แด่ ... ความรู้สึกดีๆ

แด่ ... ความรู้สึกดีๆ

บ่อยครั้งที่มี 'ความสุข' ในการทำงานบางอย่าง ทั้งๆ ที่ได้ค่าตอบแทนน้อยหรือไม่ได้เลย เพราะมันสร้าง 'ความรู้สึกดีๆ'

ผมเชื่อว่าการที่คนๆ หนึ่งมี 'ความสุข' ในการทำงาน หรือมี 'ความสุข' กับงานที่ทำอยู่นั้น เป็นเพราะเขารู้สึกว่า งานของเขาเป็นงานที่มี “ความหมาย” คือ มีประโยชน์ต่อตนเอง หรือไม่ก็มีประโยชน์ต่อผู้อื่นในแง่มุมที่เขาคิด และเมื่อเป็นงานที่มี 'ความหมาย' เขาจึงเกิดมีแรงจูงใจที่จะมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับการทำงานนั้น ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด เพราะการทำงานเช่นนี้ทำให้เขาเกิด 'ความรู้สึกดีๆ' 

บ่อยครั้งที่เรามี 'ความสุข' ในการทำงานบางอย่าง ทั้งๆ ที่ได้ค่าตอบแทนน้อยหรือไม่ได้เลย เพราะมันสร้าง 'ความรู้สึกดีๆ' ให้แก่เราจากการที่เรารู้สึกว่ากำลังทำงานที่มี “ความหมาย” และในทางตรงกันข้าม คนที่ได้รับค่าตอบแทนมากมายจากการทำงาน บางคนกลับต้องการเลิกทำงานนั้น ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ใช่เพราะเขารู้สึกว่าเขามีเงินมากพอแล้ว แต่เป็นเพราะการทำงานนั้นๆ ต่อไปไม่สามารถสร้าง 'ความรู้สึกดีๆ' ให้กับเขาได้อีก เขาจึงขาดแรงจูงใจและต้องการที่จะเลิกทำงานนั้น ผมจึงไม่เคยเชื่อว่า 'เงิน' เป็นตัวสร้าง 'ความรู้สึกดีๆ' อันเป็นที่มาของ 'ความสุข' ในการทำงานด้วยตัวของมันเอง “เงิน” เป็นเพียงผลลัพธ์ที่ได้มาจากการทำงานเท่านั้น

ผมเชื่อว่าการขอเกษียณอายุตนเองก่อนกำหนด (early retirement) ของคนส่วนใหญ่ น่าจะมาจากการที่เขารู้สึกว่าการทำงานแบบเดิมๆ นั้นไม่ได้สร้าง 'ความรู้สึกดีๆ' อันเป็นแรงจูงใจในการทำงานให้แก่เขาได้อีกต่อไป แต่หากเขาเลิกทำงานแล้วไปอยู่บ้านเฉยๆ หรือเที่ยวไปเรื่อยๆ โดยไร้ “ความหมาย” คนเหล่านี้ก็จะไม่มี 'ความสุข' ในการใช้ชีวิต เมื่อเป็นเช่นนี้เขาจึงต้องแสวงหาสิ่งใหม่ๆ มาทำ ไม่ว่าจะเรียกมันว่า 'งาน' หรือไม่ก็ตาม หากสิ่งนั้นสามารถสร้าง 'ความรู้สึกดีๆ' ให้แก่เขา

คุณวิกรม กรมดิษฐ์ เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องนี้

ผมเคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ (“กลุ่มอมตะ”) และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคุณวิกรมในงานที่เกี่ยวกับสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อประมาณ 10 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน คุณวิกรมก็ได้ลดบทบาทตนเองจากการเป็นผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มอมตะลงมาเหลือเพียงการเป็นที่ปรึกษา เพื่อมาให้เวลากับการเขียนหนังสือ โดยในปี พ.ศ. 2551 คุณวิกรมก็ได้มีหนังสือ 'ผมจะเป็นคนดี' ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มแรก และหลังจากนั้นก็ได้มีหนังสือที่เขียนโดยคุณวิกรมตามออกมาอีกหลายเล่ม ซึ่งทุกเล่มล้วนเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับวิสัยทัศน์และมุมมองจากประสบการณ์ชีวิตของคุณวิกรมและได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมอย่างแพร่หลาย

คุณวิกรมได้เคยเขียนไว้ในหนังสือของตนเองว่า 'ต้องการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของตนเองให้คนอื่นๆ ได้รู้ และได้นำไปปรับใช้ในชีวิต' เพราะคุณวิกรมมีความเชื่อว่า 'พึงตอบแทนสังคมเมื่อประสบความสำเร็จ' ผมจึงเชื่อว่าหลังจากที่คุณวิกรมประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในด้านธุรกิจแล้ว การเขียนหนังสือเพื่อถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์ได้กลายมาเป็นงานที่มี 'ความหมาย' และสร้าง 'ความรู้สึกดีๆ' ให้แก่คุณวิกรมมากกว่าการบริหารธุรกิจที่เคยทำมาโดยตลอดก่อนหน้านั้น และเป็นแรงจูงใจให้คุณวิกรมมุ่งมั่นหาวัตถุดิบในแง่ของประสบการณ์แปลกใหม่ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นมาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเหนื่อยยาก หรือต้องทุ่มเทเพียงใด ดังจะเห็นได้จากการเดินทางโดยรถบัสแบบคาราวานไปจนถึงไซบีเรีย เพื่อสะสมข้อมูลและเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาถ่ายทอดให้แก่ผู้คนในสังคม (หนังสือ “ชีวิตใหม่” โดยวิกรม กรมดิษฐ์)

เคยมีคนถามนักแสดงบรอดเวย์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งว่า เขาใช้วิธีการอย่างไร จึงสามารถทำการแสดงซ้ำๆ อยู่ในบทเดิมได้ในทุกรอบการแสดง ซึ่งมีเกือบทุกคืนติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี โดยที่คุณภาพในการแสดงของเขาไม่ได้ตกลงเลยและกลับดีขึ้นด้วย (เพราะคนทั่วไปน่าจะต้องเกิดความเบื่อหน่ายจนขอเลิกไป หรือไม่ก็จะขาดแรงจูงใจที่จะทำให้สามารถแสดงได้ดีดังเดิม) ซึ่งนักแสดงตอบว่า เคล็ดลับของเขาคือการทำให้ตนเองเชื่อว่าการแสดงในทุกๆ รอบเป็นโอกาสในการพัฒนาการแสดงของเขา เขาจึงจะทำการทดลองเปลี่ยนวิธีการแสดงไปในรูปแบบที่แตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ ในการแสดงทุกรอบ เช่น การวางท่าทาง การออกเสียงในการพูด การสร้างอารมณ์ หรือแม้กระทั่งการตีความลักษณะนิสัยของตัวละคร ฯลฯ แล้วเขาก็จะประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นที่ชื่นชอบของคนดูมากขึ้นหรือไม่ (หนังสือ 'Payoff' ของ Dan Ariely ซึ่งเป็นหนังสือออกใหม่ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากของ TED Books)

คนที่ไม่มี 'ความสุข' ในการทำงาน แต่ยังคงต้องทำงานเดิมนั้นอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม จึงสมควรสร้างแรงจูงใจให้แก่ตนเองเพื่อให้เกิด “ความสุข” กับงานเดิมที่ยังคงต้องทำต่อไปนั้น ซึ่งทำได้ด้วยการเปลี่ยนมุมมองหรือวิธีคิดเกี่ยวกับงานของตน เพื่อสร้างความรู้สึกว่างานที่ทำอยู่นั้นเป็นงานที่มี 'ความหมาย' คือ มีประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่นในแง่มุมใดก็ได้ที่พอจะคิดออก จนเกิด 'ความรู้สึกดีๆ' ในการทำงานนั้น