐ ด้วยการแก้ปัญหาขาดดุลการค้า โดยเฉพาะจากจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐปริมาณมหาศาล และถือว่าเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าของจีนไปแข่งขันในตลาดสหรัฐนั้นได้สร้างแรงกดดันมานาน ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐมักจะกดดันจีนในเรื่องของค่าเงินหยวนตลอดเวลา แต่สหรัฐในยุคของบนายทรัมป์จะทำได้แค่ไหนนั้น เป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์และติดตามอย่างมากว่านโยบายประชานิยมเรื่องการค้าโลกของนายทรัมป์จะไปรอดหรือไม่

หากพิจารณาการค้าการลงทุนในจีนของธุรกิจอเมริกัน จะเห็นว่าแทบทุกบริษัทเข้าไปลงทุนในจีนทั้งสิ้น เนื่องจากแรงงานและวัตถุดิบมีความพร้อมมากที่สุด อีกทั้งมีตลาดขนาดใหญ่ ดังนั้นหากสหรัฐต้องการตอบโต้ทางการค้ากับจีน ก็ยังเป็นประเด็นที่น่าสงสัยว่าจะทำได้แค่ไหน เพราะสุดท้ายอาจกระทบธุรกิจอเมริกันที่ตั้งฐานการผลิตไปทั่วโลกในจีน ดังนั้นทางออกอาจจะเป็นว่ามีระดับการตอบโต้จีนในวงที่จำกัด แต่หากไม่ทำเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางการเมืองเช่นกัน เพราะนายทรัมป์ออกตัวแรงเช่นนั้น หากไม่ทำอะไรเสียเลยก็จะเกิดปัญหาทางการเมืองได้

ยิ่งการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐอาจหยิบขึ้นมาเป็นอาวุธสำคัญ เพื่อสนับสนุนโยบายการจ้างงานหรือสร้างงานในสหรัฐเอง ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดเป็นการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เพราะอย่าลืมว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการนำเข้านั้นก็ถือว่ามีการจ้างงานจำนวนมหาศาลในสหรัฐ ตั้งแต่การขนส่งทางเรือ เครื่องบิน รวมทั้งการกระจายสินค้าและการผลิตสินค้าต่อเนื่องจากการนำเข้าอีกมาก ซึ่งหากมาตรการกีดกันประกาศใช้อย่างเต็มที่จริงๆ ผลเสียก็ย่อมเกิดขึ้นกับสหรัฐเช่นเดียวกัน

แม้มีข้อสงสัยในเรื่องการปฏิบัติของนโยบายนายทรัมป์ว่าจะทำได้จริงหรือไม่ แต่ก็ไม่ควรไม่ประมาทว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้น และสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นมาตรการที่ดีพอในการรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนั้นตัวเลขการส่งออกในเดือนมกราคมที่ปรับสูงขึ้นอย่างผิดคาดหมาย ก็ไม่ควรประมาทถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะขณะนี้มีการประเมินจากการติดตามนโยบายของนายทรัมป์ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปคล้ายๆกันว่าแม้จะไม่เชื่อว่าสหรัฐจะทำได้ แต่การเคลื่อนไหวก็ได้สร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นได้ นั่นเป็นภาวะโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นจากนี้ไปอีก 4 ปี