สัญญาณแห่ง 'ความรุ่งเรือง'

สัญญาณแห่ง 'ความรุ่งเรือง'

สัญญาณแห่งความรุ่งเรือง

สองสามวันก่อน AC Nielson บริษัทสำรวจความเห็นผู้บริโภคชั้นนำได้จัดอันดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคของประเทศต่าง ๆ ในโลกจำนวน 63 ประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2016 แล้วก็พบว่าประเทศที่คนมีความเชื่อมั่นสูงสุด 5 อันดับก็คือ อินเดีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และสุดท้ายก็คือ เวียดนาม-ประเทศที่ผมได้รับข่าวสารชิ้นนี้ ซึ่งไม่ปรากฏเป็นข่าวในประเทศไทย การที่ผมติดตามข่าวจากเวียดนามนั้น เป็นเพราะผมต้องการรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของเวียดนามมากขึ้นเนื่องจากผมลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามและกำลังลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บทวิเคราะห์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเวียดนาม เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเศรษฐกิจ การเงิน และตัวหุ้นเป็นสิ่งที่ผมจะได้รับเป็นประจำทุกวันจากโบรกเกอร์ และนี่ก็เป็นข่าวอีกชิ้นหนึ่งที่เป็น “ข่าวดี” ที่ผมได้รับค่อนข้างบ่อยจากเวียดนาม เพราะมันเป็น “สัญญาณแห่งความรุ่งเรือง” ทางเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลต่อหุ้นและตลาดหุ้นโดยรวมของเวียดนาม

เหตุผลที่ผู้บริโภคเวียดนามมีดัชนีความเชื่อมั่นสูงเพิ่มขึ้น 5 จุดเป็น 112 จุดนั้นเนื่องจาก.. การขยายตัวของคนชั้นกลาง รายได้เพิ่มขึ้น ระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้นรวมถึงการมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ.. นั่นคงจะเป็นคำตอบของผู้บริโภคเวียดนามที่ตอบแบบสอบถาม แต่ลึก ๆ แล้ว ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงถึงกว่า 6% และการขยายตัวของความต้องการแรงงานและเงินเดือนหรือรายได้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจที่จะใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการสูง เหตุที่ผมเชื่ออย่างนั้นก็เป็นเพราะว่าประเทศที่ติดอันดับอีก 4 ประเทศนั้นต่างก็มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ เช่นอินเดีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐและอินโดนีเซีย ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากยิ่งกว่าเวียดนามเสียอีก ยกเว้นสหรัฐที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่สามารถจะโตเกินกว่า 3-4% ต่อปีได้ แต่ในช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่โตเร็วและแข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ

การติดตามข่าวเศรษฐกิจจากเวียดนามตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาผมพบว่าตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของเวียดนามส่วนใหญ่ต่างก็มีสัญญาณที่ดีขึ้น ตัวเลขแรกที่เห็นก็คือ การส่งออกสินค้าของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นทุกปีหรือเกือบทุกไตรมาสในระดับอย่างน้อย 7-8% ขึ้นไปแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมานั้นตัวเลขส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในโลกดูเหมือนว่าจะชะลอตัวหรือลดลง อย่างเช่นตัวเลขส่งออกของไทยเป็นต้น ว่าที่จริงตัวเลขการส่งออกของเวียดนามในขณะนี้ก็สูงมากจนใกล้เคียงกับการส่งออกของไทยแล้วทั้ง ๆ ที่ขนาดของเศรษฐกิจของเวียดนามนั้นเป็นแค่ครึ่งเดียวของไทย

นอกจากตัวเลขการส่งออกแล้ว ตัวเลขสำคัญอีกตัวหนึ่งที่จะบอกว่าการส่งออกของเวียดนามจะโตขึ้นอีกไหมก็คือตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยเฉพาะที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมจากประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นต้น นี่ก็เป็นอีกตัวเลขหนึ่งที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามในฐานะที่เป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำและมีคุณภาพในการผลิตสูงในระดับโลก ถ้าจะพูดไปก็คือผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมยุค 4.0 เช่นโทรศัพท์มือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้ายุคใหม่ และสินค้าดั้งเดิมอย่างรองเท้าและเสื้อผ้าของแบรนด์ระดับโลกต่างก็มุ่งหน้าสู่เวียดนาม ดูไปแล้วผมคิดว่าเวียดนามคงจะเติบโตอย่างรวดเร็วต่อไปอีกอย่างน้อยเป็นสิบ ๆ ปีขึ้นไปเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงคุณภาพของประชากรชาวเวียดนามที่ผมได้รับทราบมา

การทดสอบในเรื่องของการศึกษาระดับสากลที่เรียกว่า PISA Test ซึ่งทดสอบกับนักเรียนมัธยมอายุ 15 ปีในวิชาคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์นั้นพบว่าเด็กเวียดนามทำได้ดีติดอันดับสูงมากเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วโดยที่วิชาวิทยาศาสตร์นั้นทำได้ถึงอันดับที่ 8 ของโลก นอกจากนั้น การที่ประชากรส่วนใหญ่มีอายุในช่วงวัยทำงานและยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไปอีกน่าจะไม่น้อยกว่า 20 ปีก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจเวียดนามโตต่อไปเรื่อย ๆ ไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็น “ข่าวดี” สำหรับนักลงทุนระยะยาวอย่างผมที่ต้องการลงทุนในประเทศหรือสถานที่ที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในหุ้น โดยที่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าตลาดหุ้นเวียดนามต่อจากนี้น่าจะให้ผลตอบแทนระยะยาวแบบทบต้นไม่น้อยกว่า 10% ต่อปีอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยที่ความเสี่ยงที่จะมีก็คงเป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาลที่อาจจะนำประเทศ “กลับหลังหัน” สู่สังคมนิยมอย่างเช่นในอดีต อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างต่ำเนื่องจากประชาชนคงจะไม่ยอม

สัญญาณของความรุ่งเรืองของเวียดนามนั้นยังปรากฏให้เห็นได้จากการขยายตัวของการก่อสร้างอาคารใหม่ ๆ และการจับจ่ายใช้สอยของคนชั้นกลางและสูง ผมเองยังจำได้ว่าเมื่อสองปีก่อนที่ผมเดินทางไปดูงานการลงทุนที่โอจิมินห์ซิตี้และไปเดินชมห้างสรรพสินค้าชั้นนำกลางเมืองนั้นมันยัง “เหงา” แต่เพื่อนที่เพิ่งเดินทางกลับมาเมื่อเร็ว ๆ นี้บอกว่ามันเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้คนเดินกันขวักไขว่ ในขณะเดียวกัน ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ที่ผมเห็นว่ามีการเปิดหลายแห่งและคนค่อนข้างแน่นตอนนี้ก็เพิ่มขึ้นอีกมาก เช่นเดียวกับปริมาณการซื้อรถยนต์ของคนเวียดนามที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% ในช่วงปีที่ผ่านมา นี่ทำให้ผมนึกถึงประเทศไทยในช่วงปีแห่งการเติบโตที่ร้อนแรงที่ผมเห็นรถยนต์ป้ายแดงวิ่งกันเต็มถนน

ดัชนีตลาดหุ้นที่เป็นตัว “สะท้อน” ภาวะความรุ่งเรืองหรือการตกต่ำของเศรษฐกิจของประเทศก็ดูเหมือนว่าจะยืนยันความรุ่งเรืองที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ดัชนีตลาดหุ้นโอจิมินห์ได้ทะลุระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 717 จุดเมื่อวันศุกร์ที่ 24 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกไปถึงดัชนีดาวโจนส์ซึ่งทำสถิติสูงสุดที่ 20,821 จุดในวันเดียวกันซึ่งก็อาจจะเป็นตัวสะท้อนเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐในช่วงนี้ เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหุ้นอินเดียและอินโดนีเซียที่อยู่ในระดับใกล้สูงสุดในประวัติศาสตร์

ผมเองไม่ได้ศึกษาหรือลงทุนใน 4 ประเทศที่กล่าวถึงแต่ผมก็เชื่อว่ามันน่าจะมีสัญญาณแห่งความรุ่งเรืองที่น่าจะ “สัมผัสได้” ถ้าเราเราติดตาม ว่าที่จริงผมเองคิดว่ามันอาจจะเป็นตลาดหุ้นที่ดีและน่าลงทุนในระยะยาวและดีกว่าตลาดเวียดนามก็ได้เพราะตัวเลขการเติบโตของประเทศเหล่านั้นยกเว้นสหรัฐโตมากกว่าเวียดนามด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าผมไม่แน่ใจว่ามันจะโตได้ยาวหรือนานแค่ไหน อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่สนใจที่จะลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศและไม่รู้ว่าจะลงที่ไหนดีหรือต้องการลงมากกว่าหนึ่งแห่ง ตลาดหุ้นทั้ง 5 แห่งก็เป็นตัวเลือกที่น่าจะพิจารณาก่อนประเทศอื่น และถ้าไม่รู้ว่าจะลงทุนในหุ้นตัวไหนก็สามารถลงทุนในกองทุนอิงดัชนีของประเทศหรือ ETF ก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีถึง 10% ต่อปีแบบทบต้นในระยะยาวได้